ทราย เจริญปุระ | ตีตรา “บ้า”

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องคิดวนเวียนอยู่ซ้ำไปมา นั่นคือการที่คนคนหนึ่งถูกรวบตัวไปส่งโรงพยาบาลทางจิตเวช

เอาง่ายๆ ก็คือ โรง”บาลบ้านั่นละ

ในฐานะที่พูดมาตลอดถึงการเข้ารับการรักษาทางจิตเวช อดจะเกิดรอยร้าวลึกในใจไม่ได้

ว่าทำไม

ทำไมการเป็นบ้าถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตีตราทุกครั้ง

ไม่เถียงละ ว่าอาการใดๆ ในโลกนี้ ถ้าหนักหนาสาหัสถึงจุดหนึ่ง การนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉพาะทางโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นทางออกที่สมเหตุสมผล

แต่ทำไม

กี่ครั้งแล้วที่เราเห็นทางออกในตอนจบของละครหรือหนัง ที่นอกจากจะเสนอภาพเปี่ยมสุขของ “คนดี” อย่างพระเอกนางเอกแล้ว

เรายังจะได้เห็นว่าสุดท้ายตัวร้ายก็ต้องยืนยันความเป็นคนเลวด้วยอาการบ้า

บ้าเพราะคิดเห็นไม่ตรงกับคนอื่น

บ้าที่วางแผนเลวๆ มาแต่ไม่สำเร็จ

บ้าที่สะสมความเคียดแค้นแน่นอก

“หนูชอบคำที่พี่สัก” น้องผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรกออกปากทัก

ตอนแรกฉันนึกว่าน้องทักลายสักอันล่าสุดรูปแมวของฉัน

แต่ไม่ใช่

น้องทักถึงคำสั้นๆ ที่อยู่ข้างล่างรูปแมว

Schadenfreude

ชาเดนฟรอยด์

“น่าจะมีแต่เยอรมันมั้ยพี่ ที่คิดคำแบบนี้ออกมาบรรยายความรู้สึก มันคือ Harm Joy ใช่มั้ยคะ?”

ก็ใช่, ฉันตอบ

มันคือความยินดีที่ได้เห็นความทุกข์ของผู้อื่น

แต่ที่มากไปกว่านั้นและอยู่ระหว่างตัวอักษร

คือความยินดีที่ได้เห็นความรับรู้ของผู้คน ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์

เราค้นหาความหมายของชีวิตในแบบของตัวเอง

คำตอบบางอย่างที่จะใช้ตอบต่อคำถามของชีวิตในแต่ละวัน

วันที่หนัก วันที่เหนื่อย วันที่สะบักสะบอมตรอมตรมมาจากโลกภายนอก วันที่น้ำตาหลั่งรินอาบหน้า

คำตอบที่จะทำให้เราเช็ดน้ำตาแล้วไปต่อ ไปสู่ความยุ่งเหยิง ไปสู่ความเหลื่อยล้าซ้ำซาก

คำตอบคือความยินดีที่มีผู้ได้เห็น ได้รับรู้ และได้เป็นผู้ทุกข์ยากเช่นเราบ้าง

ความทุกข์ไม่ใช่ของแจกจ่าย มันสะสมและเติบโตขึ้นเงียบๆ ในแบบของตัวเอง ร่างกายและความเป็นเราคือผืนดินให้มันหยั่งราก กำหนดกิ่งก้าน วันแต่ละวันทำให้ผลิดอกเบ่งบาน

ดอกไม้ก็คือดอกไม้ ไม่ว่าจะถูกรดด้วยความสุขหรือความทุกข์

มันคือผลผลิตจากตัวตนของเรา

คือคำตอบของการดิ้นรนให้พ้นผ่านแต่ละวัน

มันไม่ใช่ความสุขอย่างนั้น

มันไม่ใช่ความยินดีเปล่าๆ แบนๆ ไร้มิติที่ได้เห็นคนเจ็บตัว เจ็บใจ ถูกลากลงมาเกลือกปลักตมของความทุกข์

แต่มันคือความยินดี ที่ได้เห็นว่า โลกนี้กำลังให้บทเรียน ว่าชีวิตนั้นเป็นทุกข์ได้ และไม่มีใครจะหนีพ้น

