วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เหตุเกิด ณ เจียนซาจุ่ย

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (3)
กรรมเก่า

หากจะนับจุดเริ่มต้นที่ฮ่องกงเป็นที่รู้จักของโลกภายนอกแล้ว โดยทั่วไปมักจะนับจากที่ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษใน ค.ศ.1842 แต่กว่าที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น ก็ยังมีเหตุการณ์อื่นที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นยาวนาน

เนื่องจากประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับอังกฤษ การบอกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวจึงควรแคบลงมาที่ความสัมพันธ์จีน-อังกฤษโดยตรง ซึ่งพบว่า อังกฤษมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แล้ว

แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวกลับดำรงอยู่ด้วยความย้อนแย้งในตัวของมันเอง กล่าวคือ ข้างฝ่ายอังกฤษที่ในเวลานั้นกำลังรุ่งเรืองจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่นั้น มีความคิดทางการค้าอิงกับหลักคิดทุนนิยมและการค้าเสรี แต่จีนกลับอิงกับหลักคิดอนุรักษนิยมและการค้าที่ไม่เสรี

หลักคิดของอังกฤษกับจีนจึงไปด้วยกันไม่ได้เลย

ยิ่งจีนในเวลานั้นยังคงเข้มแข็งเกรียงไกรด้วยแล้ว หลักคิดดังกล่าวของจีนยังฉายให้เห็นถึงทัศนะที่เย่อหยิ่งจองหอง คือมองตนเป็นอารยชนผู้สูงส่ง มองคนชาติอื่นอย่างดูถูกว่าเป็นชนป่าเถื่อน

บนทัศนะเช่นนั้นของจีน ความสัมพันธ์กับชาติอื่นจึงถูกจีนเป็นผู้ตั้งเงื่อนไขแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่น ตั้งว่าชาติที่จะสัมพันธ์กับจีนจักต้องถวายเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิจีน ตั้งว่าจักต้องจ่ายภาษีตามที่จีนเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง หรือตั้งว่าจักต้องทำการค้าได้เฉพาะเมืองกว่างโจวเท่านั้น

ชาติใดที่ถวายบรรณาการ จีนจะถือว่าชาตินั้นยอมสวามิภักดิ์และขึ้นต่อตน โดยที่ชาตินั้นไม่รู้ว่าตนตกอยู่ในสถานะเช่นนั้น เพราะที่ถวายบรรณาการไปก็เพื่อจะทำการค้ากับจีน ซึ่งชาติเหล่านั้นเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการค้านั้น

ส่วนที่ว่าชาติใดต้องจ่ายภาษีสินค้านำเข้าไปยังจีนตามที่จีนกำหนดนั้น เป็นการกำหนดแต่เพียงฝ่ายเดียวที่ทำให้จีนเปลี่ยนข้อกำหนดอยู่เสมอ ทำให้พ่อค้าต่างชาติตั้งตัวไม่ติดและเห็นว่าไม่เป็นธรรม

หรือในกรณีที่จีนเปิดเมืองกว่างโจวให้เป็นสถานีการค้าแต่เพียงแห่งเดียวนั้น ก็เพราะจีนในเวลานั้นนอกจากจะไม่ยอมสุงสิงกับคนต่างชาติแล้ว จีนยังระมัดระวังไม่ให้ตะวันตกมีอิทธิพลเหนือคนจีนอีกด้วย

ที่สำคัญ จักรพรรดิจีนในเวลานั้นไม่สนใจที่จะทำการค้ากับต่างชาติมากนัก

 

ฝ่ายอังกฤษซึ่งกำลังมีเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองพร้อมกับวิทยาการที่ก้าวหน้าย่อมเห็นว่า ลำพังการค้าเฉพาะที่เมืองกว่างโจวเริ่มไม่เพียงพอสำหรับตนแล้ว อังกฤษต้องการให้จีนขยายสถานีการค้าไปยังเมืองอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

เหตุดังนั้น ในปลายศตวรรษที่ 18 ราชสำนักอังกฤษจึงมีพระราชสาส์นไปถึงจักรพรรดิจีนเพื่อขอให้มีการขยายสถานีการค้าเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเสนอสินค้านานาชนิดที่น่าสนใจของตนที่จะขายให้แก่จีน

