พินิจวิกฤตโควิด-19 ต่อความสัมพันธ์เชิงลึก “ป่ากับคน”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีจุดกำเนิดจากค้างคาวแล้วแพร่เชื้อไปยังสัตว์ชนิดอื่นๆ

แต่ยังมีข้อสงสัยกันว่า เชื้อที่อยู่ในสัตว์ต่างๆ เหล่านั้นกลายพันธุ์และแพร่เชื้อใส่ผู้คนได้อย่างไร

ทำไมเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน จึงกลายเป็นจุดแพร่เชื้อโควิด-19 และสัตว์ชนิดใดกันแน่ที่เป็นตัวกลางนำเชื้อมาแพร่สู่คน?

ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครเห็นคล้อยตามกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐที่กล่าวหาว่าเชื้อไวรัสมรณะหลุดออกจากห้องปฏิบัติการของสถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น

แม้นายทรัมป์อ้างว่ามีหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหานี้

จริงอยู่ที่สถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่นศึกษาไวรัสที่มาจากตัวค้างคาวมานานแล้ว ผลการศึกษาพบว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไวรัสที่อยู่ในค้างคาวมงกุฎ

แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 หลุดออกมาจากสถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น และก็ไม่พบว่าตลาดในเมืองอู่ฮั่นขายค้างคาว

ฉะนั้น ต้องมีสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็นตัวกลางหรือตัวพาหะ

 

มีการตั้งข้อสังเกตว่าตัวนิ่มน่าจะเป็นตัวพาหะนำเชื้อไวรัสโควิด-19 มาสู่คน เนื่องจากตัวนิ่มใช้ลิ้นกวาดกินแมลงตามพื้นป่า และอาจกวาดมูลค้างคาวที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนไปด้วย

คนจีนนิยมนำตัวนิ่มมาทำเป็นอาหารมื้อพิสดารเพราะเชื่อว่าเป็นยาบำรุงร่างกายและใช้เกล็ดตัวนิ่มเป็นส่วนผสมของยาตำรับแพทย์แผนโบราณ

เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด ทางการจีนหันมาตรวจสอบเรื่องราวของตัวนิ่มอย่างจริงจัง จากนั้นก็มีคำสั่งให้ตัวนิ่มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และห้ามใช้เกล็ดตัวนิ่มในตำราแพทย์แผนจีน

ก่อนหน้านี้ มีผลการศึกษาพบว่า โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส เกี่ยวพันกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบอยู่ในตัวนิ่มเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์กำลังค้นคว้าหาปมลึกลับว่าค้างคาวและตัวนิ่มมีระบบภูมิคุ้มกันพิเศษอย่างไรจึงสามารถอยู่ร่วมกับไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ได้โดยไม่เจ็บป่วยเหมือนคน

ไขปมนี้สำเร็จเมื่อไหร่ ชาวโลกอาจจะอยู่รอดปลอดจากเชื้อไวรัสก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดครอบคลุม 188 ประเทศทั่วโลก จำนวนคนป่วยด้วยเชื้อนี้มีกว่า 16 ล้านคน เสียชีวิตทะลุ 6.5 แสนคน แม้มีข่าวการคิดค้นวัคซีนได้แล้ว แต่ยังไม่มีวี่แววว่าการแพร่ระบาดจะถึงจุดสิ้นสุดเมื่อใด

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกวิกฤตหนักที่สุดในรอบ 90 ปี โรงงานเจ๊งพินาศ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวบริการทรุดฮวบ คนว่างงานล้นเมือง

“อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน” ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนป ชี้ว่าสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลง คนบุกรุกป่าทำลายธรรมชาตินำพื้นที่มาใช้เป็นแหล่งเพาะปลูก เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดโรคระบาดในสัตว์ชนิดใหม่ๆ แล้วกลายพันธุ์แพร่สู่มนุษย์

โควิด-19 เป็นกรณีตัวอย่างล่าสุดที่บ่งชี้ว่าคนทำลายธรรมชาติแล้วธรรมชาติก็ย้อนกลับมาทำลายคน

ช่วงระยะ 65 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของประชากรโลกจาก 2,773 ล้านคน เป็น 7,794 ล้านคนในปัจจุบัน เป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ทำลายความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยา

จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น คนก็ยิ่งรุกป่ามากขึ้น เพื่อยึดพื้นที่ป่ามาทำเป็นชุมชน เป็นเมือง การก่อสร้างถนนหนทาง โรงไฟฟ้า โรงงาน ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ฯลฯ ก็ตามมา

การทำลายสภาพป่า มีผลโดยตรงกับระบบนิเวศน์ ต้นไม้หาย สัตว์ป่าต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็สูญพันธุ์ คนกับสัตว์ป่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมากขึ้น

เมื่อสัตว์ติดเชื้อโรคและเชื้อกลายพันธุ์แพร่ระบาดสู่คนอย่างรวดเร็วเพราะระบบเทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่งพัฒนาก้าวหน้าไปมาก

มีผลการศึกษาพบว่า ฟาร์มขนาดใหญ่มีโอกาสทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย หากฟาร์มเหล่านั้นไม่มีระบบสุขอนามัยที่ดีพอ สัตว์เลี้ยงอยู่กันแออัด

 

ห้วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ยูเนประบุว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ขยายตัวอย่างมโหฬาร เนื่องจากผู้คนนิยมกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์สูงขึ้น การผลิตเนื้อสัตว์เติบโตราว 260 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรมไข่ไก่เติบโต 360%

กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การสร้างเขื่อน การชลประทาน และการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อกว่า 25% และโรคติดต่อจากสัตว์กว่า 50% จากบรรดาโรคทั้งหมดที่เกิดในมนุษย์

ยูเนปชี้ว่าฟาร์มปศุสัตว์เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายสิ่งแวดล้อม กว่าหนึ่งในสามของพื้นที่การเกษตรทั่วโลก นำมาปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และยังเป็นต้นเหตุให้เกิดการบุกรุกป่า

การตัดไม้ทำลายป่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแย่ลงเรื่อยๆ

สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนี่เองที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด การทำลายป่าเชื่อมโยงกับโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออกเดงกี่ ไข้มาลาเรีย

ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรงที่ประเทศอิตาลี ดร.ลีโอนาร์โด เซตติ นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโบโลญญา นำทีมศึกษาอนุภาคในมวลอากาศในเมืองเบอร์กาโมซึ่งมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิดเป็นจำนวนมาก พบว่าเชื้อโควิดปนเปื้อนกับมลพิษในอากาศด้วย

การค้นพบของทีมงาน ดร.เซตติ จึงมีความเป็นไปได้ว่า เชื้อโควิดแพร่กระจายในอากาศที่มีความเป็นพิษสูง

 

ดร.เซตตินำผลพิสูจน์ดังกล่าวเขียนลงในวารสารวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมกับแนะนำว่าจะต้องหาทางตัดความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อโควิด เชื้อซาร์สหรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงกับชั้นบรรยากาศ

นักวิทยาศาสตร์อีกคณะหนึ่งศึกษามลพิษในอากาศของเมืองมิลาน เมื่อเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมถึงจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด พบว่าเชื้อโควิดที่ผู้ป่วยไอจามกระจายในชั้นบรรยากาศที่มีระดับมลพิษสูง

ผลการศึกษาดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ยูเนปจึงริเริ่มแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวหรือ One Health ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สังคมมนุษย์ และโรคต่างๆ เชื่อมโยงระบบสาธารณสุข สัตวแพทยศาสตร์และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน

การทำความเข้าใจดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่การรับมือกับโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น แต่จะช่วยป้องกันการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต