จักรกฤษณ์ สิริริน : 2564 สึนามิ “วัยทอง” จาก Anadiggy ถึง Acts Retirement ก้าวสู่ “สังคมสูงอายุ” เต็มรูปแบบ!

United Nations World Population Ageing ได้เปิดเผยรายงานวิจัยที่ระบุว่าประเทศไทยของเราจะเข้าสู่สถานะ “สังคมสูงวัย” หรือ Aging Society อย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2564 ที่จะถึงนี้ครับ!

ด้วยสัดส่วน 20% ของประชากรวัยเกษียณที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปต่อจำนวนประชากรทั้งหมด

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่เข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบมานานแล้ว และเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี เยอรมนี หรือสวีเดน ที่ก็ตามมาติดๆ เช่นกัน

ในช่วงที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับการตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ

โดยเฉพาะ New Demand กลุ่ม Aging (วัยทอง) ที่ว่ากันว่าจะมาแทนที่กลุ่ม New Middle Class (ชนชั้นกลาง) อย่างแน่นอน

เนื่องจากแต่เดิมไทยเป็นครอบครัวใหญ่มี 3 Level อยู่บ้านเดียวกัน คือ ส.ว. (สูงวัย) พ่อ-แม่ และลูก (หลาน)

การดูแลผู้สูงอายุก็จะเป็นคนในครอบครัว แต่ต่อมาขนาดครอบครัวไทยค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ บุตร-หลานไม่ได้อยู่ดูแลผู้สูงอายุเหมือนเดิม

 

New Demand ทางการตลาดจึงพุ่งเป้าเพื่อตอบสนองความต้องการ “กลุ่มผู้สูงอายุ” ซึ่งส่วนใหญ่ต้อง “ดูแลตนเอง”

ดังนั้น การผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองกลุ่ม Aging ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว นักการตลาดจึงต้องวิเคราะห์ถึงโครงสร้างประชากรใหม่กับ Lifestyle ของสังคมที่จะเปลี่ยนไปให้เร็วที่สุด

เห็นได้จากมียาสีฟันที่จำแนกหลอดตามอายุ โทรศัพท์มือถือหน้าจอบิ๊กๆ ปุ่มกดใหญ่ๆ ยาบำรุง วิตามิน อาหารเสริม และเวชสำอางต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

เพราะทุกวันนี้ร้านขายผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพได้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และมีสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

ยังไม่นับอุปกรณ์การดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุ ที่คนแก่ใช้เองง่ายๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยเดินด้วยตัวเอง เครื่องวัดความดันหรือระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมออมเงินหลังเกษียณอายุ โปรแกรมประกันชีวิตวัยทอง

 

และที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยก็คือ สถานดูแลคนชรา เช่น “สวางคนิเวศ” ของ “สภากาชาดไทย” หรือ Nursery วัยทองของเอกชน ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก

โดยธุรกิจบริการผู้สูงอายุก็กำลังได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นโดยลำดับ

และนักธุรกิจไทยที่จับตลาดกลุ่มลูกค้าสูงอายุชาวญี่ปุ่นก็ทราบความข้อนี้ดีมาหลายสิบปีแล้ว เราจึงเห็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับคนญี่ปุ่นมานับทศวรรษ

โดยเฉพาะโปรแกรมกิจกรรม งานอดิเรก ผนวกการท่องเที่ยว ตอบสนองผู้สูงอายุ เป็นต้น

เพราะ Lifestyle การใช้ชีวิตของกลุ่ม Aging ได้มาในมาดใหม่ เรียกว่า Super Middle Class (ชนชั้นกลางกำลังซื้อสูง)

ดังนั้น “ตลาดผู้สูงวัย” จึงกำลังเป็นที่จับตาของนักการตลาดทั่วโลก

 

Michael Antonov เรียก Super Middle Class หรือ New Demand กลุ่ม Aging นี้ว่า Anadiggy ครับ

Anadiggy ประกอบขึ้นจากศัพท์ 2 คำคือ Analog + Digital

Anadiggy จึงเป็นการประสมกันระหว่าง Analog กับ Digital หมายถึง Generation ที่เกิดในยุค Analog และยังมีชีวิตในยุค Digital ในปัจจุบัน

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มตลาด Anadiggy มีความชัดเจนมาหลายสิบปีแล้ว

เพื่อเข้าถึงกลุ่ม Anadiggy นักการตลาด โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี จำต้องเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อยกระดับความสะดวกสบาย

แม้โดยทั่วไป Anadiggy จะชื่นชอบความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของสังคม ไม่ว่าจะเป็นคำใหม่ๆ อย่างเช่น Big Data AI. IoT Bitcoin หรือศัพท์เทคนิคทันสมัยอื่นๆ

เห็นได้จาก ส.ว.จำนวนมากชอบเล่น Line

ข้อสำคัญที่สุดของนักการตลาด Anadiggy ก็คือ ไม่จำเป็นต้องนำเสนอวิทยาการมากมายแก่คนกลุ่มนี้

ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้กลุ่ม Anadiggy คิดว่าตัวเองโง่!