แต่แทนที่จักรพรรดิจีนจะตอบปฏิเสธด้วยท่าทีสุภาพก็กลับตอบด้วยถ้อยคำที่ดูแคลน

ดังความตอนหนึ่งที่ตอบว่า จีนมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความแปลกใหม่ในสิ่งที่อังกฤษเสนอ ข้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของอังกฤษนั้นเล่าก็ไร้ค่าสำหรับจีน ยิ่งงานหัตถกรรมด้วยแล้วก็ยิ่งไร้ประโยชน์เลยทีเดียว

จีนจึงมีสรรพสิ่งอย่างเหลือล้นไม่เคยขาดแคลน ทั้งไร้ความจำเป็นที่จะรับเอาผลิตผลจากฝีมือของชนป่าเถื่อน แต่ในเมื่อชา ผ้าไหม และเครื่องปั้นดินเผาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดของชนชาวยุโรปรวมทั้งอังกฤษ จีนจึงตั้งระบบการค้าขึ้นที่กว่างโจวเพื่อสนองความต้องการนั้น

 

สังเขปถ้อยคำในพระราชสาส์นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า หากเป็นของอังกฤษจีนจะดูแคลนว่าเป็นของพวกป่าเถื่อน แต่ถ้าพวกป่าเถื่อนซึ่งคืออังกฤษต้องการของของจีน จีนก็จะสนองตอบให้ในฐานะความกรุณาจากโอรสแห่งสวรรค์

คำถามพื้นๆ จึงมีว่า การที่อังกฤษประสงค์จะทำการค้าให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นซึ่งไม่ใช่เรื่องร้ายแรงแต่อย่างไรนั้น แต่พอได้รับการดูถูกดูแคลนจากจีนประหนึ่งอังกฤษกำลังทำผิดอย่างมหันต์เช่นนี้ ที่จะไม่ให้อังกฤษผูกใจเจ็บย่อมมิใช่วิสัย

อังกฤษจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของตนให้จงได้

และแล้วอังกฤษก็พบว่า สินค้าที่จะช่วยให้ดุลการค้าของตนที่มีต่อจีนดีขึ้นก็คือ ฝิ่น ซึ่งอังกฤษได้นำเข้าไปยังจีนตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ครั้นพอล่วงสู่ศตวรรษที่ 19 ฝิ่นก็เป็นที่นิยมของชาวจีนมากขึ้น เมื่อนิยมมากขึ้นก็ขายดีมากขึ้น

แต่ยิ่งขายดีมากขึ้นเท่าไร จีนก็ยิ่งเปลี้ยลง

เพราะลำพังฝิ่นเป็นที่นิยมของชาวจีนก็นับว่าแย่อยู่แล้ว แต่ที่มันเป็นที่นิยมของขุนนางนั้นย่อมแย่ยิ่งกว่าแย่ เพราะขุนนางที่มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองแต่มาติดฝิ่นเสียแล้ว บ้านเมืองก็อาจถึงกาลล่มสลายได้

จากเหตุนี้ จักรพรรดิจีนในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จึงมิอาจนิ่งดูดายได้อีกต่อไป พระองค์จึงส่งขุนนางผู้หนึ่งไปแก้ปัญหาฝิ่นโดยเฉพาะ

ขุนนางผู้นี้คือ หลินเจ๋อสีว์

 

หลินเจ๋อสีว์ (ค.ศ.1785-1850) ได้เป็นขุนนางจากการสอบผ่านดุษฎีบัณฑิต (จิ้นซื่อ) ในปี ค.ศ.1811 และเข้ารับราชการในราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) เป็นขุนนางชั้นสูง นับแต่แรกที่เป็นขุนนางจนถึงช่วงที่ถูกส่งตัวไปแก้ปัญหาฝิ่นนั้น กล่าวกันว่า หลินเจ๋อสีว์เป็นขุนนางที่มีความตั้งใจทำงานและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง

