คุยกับทูต ‘นายโมฮาเมด จินาห์’ มัลดีฟส์เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างไม่มีข้อจำกัด

หลังการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 มัลดีฟส์ เกาะสวรรค์ปลายทางในฝันของคนรักทะเล เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกอีกวาระหนึ่งเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเร่งฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวตามนโยบาย Safe Tourism ของมัลดีฟส์

นับเป็นข่าวดีในช่วงที่ผู้คนเหนื่อยล้ากับมาตรการล็อกดาวน์กว่า 6 เดือนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มจากประเทศจีนเมื่อปลายปี ค.ศ.2019 และกำลังมองหาสถานที่พักผ่อนที่ปลอดภัย สวยงาม และเงียบสงบ

ถึงกระนั้นก็ตาม “ยังไม่ใช่เวลาพักผ่อนสำหรับเรา” นายโมฮาเมด จินาห์ (H.E. Mr.Mohamed Jinah) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทยกล่าว

“เพราะพวกเรายังคงต้องทำงานอย่างเต็มที่ต่อไปเพื่อเอาชนะผลกระทบร้ายแรงของ COVID-19 ในประเทศ”

มัลดีฟส์เป็นประเทศหมู่เกาะปะการังเล็กๆ กว่าพันเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา มีพื้นที่ 298 ตารางกิโลเมตร มีรายได้สูงจากการท่องเที่ยว แต่กลับไม่มีการผลิตสินค้าเอง โดยทุกอย่างต้องนำเข้า

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศเกิดการหยุดชะงัก ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศมากกว่าเชื้อไวรัส

การดำเนินงานอย่างทันท่วงทีและการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาคมระหว่างประเทศช่วยมัลดีฟส์ได้มาก

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงพิเศษแบบทวิภาคีที่มัลดีฟส์ทำร่วมกับพันธมิตรที่ใกล้ชิด เช่น ประเทศไทย จึงสามารถให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าที่จำเป็นเร่งด่วนได้ แม้ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ เช่น ผัก ผลไม้ และยารักษาโรค” เอกอัครราชทูตจินาห์กล่าว

“เที่ยวบินขนส่งสินค้าดังกล่าวถือเป็นผู้ช่วยชีวิตชาวมัลดีฟส์และประเทศมัลดีฟส์ ผมจึงขอขอบคุณรัฐบาลและประชาชนแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้การสนับสนุนพวกเราอย่างมากในยามที่ยากลำบาก”

“การปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ได้พิสูจน์แล้วว่าส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อมัลดีฟส์มากกว่าไวรัส เพราะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของมัลดีฟส์คือการท่องเที่ยวและการประมง เศรษฐกิจกว่า 80% ของมัลดีฟส์เชื่อมโยงทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของสกุลเงินต่างประเทศ”

“สำหรับประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรต้องพึ่งพาการนำเข้าและขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวอย่างมัลดีฟส์ การปิดพรมแดนระหว่างประเทศทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ การประกาศพักชำระหนี้เกี่ยวกับการชำระคืนเงินกู้และแพ็กเกจทางการเงินจะต้องได้รับการแนะนำจากรัฐบาลและธนาคาร เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกงาน ช่วยแก้ไขและฟื้นฟูกิจการของลูกค้าให้กลับสู่สภาพปกติ”

“การระบาดของโควิด-19 ในมัลดีฟส์ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก การประกาศเคอร์ฟิวตลอด 24 ชั่วโมงในเมืองหลวง การทดสอบ การติดตาม และการกักกันในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัย พิจารณาจากการใช้งานสูงสุดที่เวลา 18.20 น. ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.2020 ตั้งแต่นั้นมาจำนวนได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง”

“สำหรับประเทศที่ขาดแคลนทั้งทรัพยากรและกำลังคนอย่างมัลดีฟส์ การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นงานที่ยากลำบากมาก การต้องเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับห้องผู้ป่วยหนัก มีผลทำให้บรรดาเกาะหลายแห่งใกล้เมืองหลวง รวมถึงรีสอร์ตระดับห้าดาว ต้องถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่กักกันผู้ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อไวรัส และเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ จึงต้องมีการจัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำนักศึกษาแพทย์ที่ศึกษาในต่างประเทศกลับมา เพื่อช่วยรับมือในกรณีจำเป็น”

“เหล่านักการทูตของมัลดีฟส์ยังคงทำงานล่วงเวลา เพื่อแสวงหาความช่วยเหลือด้านการเงินและความช่วยเหลืออื่นๆ ซึ่งรวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน”

สําหรับรัฐเกาะเล็กๆ อย่างมัลดีฟส์ ได้ให้ความสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประชาคมระหว่างประเทศเห็นได้ชัดเมื่อเกิดโรคระบาด

ในระหว่างปี 2012 และ 2018 นานาชาติได้กดดันมัลดีฟส์ให้ปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศ

ส่งผลให้รัฐบาลมัลดีฟส์กลายเป็นรัฐโดดเดี่ยว เนื่องจากตัดสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมิตรประเทศที่รู้จักกันมานาน และยกเลิกการเป็นสมาชิกของเครือจักรภพอังกฤษ

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี ค.ศ.2018 นำไปสู่การเปลี่ยนกลับนโยบายภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ นายอับดุลละ ชะฮีด (His Excellency Abdulla Shahid)

