สารพัดแชร์สารพัดโกง ตั้งแต่ “หอคอยงาช้าง” ยันพริตตี้-รากหญ้า

อาชญากรรม
อาชญา ข่าวสด

สารพัดแชร์สารพัดโกง ตั้งแต่ “หอคอยงาช้าง” ยันพริตตี้-รากหญ้า

กลายเป็นคดีความยอดฮิตที่มีเหยื่อบุกแจ้งความรายวันกันทีเดียว

สำหรับกลโกงต้มตุ๋นหลอกสารพัดสารเพ ตั้งแต่เรื่องฮือฮาอย่างซินแสโชกุน ที่ลอยแพลูกทัวร์นับพันกลางสนามบินสุวรรณภูมิ ต่อด้วยหมอตุ๋นหมอ ลวงให้ลงทุนในบริษัทแฟน หรือกระทั่งรองศาสตราจารย์ชื่อดัง ที่หลอกให้ร่วมลงทุนในแชร์ลอตเตอรี่

โดยทั้ง 2 กรณีมีผู้เสียหายที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง ทั้งแพทย์ สจ๊วต แอร์โฮสเตส หรือกระทั่งอาจารย์มหาวิทยาลัย

ซึ่งไม่จบเพียงแค่นั้น ยังคงมีตุ๋นพริตตี้จ้างไปทำงานเมืองนอก แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้า สุดท้ายเมื่อถึงเวลาก็หายเข้ากลีบเมฆ

หรือกระทั่งตุ๋นขายพรีออเดอร์ขนมไมโล ช็อกโกแลตของเด็กๆ ซึ่งก็มีเหยื่อหลงเชื่อไปมากหลาย

แม้จะเป็นคนละกลุ่มกัน แต่ก็มีจุดร่วมเหมือนกันก็คือใช้ความไว้ใจ ความอยากได้อยากมีของคนมาเป็นเครื่องมือ

อีกด้านก็สะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมว่าทำมาหากินอย่างสุจริตกันลำบาก

หันไปเป็นมิจฉาชีพกันเต็มบ้านเต็มเมือง!??

คดีตุ๋นระบาด-เหยื่อหมอ-อาจารย์

เป็นเรื่องฮือฮา เมื่อ ร.ท.หญิง พญ.นิจชา รุทธพิชัยรักษ์ อายุ 30 ปี แพทย์ประจำโรงพยาบาลรัฐชื่อดัง พร้อมกลุ่มผู้เสียหายกว่า 10 ราย มีทั้งแพทย์ วิศวกร สจ๊วต อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ทหาร เข้าแจ้งความที่ บก.ป. เพื่อให้ติดตามจับกุม หมอบิว หรือ ว่าที่นาวาตรี พญ.พรรณรัตน์ จันทรมณี พร้อมแฟนหนุ่ม นายธีรยุทธ บุรัสการ หรือนายโจ้ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น นายอภิวัฒน์ อัครเดชช์

โดยระบุว่า หมอบิว ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยมชักชวนให้ร่วมลงทุนบริษัททัวร์ และจองโรงแรมของโจ้ แฟนหนุ่ม อ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูงร้อยละ 6-18 ต่อเดือน ทำให้เพื่อนๆ ต่างมาร่วมลงทุนตั้งแต่ 8 หมื่นบาท-12 ล้านบาท ล่าสุดมีผู้เสียหาย 38 ราย มูลค่ากว่า 64 ล้านบาท

ส่วนที่เชื่อถือเพราะเห็นเป็นหมอโรงพยาบาลดัง และไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ เนื่องจากไม่ต้องชักชวนสมาชิกเพิ่ม จึงตัดสินใจร่วมลงทุน

ตอนแรกร่วมลงทุนเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เป็นเงิน 5 แสนบาท เดือนต่อมาก็ได้ปันผล และเพิ่มยอดเงินลงทุนเข้าไป และได้รับปันผลทุกเดือนจนถึงกุมภาพันธ์ 2560 หลังจากนั้นก็ไม่ได้ปันผล เมื่อตรวจสอบที่บ้านก็บอกลาพักร้อน จึงเชื่อว่าถูกหลอกแล้ว

ขณะที่ตำรวจได้ขออนุมัติหมายจับทั้งสองคน ซึ่งทราบว่าหลบหนีไปต่างประเทศแล้ว นอกจากนี้ ยังขอหมายจับ นางผ่องพรรณ ศิริวัฒน์ น้าของหมอบิว โดยเจ้าตัวเข้ามอบตัวที่ บช.ก. พร้อมให้ข้อมูลในการติดตามตัวผู้ต้องหาอีก 2 คน

โดยนางผ่องพรรณเผยว่า ตนรับหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการของโรงแรม ได้เงินเดือน 3 หมื่นบาท มีหน้าที่ถ่ายรูปสถานที่ส่งให้นายโจ้ทางไลน์ และมีการขายบัตรสมนาคุณจริง