ทุกข์ที่ไม่ได้มาจากการเสียของรักส่วนตัว

แต่เป็นทุกข์ของการดิ้นรนที่จะมีชีวิตในแต่ละวัน

ทุกข์ของการก้าวต่อไปแม้ภายหน้าจะมืดมน

หลายศาสนามีการให้ถือศีลอด ให้บำเพ็ญทุกข์ ให้บริจาค เพื่อให้เราลดความเป็นเราและได้เป็นอื่น ได้เห็นผู้อื่น แม้จะไม่จีรังยั่งยืน แต่ปีละครั้งที่คุณจะได้ลงมาเสมอกันกับมนุษย์ทุกคน เผชิญความทุกข์เรียบง่าย ความหิว ความหนาว กลับสู่พื้นฐานร่างกาย กลับสู่ความกลัวดั้งเดิมจากดึกดำบรรพ์

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยความบ้า

จิตเวช จิตสำนึก จิตไร้สำนึก การกดทับของกรอบสังคมที่มีต่อปัจเจกชน ความบ้า/ความศิวิไลซ์

เพื่อการให้ได้มาซึ่งกฎระเบียบอันดีงามตามมาตรฐานของสังคมนั้น ได้กดทับแรงปรารถนาของปัจเจกบุคคล และกันพวกเขาสู่โลกของ “ความบ้า”

และนั่นได้ทำให้เราได้สูญเสียปัจเจกบุคคลไปบนหนทางของความศิวิไลซ์เหลือคณานับ

“…มันคือการกีดกันผู้มีจินตภาพว่าด้วยเสรีภาพที่แตกต่างให้กลายเป็นอื่น ลดคุณค่าเสรีภาพนั้นให้เลือนหายไปกับร่างกายเนื้อและเร่ร่อนไร้จุดหมาย…” การเห็นคนอื่นไม่เป็นคน “ดำรงอยู่และถูกผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง”*

ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าหนังสือเล่มหนึ่ง คำศัพท์คำหนึ่ง กับคนผู้หนึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแปลกประหลาด และยังคงค้างวนอยู่ในสมองของฉัน

ความเชื่อ ความจริง ความศรัทธา

และความเป็นบ้าของใครกัน

“การลงทัณฑ์ที่โหดร้ายที่สุดประเภทหนึ่งคือการกล่าวหาหรือประณามใครสักคนหนึ่งว่าเป็นบ้าและกีดกันคนนั้นออกไป แน่นอน การกระทำเช่นนั้นสะท้อนถึงความมืดบอดในแสงสว่างทางประสบการณ์ของผู้กระทำ ขณะเดียวกันมันยังสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามใช้เหตุผลที่มีอยู่อย่างจำกัด เข้ามาคุมขังความไร้เหตุผลให้อยู่ภายในความหมายดังกล่าว”*

เราสามารถเป็นบ้าทั้งที่ไม่เป็นบ้าได้ในทางการวินิจฉัยโรค

เราถูกผลิตให้เป็นบ้า

เป็นประชากรผู้ยินดีกับความทุกข์และว่ายวนอยู่ในความบ้าที่เป็นเอกฉันท์ทางสังคม

“ไซโคโพลิติกส์ คือส่วนหนึ่งของกระบวนการควบคุมจินตนาการซึ่งเชื่อมโยงตัวเรากับความเป็นอื่น ไม่ว่าความเป็นอื่นนั้นจะดำรงอยู่ในฐานะที่มีชีวิตหรือไร้ชีวิต การควบคุมจินตนาการจึงเป็นสิ่งที่อำนาจรัฐพยายามสร้างขึ้นตลอดเวลา เป็นเสมือนปฏิบัติการหยั่งรากแห่งตัวตนของรัฐลงไปในจิตไร้สำนึกของผู้คน”*

การเดินทางในระยะห่างของดวงตา” : เรื่องเล่าจากจิตใต้สำนึก สู่ภาพฝันของอิสรภาพในบริบทสมัยใหม่ เขียนโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด มิถุนายน, 2563

*ข้อความจากในหนังสือ