มัลดีฟส์เริ่มสืบสานความสัมพันธ์ขึ้นใหม่หลังจากที่ตึงเครียดมาก่อนหน้านี้ พร้อมการจัดวางตำแหน่งประเทศใหม่ในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบและสร้างความน่าเชื่อถือในประชาคมระหว่างประเทศ

นางฮูดะ อาลี ชารีฟ ( Huda Ali Shareef) อัครราชทูตสถานเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างมัลดีฟส์กับประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นางฮูดะ อาลี ชารีฟ (Huda Ali Shareef) อัครราชทูตสถานเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย เสริมว่า

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมัลดีฟส์และไทยมีความเป็นมิตรที่ดียิ่งต่อกัน และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ได้มาถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

“การเปิดสถานทูตมัลดีฟส์ในกรุงเทพฯ ปีที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกในเที่ยวบินขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการบริจาคเงินจำนวนมาก รวมทั้งเครื่องช่วยหายใจ น้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากาก และยา”

“ส่วนประชาชนชาวไทยและตัวแทนการท่องเที่ยวได้ช่วยบริจาคอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างชาวมัลดีฟส์และชาวไทย”

สําหรับนายโมฮาเมด จินาห์ (H.E. Mr. Mohamed Jinah) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.2019 เข้ามาแทนที่ Mohamed Nasheed (Colonel) อดีตนักกฎหมายมัลดีฟส์ และอดีตผู้นำพรรค Dhivehi Rayyithunge (DRP) เอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทยคนแรก

สถานเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทยเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.2019 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมัลดีฟส์ นายอับดุลละ ชะฮีด (His Excellency Abdulla Shahid) ซึ่งกล่าวยกย่องว่า เป็นบทใหม่ในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกด้านบริการที่ดีกว่า สำหรับชาวมัลดีฟส์ที่มาเยือนประเทศไทย

“เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีคนไทยเข้าไปทำงานในมัลดีฟส์จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาคเอกชนของไทยก็เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมัลดีฟส์”

“เกาะรีสอร์ตจำนวน 156 แห่งในมัลดีฟส์นั้น 13 แห่งมีเจ้าของเป็นนักลงทุนชาวไทย ได้แก่ อนันตรา, สิงห์ เอสเตท (Singha Estate), โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา, โรงแรมและรีสอร์ตในเครือดุสิต, บันยันทรี และออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป (ONYX Hospitality Group)”

“แต่ที่ไม่เหมือนกับจุดหมายปลายทางอื่นๆ เพราะรีสอร์ตแต่ละแห่งของมัลดีฟส์นั้น ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่แยกห่างจากกันด้วยหาดทรายที่ขาวสะอาด ทะเลสาบสีฟ้าที่สวยงามตั้งอยู่ใกล้กับชายหาด น้ำทะเลใสราวกับคริสตัล และโลกใต้น้ำอันน่าประทับใจ ณ แนวปะการังหลายรูปแบบ”

“การมีแนวคิด 1 รีสอร์ต 1 เกาะ (one island one resort) ที่ไม่ซ้ำใคร จึงนับเป็นโชคดีอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19”

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศสามารถเดินทางเข้ามัลดีฟส์ได้ตามปกติ โดยรับการตรวจลงตราประเภท Visa On Arrival (ระยะเวลาพํานัก 30 วัน) การเดินทางจากสนามบินไปเกาะรีสอร์ต ผู้แทนจากเกาะรีสอร์ตที่นักท่องเที่ยวได้จองที่พักไว้ล่วงหน้าจะมารอรับนักท่องเที่ยว และพาไปยังเกาะรีสอร์ตโดยตรง โดยนักท่องเที่ยวหรือเกาะรีสอร์ตจะต้องจองเรือ (Speed Boat) หรือเครื่องบิน (Seaplane) ไว้ก่อนล่วงหน้า และการเดินทางจะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

มัลดีฟส์เสนอทางเลือกและมาตรฐานการพักที่แตกต่างเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเกาะส่วนตัวระดับไฮเอนด์ เกาะรีสอร์ตหรูหรา รีสอร์ตที่เหมาะสำหรับครอบครัว โรงแรมระดับกลาง เกสต์เฮาส์ท้องถิ่นที่เรียบง่าย หรือการดำน้ำโดยกินและนอนอยู่บนเรือ Liveaboard หลากหลายซึ่งก็ต่างกันไปในแง่ของความสะดวกสบาย หรือการท่องเรือซาฟารี

“ความงามตามธรรมชาติแบบดั้งเดิมและการบริการอันไร้ที่ติที่เรามอบให้นักท่องเที่ยว ทำให้มัลดีฟส์ได้รับรางวัลการท่องเที่ยวมากมาย ได้แก่ รางวัลจุดหมายปลายทางการดำน้ำชั้นนำของมหาสมุทรอินเดีย จุดหมายปลายทางการฮันนีมูนชั้นแนวหน้าของมหาสมุทรอินเดีย รางวัลสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในมหาสมุทรอินเดีย 12 ครั้งในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา”

มัลดีฟส์มียอดตัวเลขนักท่องเที่ยวมากกว่า 1.7 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว แต่จากนี้ไปมัลดีฟส์เตรียมตัวต้อนรับผู้ไปเยือนซึ่งคาดกันว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 ล้านคน เพราะดวงตะวันยังคงสาดแสงส่องประกายบนดินแดนแห่งท้องทะเลหลากสีสันที่มัลดีฟส์ตลอดกาล