ก่อนที่จะออกเดินทางไปเมืองกว่างโจวเพื่อแก้ปัญหาฝิ่นนั้น เล่ากันว่า เพื่อนขุนนางคนหนึ่งได้กล่าวเตือนหลินเจ๋อสีว์ให้ระวังขุนนางและผู้ดีในท้องถิ่นให้ดี ด้วยคนพวกนี้มีผลประโยชน์กับอังกฤษ

ภารกิจของหลินเจ๋อสีว์ในครั้งนี้อาจไปขัดผลประโยชน์ของคนพวกนี้ และทำให้คนพวกนี้เข้าขัดขวางหลินเจ๋อสีว์ ครั้นได้ฟังดังนั้น หลินเจ๋อสีว์จึงตอบว่า

“แม้นข้าพเจ้าจักยืนอยู่บนแผ่นน้ำแข็งที่เปราะบาง แลกำลังเดินไปสู่หนทางแห่งอเวจี แต่ข้าพเจ้าก็จักปฏิบัติภารกิจให้ดีที่สุด”

 

หลินเจ๋อสีว์เดินทางมาถึงกว่างโจวในเดือนมีนาคม ค.ศ.1839 มาถึงไม่นานก็ประกาศให้พ่อค้าชาวต่างชาตินำฝิ่นมามอบให้แก่ทางการ ซึ่งได้มีพ่อค้านำมามอบให้กว่า 20,000 หีบ ฝิ่นทั้งหมดนี้ถูกนำไปเผาต่อหน้าชาวต่างชาติและชาวจีนตรงชายฝั่งประตูเสือ (หู่เหมิน) การยึดฝิ่นมาทำลายในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่สงครามฝิ่นในเวลาต่อมา

การทำลายฝิ่นของหลินเจ๋อสีว์ดังกล่าว ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ผู้แทนการค้าของอังกฤษเป็นที่ยิ่ง ผู้แทนคนนี้คือ ชาร์ลส์ เอลเลียต (Charles Elliot, ค.ศ.1801-1875) โดยเมื่อหลินเจ๋อสีว์ทำลายฝิ่นได้ไม่นาน เขาก็ขับชาร์ลส์และพวกออกจากพื้นที่มาเก๊าที่เป็นแหล่งพึ่งพิงสุดท้าย

ถึงแม้จะถูกขับออกไปแล้ว แต่ชาร์ลส์ก็ไม่ได้ไปไหนไกล เขาได้เข้าไปอาศัยหลบซ่อนอยู่ในเกาะแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณนั้น เกาะแห่งนี้มีชาวประมงมาตั้งหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ไม่กี่ครัวเรือน

การที่ชาร์ลส์เลือกปักหลักที่เกาะแห่งนี้ยากที่จะรู้ว่าเป็นด้วยวิสัยทัศน์ของเขาหรือด้วยเหตุบังเอิญ ที่เห็นว่าเกาะแห่งนี้มีชัยภูมิที่เหมาะจะเป็นหลังพิงให้กับเขาได้ต่อกรกับจีน

เพราะเกาะที่เขาเลือกไปอยู่นี้คือ ฮ่องกง

แต่เขาก็ไม่ได้มีความสงบบนเกาะแห่งนี้มากนัก เพราะความที่เป็นชาวต่างชาติทำให้เขาเป็นที่รังเกียจของชาวจีนบนเกาะนี้ ส่วนสถานการณ์ระหว่างเขากับหลินเจ๋อสีว์ก็เลวร้ายลงโดยลำดับ ความหวังที่ชาร์ลส์จะเจรจากับจีนอย่างสันติริบหรี่ลงเรื่อยๆ

จนเมื่อความหวังนั้นดับสนิทลงแล้ว ไฟสงครามก็ปะทุขึ้น

สงครามที่เกิดขึ้นนี้เป็นสงครามขนาดเล็กที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างจีนกับอังกฤษ และไร้ผู้แพ้ชนะ ทั้งยังสร้างความเสียหายให้แก่ทั้งสองฝ่ายพอๆ กัน ส่วนเหตุที่นำไปสู่สงครามใหญ่นั้นเกิดขึ้นใน ค.ศ.1840

เหตุนี้เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า เจียนซาจุ่ย