แต่ก็ถือเป็นเหยื่อด้วยเพราะร่วมลงทุนไป 1.3 ล้านบาท โดยนายโจ้ใช้ชื่อหมอบิวเป็นกรรมการบริษัท และยังหลอกญาติหมอบิวร่วมลงทุนอีกหลายคน ความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท ช่วงหลังทั้งคู่ทะเลาะกัน จนนายโจ้เคยขู่ฆ่า ทำให้หมอบิวตัดสินใจหนีไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นกับครอบครัว

หลังเกิดเหตุพยายามติดต่อให้มามอบตัว แต่ก็ติดต่อไม่ได้

อีกกรณีก็อื้อฉาวไม่แพ้กันเมื่อศาลอนุมัติหมายจับ รศ.สวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ (สอ.จฬ.) ในข้อหาหลอกลวงประชาชน

มีพฤติการณ์คือหลอกให้นำเงินออมในสหกรณ์มาลงทุนในสหกรณ์ลอตเตอรี่ มีเงินปันผลให้ร้อยละ 1 จนมีผู้หลงเชื่อกว่า 160 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1.4 พันล้านบาท

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีการยักย้ายถ่ายโอนเงินในบัญชี รศ.สวัสดิ์ออกไป จนเหลืออยู่แค่ 5 พันบาท

ขณะที่ตำรวจพบว่าเจ้าตัวยังอยู่ในประเทศไทย และเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดี

คนใหญ่คนโตถูกหลอกกันทั่วหน้า

มีสารพัด “ขายทอง-โปรโมตสินค้า”

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีขบวนการต้มตุ๋นหลอกลวงมาลงทุนแลกกับผลตอบแทนสูง จนเกินหักห้ามใจอีกหลายกรณี ไล่ตั้งแต่ตุ๋นลงทุนเหมืองทอง โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย นำผู้เสียหายกรณีแชร์เหมืองทองคำกว่า 40 คนเข้าร้องเรียนดีเอสไอ

โดยระบุว่าถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุนเหมืองทองคำโดยให้ร่วมลงทุนหุ้นละ 2,800 บาท แล้วจะได้รับผลตอบแทนสัปดาห์ละ 2-300 บาท เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 17 จะได้เงินต้นคืน แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง มีผู้เสียหายกว่า 1 พันราย มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท

โดย 1 ในเหยื่อที่ถูกหลอกเผยว่ารู้จักบริษัทดังกล่าวจากสื่อโซเชียลมีเดีย เมื่อสอบถามเพื่อนที่ร่วมลงทุนก็บอกว่าได้ค่าตอบแทนจริง จึงร่วมลงทุนไปเรื่อยๆ รวมเป็นเงิน 6 ล้านบาท ระหว่างนั้นได้รับเชิญไปดูกิจการเหมืองทองที่มาเลเซีย และยังได้ร่วมร่อนทอง

แต่ไม่ได้พบเจ้าของบริษัท จึงคิดว่าถูกต้มแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมี น.ส.สรารัตน์ ขำสุวรรณ อายุ 22 ปี พร้อมกลุ่มผู้เสียหายกว่า 22 ราย เข้าแจ้งความต่อ บก.ปอท. ว่าถูกหลอกให้เข้าร่วมกลุ่มประมูลทองคำ เสียหายกว่า 100 ล้านบาท

โดย น.ส.สรารัตน์เผยว่า เข้าร่วมกลุ่มเฟซบุ๊กประมูล เพื่อร่วมประมูลสินค้าต่างๆ จากนั้นเห็นเฟซบุ๊กคนชื่อนิด ประกาศขายทองคำทั้งแบบแท่งและรูปพรรณ ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดประมาณบาทและ 1-2 พันบาท

เมื่อติดตามดูก็พบคนมารีวิวว่าได้ทองจริง จึงติดตามเฟซบุ๊ก จนกระทั่งเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นิดชักชวนลูกค้าและผู้ติดตามไปเปิดกลุ่มปิดในเฟซบุ๊กเพื่อขายทองโดยตรง มีสมาชิกประมาณ 120 คน จึงตัดสินใจร่วมลงทุน ซื้อทองคำแท่งหนัก 200 บาท ราคาบาทละ 16,400 บาท และเดินทางไปรับทองที่ร้านใน จ.สุพรรณบุรี ก็ได้รับของจริง มีใบรับประกันสินค้า ซึ่งร้านบอกว่านิดเป็นตัวแทนของร้าน

จึงรู้สึกเชื่อใจ ตอนแรกก็ได้รับของตามกำหนด ถ้าช้าก็จะมีของแถมเป็นทอง 1 สลึง จนเมื่อปลายมีนาคม กลับไม่ได้รับทอง เพราะร้านบอกไม่ได้รับโอนเงินจากนิด แล้วก็หลบหนีไปเมื่อกลางดึกวันที่ 21 เมษายน

