อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : รหัสนัย ผบ.ทบ.สหรัฐเยือนไทย

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

รายงานสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยรายงานว่า1

“…ในวันที่ 10 กรกฎาคม พล.อ.แม็กคอนวิลล์ และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้ลงนามในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ (Strategic Vision Statement) ซึ่งจะขับเคลื่อนและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างกองทัพบกสหรัฐและกองทัพบกไทย ตลอดจนแสดงถึงวิสัยทัศน์และความตั้งใจของผู้บัญชาการทหารบกทั้งสองท่านในการสานสัมพันธ์ทางการทหารที่ยาวนาน 65 ปีระหว่างสหรัฐและไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และพร้อมก้าวไปสู่อนาคต พล.อ.แม็กคอนวิลล์ และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ยังได้หารือกันถึงการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย ความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกัน การฝึกร่วม และหลักนิยมต่างๆ

พล.อ.แม็กคอนวิลล์กล่าวว่า “พันธไมตรีระหว่างเรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานและเกิดผลเป็นอย่างยิ่ง และในเวลานี้เรากำลังรับมือกับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ไปด้วยกัน ประเทศของเราทั้งสองจัดการฝึกและกิจกรรมทางการทหารร่วมกันเป็นประจำหลายร้อยครั้งในแต่ละปี

และเรากำลังดำเนินการร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อให้มั่นใจว่า ทุกการฝึกของเราจะเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้…”

 

แปลรายงานข้างต้นช่างเป็นภาษาทางการทูตเสียเหลือเกิน กล่าวคือ นายพลอเมริกันย้อนไปในช่วงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและไทย แล้วทิ้งทายว่า ศตวรรษที่ 21 จะรับมือกันอย่างไร

ครั้นมาแปลรายงานที่กล่าวถึงความร่วมมือทางทหารช่างธรรมดาเหลือเกิน นายพลทั้งอเมริกันและไทยยืนยันการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย ปฏิบัติการร่วม การฝึกร่วมและหลักนิยมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนนอก ผมไม่คิดว่าผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐอเมริกาจะเดินทางฝ่าโรคระบาดโควิด-19 แล้วมาเยือนไทยเพื่อลงนามความตกลงดังกล่าว แล้วรับเลี้ยงอันสมเกียรติทั้งอาหารและสดุดีจากกองเกียรติยศ แล้วเดินทางต่อไปยังต่างประเทศ

ผมคิดว่า การเดินทางมาลงนามความร่วมมือระหว่างกองทัพบกของทั้งสองประเทศแสดงถึงสภาวการณ์ใหม่ที่สหรัฐอเมริกามองว่าเป็นภัยคุกคามสหรัฐอเมริกาและภูมิภาค

นั่นคือ บทบาทของจีนในภูมิภาค

 

จีนในภูมิภาค

แม้ว่าจีนจะได้รับความเสียหายหลายประการจากโรคระบาดโควิด-19 ทางด้านเศรษฐกิจ ภาวการณ์ตกงานของคนจำนวนมาก

รวมทั้งสถานะของจีนในแง่ซัพพลายเชนหลักของโลกได้รับความเสียหายอย่างหนักและจำเป็นต้องใช้เวลาฟื้นฟูเป็นเวลานาน

นอกจากนั้น จีนยังถูกกล่าวหาจากหลายชาติถึงการเป็นต้นตอของโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ที่สำคัญ สหรัฐอเมริกาชี้นิ้วไปที่จีนโดยอ้างอิงทฤษฎีสมคบคิดหลายครั้งว่า จีนได้ใช้โรคระบาดทำลายโครงสร้างการผลิตของโลก รวมทั้งก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก แม้คำกล่าวดังกล่าวยังขาดหลักฐานและการพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริง อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า จีนเองได้รับความเสื่อมเสียในเวทีนานาชาติมิใช่น้อย ถึงกระนั้นก็ตาม จีนเองมิได้ลดบทบาทของตนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย

ครั้นเมื่อเรากลับมาพิจารณาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากปัญหาโรคระบาดโควิดแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดที่จะมีผลต่อภูมิภาค

เราจะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในสิงคโปร์ ในเวียดนาม ในเมียนมาในปีนี้อาจมีผลต่อการเมืองภายในเท่านั้น

ทว่าผู้นำของสามประเทศดังกล่าวไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ในภูมิภาคอันกระทบต่อบทบาทของจีนในปัจจุบัน

อันนี้รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยหากมีการปรับคณะรัฐมนตรีหรือการเลือกตั้งใหม่ ทั้งไทย สิงคโปร์ เวียดนามและเมียนมายังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีและต่อเนื่องกับจีน

ประเด็นหลักของภูมิภาคตอนนี้คือ บทบาทของจีนในทะเลจีนใต้ กล่าวคือ จีนปฏิบัติการซ้อมรบบริเวณหมู่เกาะพาราเซล ทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 1-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาต้องเคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปคุมเชิง

การซ้อมรบดังกล่าวถูกหลายชาติตำหนิ รวมไปถึงกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ออกแถลงการณ์ด่วน ประณามว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะกองทัพจีนดำเนินการซ้อมรบในพื้นที่ซึ่งเป็นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

 