เนื่องจาก Anadiggy กลุ่มที่มีประสบการณ์ชีวิตสูง และมีเงินเก็บสะสมมาก

ดังนั้น การดึงดูด Anadiggy ด้วยการตลาดแบบย้อนระลึกเรื่องราวในอดีต คือจุดที่นักการตลาดกำลังค้นหา

 

บุริม โอทกานนท์ ได้แบ่ง Lifestyle ของ ส.ว.ออกเป็น 3 กลุ่มภายใต้รหัส 3B

Best (45-50 ปี) มีพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตเพื่อจับจ่ายใช้สอย มีบัตรเครดิตคนละ 2-3 ใบ จากวิถีชีวิตที่ยังต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จึงต้องมีภาพลักษณ์ที่ดูดีอยู่เสมอ และให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพค่อนข้างมาก

Best จึงใช้สินค้าคุณภาพดีเสริมบุคลิก กินอาหารเสริม นิยมออกกำลังกาย และท่องเที่ยวต่างประเทศ ช่องทางการตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการผ่าน Online เป็นหลัก ดังนั้น การติดต่อสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ต้องใช้สื่อสมัยใหม่ เช่น Social Media

Bright (50-60 ปี) ส่วนใหญ่ใช้บัตรเครดิตใบเดียว เน้นการดูแลสุขภาพทั้งทางกายและใจด้วยวิถีธรรมชาติ เช่น ผักปลอดสารพิษ ชีวจิต สมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริม เลือกซื้อสินค้าและบริการจะให้ความสำคัญในเรื่องของความคุ้มค่า

Bright มักจับจ่ายใช้สอยในห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและเล็กที่คนไม่พลุกพล่าน เช่น Community Mall เวลาว่างกิจกรรมหลักจะดูทีวี อ่านนิตยสาร หรือพบปะกับกลุ่มเพื่อนสนิทเป็นกลุ่มเล็กๆ การจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ควรสื่อสารผ่านหลายช่องทาง เช่น โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อ Online โดยเฉพาะการใช้ Word-of-Mouth (ปากต่อปาก) ผ่าน Line

Basic (60 ปีขึ้นไป) กิจกรรมหลักคือ ดูทีวี ฟังวิทยุ อ่านนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ เล่น Line บ้าง ให้ความสนใจกับสินค้าที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน มองเห็นง่าย สินค้าและบริการที่ถูกใจ คือสินค้าขายตรงต่างๆ ที่มี Catalog หรือพนักงานขายบริการจัดส่งถึงบ้าน

Basic ชอบซื้อสินค้าผ่านรายการโทรทัศน์ ชอบเดินเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านด้วยตนเอง โดยมองที่ราคาซึ่งต้องสมเหตุสมผล ห้างสรรพสินค้าของคนกลุ่มนี้มักจะเป็น Hypermart เช่น Big C, Tesco Lotus, Tops Supermarket

 

ทุกวันนี้นอกจาก Anadiggy ยังมีอีกศัพท์หนึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับ “สึนามิวัยทอง” ที่จะเกิดขึ้นในบ้านเราปี พ.ศ.2564 ที่จะถึงนี้

นั่นคือ Acts Retirement กับการก้าวสู่ “สังคมสูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบ!

Acts Retirement เป็นกิจกรรมภายใต้ Retirement Community หรือ “ชุมชนคนเกษียณ” ซึ่งต่างประเทศใช้กันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วในรูปแบบ Senior Living

Acts Retirement คือกิจกรรมที่มุ่งเน้น ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง Anadiggy เพื่อกระตุ้นทั้งร่างกายและสมอง

ในรูปแบบการออกกำลังกายกลางแจ้ง (แดดอ่อนๆ) และการออกกำลังกายในร่ม หรือการออกกำลังกายในน้ำ ที่ให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด

ผ่านการออกแบบตามมาตรฐานสากล หรือ Universal Design Standard ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยรายงานวิจัยที่ระบุว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งกำลังร่างแผนเพื่อการลงทุนและพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Retirement Community ขนาดใหญ่

นอกจากส่วนกลางและกรุงเทพมหานครแล้ว ทำเลชานเมืองและหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดก็มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน

เหตุผลหลักก็คือ Anadiggy “วัยทอง” คือ “กลุ่มเป้าหมายหลัก” ของธุรกิจ Retirement Community นั่นเองครับ!