จึงต้องแจ้งความดำเนินคดี

อีกคดีหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 เมษายน น.ส.ธนัทธรณ์ ตะนาวสินรังสี พร้อมตัวแทนแบรนด์สินค้ากว่า 20 ชนิด เข้าแจ้งความกองปราบปราม เอาผิดบริษัททำธุรกิจรับสร้างแบรนด์และโปรโมตสินค้าแห่งหนึ่ง

แอบอ้างจัดทำโครงการ “50 ไชนิส เน็ตไอดอล อะเมซิ่ง ไลฟ์อินไทยแลนด์ 2016” ระบุว่า พร้อมจัดหาเน็ตไอดอลชื่อดังของจีน แต่ละคนมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน ให้มาช่วยโปรโมตสินค้าให้กับนักธุรกิจไทย ถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์เทาเป่า เว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมของจีน แต่ต้องจ่ายค่ายูนิตละ 75,900 บาท

แต่ในความจริงบริษัทกลับผิดสัญญา หาพรีเซ็นเตอร์ที่ไม่ได้โด่งดัง วิธีการโปรโมตสินค้าก็ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ได้ยอดขายตามที่สัญญาไว้ จนมีมูลค่าความเสียหายรวมแล้วกว่า 30 ล้านบาท

ลวง “พริตตี้” ฟันค่าหัวคิว

นอกจากขายสินค้าแล้ว ยังมีตุ๋นอีกรูปแบบคือหลอกจะพาไปทำงาน แต่ต้องจ่ายค่าหัวคิว โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน น.ส.กฤษิรา หรือกุ้ง ภูภัทระศิริ พร้อมนางแบบพริตตี้กว่า 10 คน เข้าแจ้งความ บก.ป. ให้ดำเนินคดีกับโมเดลลิ่งรายหนึ่งฐานฉ้อโกง

โดยติดต่อผู้เสียหายให้มารับงานทั้งในและต่างประเทศผ่านเฟซบุ๊ก แต่ต้องเก็บค่ามัดจำก่อน โดยติดต่อให้ไปเป็นพริตตี้ที่ประเทศสิงคโปร์ 1 วัน ค่าจ้างวันละ 1 หมื่นบาท แต่ต้องจ่ายมัดจำ 1 พันบาท

จึงตัดสินใจยอมรับงานเพราะรายได้งาม แต่ภายหลังกลับแจ้งยกเลิกงานกะทันหัน และไม่ยอมจ่ายค่ามัดจำคืน มูลค่าความเสียหายหลายหมื่นบาท

ต่อมาก็เกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นบ่อย โดยจะแจ้งให้ไปรับงาน พร้อมเก็บค่ามัดจำ แต่ก็จะยกเลิกก่อนถึงกำหนดเวลางานไม่กี่วัน ทำให้เสียโอกาสไปรับงานอื่นๆ ถึงรู้ว่าเป็นการสร้างเรื่องขึ้นเพื่อหลอกเอาเงินมัดจำ

อีกคดีที่น่าสนใจก็คือตุ๋นขายไมโลคิวบ์ เครื่องดื่มรสช็อกโกแลตในรูปแบบก้อน อาศัยกระแสความต้องการสินค้า ตั้งเฟซบุ๊กหลอกพรีออเดอร์ อ้างนำเข้าจากมาเลเซียในราคาถูกกว่าท้องตลาด มีเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินสูญร่วม 2 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนผิดได้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายน พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. แถลงจับ นายวุฒิพงษ์ เหมมาลา นางสาวนริศรา ลิ้มฉาย นายวัชรินทร์ จันทร์หอม และ นายนวพล ลิ้มฉาย ในบ้านพักไม่มีเลขที่ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี

โดยพฤติกรรมคือเปิดเฟซบุ๊กชื่อ “ความทรงจำ” ชักชวนให้ซื้อไมโลคิวบ์ ในราคา 1 ถัง มี 24 ถุงใหญ่ ราคา 6 พันกว่าบาท จากราคาปกติ 7,500-9,000 บาท จนมีลูกค้าหลงเชื่อโอนเงินเข้ามาให้ แล้วจึงไปถอนเงินออกมา

ทั้งหมดรับสารภาพว่าที่ทำไปเพราะต้องการหาเงินมาใช้หนี้เงินกู้ 6 หมื่นบาท ที่เอามาสู้คดีทำร้ายร่างกาย แต่เปิดเพียงแค่วันเดียวก็ได้เงินกว่า 2 แสนบาท จึงปิดเฟซบุ๊กหนี แต่สุดท้ายไม่รอดเงื้อมมือตำรวจ

ถือเป็นหลากหลายรูปแบบของคดีสารพัดตุ๋น ที่ประชาชนทั่วไปต้องระวังตัว