จีน-สหรัฐอเมริกา
: การขับเคี่ยวค้าอาวุธในไทย

การขับเคี่ยวระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาปะทุขึ้นเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ Mark Esper มาเยือนไทยและเขาได้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาค ASEAN Defence Minister Meeting Plus แต่ทว่าทางการสหรัฐหาหนทางไม่ง่ายในการหมุนกลับอิทธิพลจีนในไทยซึ่งทางการจีนดำเนินการก้าวหน้าไปมากตั้งแต่รัฐประหาร 2014 ที่ผ่านมา

การฟื้นความสัมพันธ์ขั้นปกติของทั้งสหรัฐอเมริกาและไทยเริ่มต้นจากการเยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2017

แม้ว่าต่อมาทางการสหรัฐกล่าวหาการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อมีนาคม 2019 ว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ทางการสหรัฐเหนี่ยวรั้งและคุมความช่วยเหลือทางทหารต่อไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2014 แต่ทำเนียบขาวได้ตัดสินใจยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้โดยอนุญาตให้ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการจัดซื้อรถถัง Stryker ที่ผลิตโดยสหรัฐ รถถัง Stryker ชุดแรกมาถึงไทยกันยายน 2019

แต่บริษัทผลิตอาวุธอเมริกันคงต้องเร่งมือผลิตอาวุธเพราะปี 2019 ที่ผ่านมาทางการจีนได้ตกลงขายอาวุธจำนวนมากให้กับทางการไทยแล้ว รวมถึงเรือรบ รถถังและเรือดำน้ำ ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่าจะสั่งซื้อปี 2020 แต่ทางการไทยตัดสินเมื่อปีที่แล้ว

ที่น่าสนใจ การขับเคี่ยวในสมรภูมิค้าอาวุธระหว่างสหรัฐกับจีนในตลาดประเทศไทยเป็นที่สังเกตว่า Mark Esper รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเป็นอดีตล็อบบี้ยิสต์บริษัทผลิตอาวุธอเมริกัน Raytheon เลยเชื่อกันว่าหมวกของเขาอีกใบในอดีตอาจช่วยเรื่องนี้ได้ไม่มากก็น้อย

 

นอกจากนั้น มีข้อมูลรายงานว่า นักกฎหมายตัวแทนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นาย Michael DeSombre ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งประธานพรรครีพับลิกันสาขาในต่างประเทศมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

สิ่งนี้อาจส่งสัญญาณอันซับซ้อนด้วยว่า Michael DeSombre อาจเป็นบุคลากรการเมืองแต่งตั้งคนแรกนับตั้งแต่ปี 1975 มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ ซึ่งแต่เดิมเคยมีแต่นักการทูตอาชีพ

การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่อาจมองได้ประการสำคัญเชื่อมโยงเรื่องจีนอย่างน้อยเป็น 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 เพื่อให้ทูต Michael DeSombre เจรจาหรือต่อกรเรื่องการค้ากับจีนเพราะทูตท่านนี้มีประสบการณ์ด้านกฎหมายและการทำธุรกิจมาก่อน

ทูตท่านนี้เป็นผู้บริหารสำนักงานกฎหมาย Sullivan and Cromwell ระหว่างปี 2003-2018 ช่วงนั้นเขาดำเนินงานด้านการควบรวมและเข้าซื้อกิจการในทวีปเอเชีย

เขามีประสบการณ์ 20 ปีด้านกฎหมายและการเจรจาต่อรองให้ลูกความสหรัฐและประเทศอื่นๆ ในโครงการการลงทุนและพัฒนาทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย

ประการที่ 2 การเข้ามาของทูตท่านใหม่ยังเท่ากับชี้ถึงความสำคัญของวอชิงตันต่อไทยประเทศในเอเชียประเทศแรกที่สหรัฐมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงการที่จีนดูจะมีความมั่นคงในด้านอุปกรณ์ด้านทัพเรือและด้านทัพอากาศในประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา

ดังนั้น การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐใหม่ครั้งนี้เท่ากับเป็นการรักษาความมั่นคงของพื้นที่ยืนของสหรัฐในประเทศไทยซึ่งสำคัญมากสำหรับสหรัฐ

เห็นได้ว่า การแข่งขันค้าอาวุธของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายใต้โจทย์การทะยานขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วอชิงตันได้เปลี่ยนนักการทูตอาชีพมาเป็นนักกฎหมายและนักเจรจาการค้าผู้ช่ำชองด้านการควบรวมกิจการบริษัทเพื่อต้านจีนทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ทว่าเมื่อกองเรือจีนเคลื่อนพลในทะเลจีนใต้ ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยภายใต้การอำนวยการของกระทรวงการต่างประเทศและทูตอเมริกันคนใหม่ก็เป็นไปอย่างดี

ผมว่า เราอย่าหลงในคลื่นโรคระบาดโควิด โดยไม่สนใจการเผชิญหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ การทหารและความมั่นคงระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

เราควรติดตามการเผชิญหน้าทั้งในทะเลจีนใต้และสงครามเทคโนโลยีนั่นคือ Huawei ด้วย

การเผชิญหน้าหลังโควิด (Post COVID) น่าสนใจครับ

(1) สหรัฐอเมริกาและไทยร่วมเตรียมความพร้อมรับความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 https://th.usembassy.gov/th/historic-thai-u-s-alliance-plans-for-21st-century-challenges-th/