จับตา “3 ป.” กลางศึก “ปรับ ครม.-เปลี่ยน พปชร.” “สมรภูมิการเมือง” นอก “ตำรารบทหาร”

แม้แต่ “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” ก็ไม่พ้นข่าวโดนขย่มเก้าอี้ หลังมีข่าวลือช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาว่า บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะสลับเก้าอี้กับบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

บางสูตรก็ระบุว่า บิ๊กป้อมจะควบตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แล้วให้บิ๊กป๊อกไปเป็น รมว.กลาโหม หรืออีกสูตรก็บอกว่า พล.อ.ประวิตรจะกลับไปนั่งเก้าอี้รองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม เหมือนสมัยรัฐบาล คสช.

โดยในช่วงหลังมีการขย่มข่าวนี้อย่างหนัก จนเป็นที่พูดกันหนาหูในกระทรวงมหาดไทย ว่าจะมีการเปลี่ยนนายหรือไม่? หลังบิ๊กป๊อกนั่งตำแหน่ง มท.1 มายาวนาน 6 ปี พร้อมกับบารมีเบ่งบานมีแต่คนเกรงใจในกระทรวง

ทว่าข่าวลือเหล่านี้ถูกสยบลงทันทีหลังบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ถามสื่อมวลชนกลับว่า “ผมทำผิดพลาดอะไรในตำแหน่ง รมว.กลาโหม? ถ้าไม่ผิด แล้วจะเปลี่ยนทำไม?”

“ทำไมล่ะ? ผมมีปัญหาอะไร? ไม่มี วันนี้ผมควบม้าอยู่ วันนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ทำให้เก้าอี้ รมว.กลาโหมยังคงเป็นของบิ๊กตู่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีบิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ทำหน้าที่เป็น รมช.กลาโหม ซึ่งรับบทบาทคอยชี้แจง ส.ส.ในสภา รวมทั้งได้รับมอบหมายให้ดูแลงานภาพรวมในกระทรวง เพราะตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เข้ากระทรวงเฉลี่ยเพียงเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อนำประชุมสภากลาโหมเท่านั้น

ว่ากันว่าข่าวลือขย่มเก้าอี้ มท.1 ระลอกนี้มีต้นทางมาจาก ส.ส.พลังประชารัฐ กลุ่มที่เข้าไม่ถึง พล.อ.อนุพงษ์ เพราะที่ผ่านมา บิ๊กป๊อกไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น เก้าอี้ รมว.มหาดไทยจึงถือเป็น “โควต้ากลาง” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จัดสรรให้รุ่นพี่และอดีตผู้บังคับบัญชาคนสนิท เข้ามาดำรงตำแหน่งในฐานะ “รัฐมนตรีคนนอก”

ยิ่งกว่านั้น บิ๊กป๊อกยังมีบุคลิกนิ่งเงียบและพยายามรักษาระยะห่างกับนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ไม่เว้น ส.ส.ฟากรัฐบาล

แต่หาก พล.อ.ประวิตรมาว่าการกระทรวงมหาดไทยแทน บรรดา ส.ส.พปชร.ก็จะสามารถเข้าไปนำเสนอโครงการท้องถิ่นต่างๆ กับหัวหน้าพรรคได้ง่ายกว่า

ทว่าแรงขย่มนี้กลับถูกสยบอย่างรวดเร็ว ด้วยคำตอบสั้นๆ “ไม่ย้าย” จากปากบิ๊กป้อม

แน่นอนว่าทั้ง “2 ป. ประยุทธ์-ประวิตร” ต้องแบกรับภาระในการปรับ ครม. จนกว่าโผจะคลอดอย่างเป็นทางการ โดยแบ่งกันทำงาน 2 สาย

ในส่วนของ พล.อ.ประวิตรทำหน้าที่เคลียร์ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่ดึงคนนอกเข้ามาร่วมงาน

แต่ความขัดแย้งพลันเกิดขึ้น หลังภายในพรรคพลังประชารัฐมีความเคลื่อนไหวไม่เอา “รัฐมนตรีคนนอก”

ซึ่งเป็นการงัดข้อในการชิงเก้าอี้ รมว.พลังงาน ที่กลุ่ม “สามมิตร” แสดงความต้องการที่จะยึดเก้าอี้ตัวนี้คืนให้กับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ท่ามกลางข่าวผู้นำรัฐบาลจะทาบทามคนนอกมานั่งตำแหน่งนี้

แต่งานนี้ไม่ง่ายสำหรับก๊กสามมิตรที่ต้องงัดข้อกับบิ๊กตู่ หลังบิ๊กป้อมระบุว่าเก้าอี้ใน ครม.ของ “สี่กุมาร” ที่ลาออกไปนั้น เป็นโควต้าของ พล.อ.ประยุทธ์ในการพิจารณา

อย่างไรก็ดี การทาบทามบุคคลภายนอกให้มาร่วม ครม.นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเหล่านี้ต่างรู้ถึงปัญหาเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า ทำให้แต่ละคนต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ให้ดี ไม่เช่นนั้นจะ “เปลืองตัว”

เพราะ นายกฯ เปิดเผยเองว่า ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปฏิเสธการทาบทามเข้าร่วม ครม. ด้วยเหตุผลครอบครัวไม่อนุญาต

ต่อมา วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำลังจะหมดวาระ ก็ได้ปฏิเสธข่าวเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีเช่นกัน

จึงเหลือเพียง ปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย ที่เป็นความหวังสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตามโผนั้น คาดว่าปรีดีจะมานั่ง รมว.คลัง

แรงขย่มจากฝั่งการเมืองนั้น “รบกวนใจ” พล.อ.ประยุทธ์ไม่น้อย ซึ่งนายกฯ ยอมรับว่า “ไม่คุ้นเคย” กับสิ่งที่เกิดขึ้น นับจากการบีบ “สมคิด-สี่กุมาร” จนหลุดวงโคจรอำนาจ ถึงการต่อรองเก้าอี้ใน ครม.ที่ยังดำเนินไปไม่แล้วเสร็จ

“แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยนแปลงไป เรามองในมิติการเมือง เรื่องของการเมือง ท่านก็ออกไป จะบอกว่าก็เสียดาย แต่มันก็จำเป็น ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ผมเองก็ไม่คุ้นเคยแบบนี้ แต่จำเป็นต้องตัดสินใจ เราก็จากกันด้วยดี ไม่มีการให้ร้ายอะไรซึ่งกันและกัน ผมไม่เคยทำร้ายใคร”

“ต้องปรับ (ครม.) เพื่อไม่เกิดช่องว่างมากนัก ซึ่งต้องทำให้เร็วเท่าที่ทำได้ และไม่กดดันหรอก เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งตอนก่อนหน้านี้ก็กดดัน เพราะผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับเรื่องแบบนี้ แต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะผมเป็นนายกฯ ได้ถือว่าเป็นนักการเมืองแล้ว” นายกฯ เปิดใจ

ในส่วนของ พล.อ.ประวิตรก็รับบทเคลียร์เรื่องค้างคาใจในพลังประชารัฐ โดยย้ำว่า “ไม่มีหัวหน้าพรรค ทุกคนเท่ากันหมด พรรคก็ต้องคุยกัน” ซึ่งที่ผ่านมาบิ๊กป้อมได้ย้ำถึงภารกิจสำคัญในการเป็นหัวหน้าพรรค คือการทำให้พรรครักและสามัคคีกัน แต่ดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ เพราะ “เนื้อในพรรค” มาจากหลายก๊ก แถมยังล้วนเป็น “เสือหิวเสือโหย” อีกต่างหาก

แต่ทั้ง “2 ป. ประยุทธ์-ประวิตร” มีหรือจะไม่คุยกัน ทั้งคู่ต่อสายตรงกันอยู่ตลอด นับตั้งแต่ “ปฏิบัติการยึดพรรคคืน” ได้เริ่มขึ้นช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตามที่โหรวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เคยออกมาเตือนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ว่า “การทำงานของ 3 ป.ยังมีหน้าที่เดินไปด้วยกัน แต่ต้องมาคุยกัน จับมือกันและอย่าไปฟังใคร”

ตามมาด้วยคำเตือนจากพี่จิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ-อดีต ผบ.ทบ. ในฐานะรุ่นพี่ จปร.1 ที่ฝากถึงรุ่นน้อง จปร.17-21-23 ทั้ง พล.อ.ประวิตร-พล.อ.อนุพงษ์-พล.อ.ประยุทธ์ ว่า

“ป้อมเป็นรุ่นพี่ แล้วก็มีป๊อกและตู่ ซึ่งตู่ก็เกรงใจป้อมไม่มากก็น้อย แต่การเอาความเกรงใจมาอยู่เหนือความเจริญของประเทศชาติ ไม่ถูกต้อง”

การปรับ ครม.ครั้งนี้ สามารถลดแรงเสียดทานจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” ไปได้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ไม่ใช่ปรับใหญ่หรือเล็ก เพราะปรับไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากที่ได้พูดคุย ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ว่าจะปรับ และได้ตามเดิมที่เคยได้อยู่ ยังทำงานร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม บิ๊กตู่ทราบดีถึงปัญหาที่อดีตรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยเผชิญก่อนหน้านี้ เพราะต้องทำงานกับ “รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ” จากหลายพรรคร่วมรัฐบาล โดยแต่ละพรรคต่างเดินเครื่องดำเนินนโยบายตามที่ตนเคยหาเสียงไว้ จนการทำงานในภาพรวมของรัฐบาลดู “ไร้เอกภาพ”

ดังนั้น จึงมีการจับตาในการปรับ ครม. ว่าจะยังมีรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจอยู่หรือไม่? ถ้ามี จะให้บุคคลใดมาดำรงตำแหน่งนี้

ทั้งหมดสะท้อนภาพของ “3 ป.” กลางศึกภายในพรรคพลังประชารัฐที่ขย่มไม่หยุด ไม่นับรวมแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล

เหล่านี้คือศึกที่ไม่ปรากฏใน “ตำรารบ” ของทหาร!