เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | วัฒนะวิถี

ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้ความหมายของถ้อยคำภาษาเปลี่ยนแปลงไปด้วย

โดยเฉพาะความหมายของคำ “วัฒนธรรม”

พนจนานุกรมให้ความหมายของคำ “วัฒนธรรม” ว่า

“แบบแผนการดำเนินชีวิต และขนบประเพณีของแต่ละสังคม (ปาก) ความมีระเบียบ ความสวยงาม ความเจริญ”

(ปาก) หมายถึงความหมายที่ใช้พูดกันเป็นสำคัญ

รวมความว่า “วัฒนธรรม” มีความหมายสองนัยยะ คือ โดยความและโดยคำ และคำนี้เป็นคำนามทั้งสองนัยยะ

โดยความ คือเป็น “แบบแผนการดำเนินชีวิตและขนบประเพณีของแต่ละสังคม”

โดยคำ คือ “ความมีระเบียบ ความสวยงาม ความเจริญ”

ตัวอย่างสังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน เช่น ก่อนนี้มีวัฒนธรรม “กินหมาก” อันถือเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตและขนบประเพณี ทุกบ้านจะมี “เชี่ยนหมาก” ประกอบด้วยหมาก พลู ปูน และตะไกรคีบเม็ดหมากสง น้ำเต้าปูน เป็นต้น กระทั่งรวมอยู่ในเครื่องสูงของชนชั้นสูง ดังเรียก “พานพระศรี” คือพานหมาก นั้นเอง

มีในคำคล้องจองสะท้อนวิถีชีวิตชาวสงขลา เช่น

“ไกรหางหงส์ลงเรือเมล์ ทิ้งเลลืมพาย”

หมายถึง ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไปจากสมัยกินหมากใช้ตะไกรทองเหลืองคีบผ่าหมาก อันเป็นที่นิยมว่าเป็นสุดยอดของกรรไกรหรือตะไกร ในยุคสมัยหนึ่งนั้นเป็นรูปหงส์ทั้งหัวและหาง ผ่านยุคมีเรือเมล์ข้ามฟากเป็นยานสัญจร จนถึงตัดถนนข้ามทะเล เป็นอัน “ทิ้งทะเลลืมพาย” ไม่ใช้เรือกันแล้วกันแล้วทั้งเรือพายเรือเมล์

นี้คือวิถีวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม

คือความหมายโดยนัยยะถึงแบบแผนการดำเนินชีวิตอันเป็นความหมายโดยความ

ความหมายโดยคำ ที่หมายถึง ความมีระเบียบ ความสวยงาม ความเจริญ ตัวอย่างเรื่อง กินหมากอีกเช่นกันที่ยุคโบราณนิยม ฟันดำ ปากแดงด้วยการกินหมากทั้งชายและหญิง ดังกลอนเสภาขุนช้างขุนแผน บทขุนแผนลำเลิกความนางวันทอง ที่ว่า

เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ

เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย

พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย

แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน

ขนาด “เคี้ยวหมาก” ยังคายชานหมากป้อนปากเคี้ยวต่อ “แบ่งปัน” กันได้เลยนั่น

และนี้คือวัฒนธรรมในความหมายของถ้อยคำที่หมายถึง ความมีระเบียบ ความสวยงาม ความเจริญ

แม้ความหมายโดยความและโดยคำจะคงอยู่ก็จริง หากความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่ตลอดเวลา

ดังวัฒนธรรม “มือถือ” หรือ “จอแผ่น” กลายเป็นทั้งแบบแผนใหม่ของการดำเนินชีวิต และเป็นความเจริญของยุคสมัยใหม่ อันจะขาดมิได้ไปแล้ว

นี้คือวิถีวัฒนธรรม คือวิถีอันดำเนินไปของชีวิตและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงและเป็นไปอยู่ตลอดเวลา

ความหมายดั้งเดิมหรือความหมายโดยคำศัพท์ของคำ “วัฒนธรรม” ก็เป็นอีก “นัยยะ” หนึ่งที่พึงทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อได้ตระหนักถึงความสำคัญลึกซึ้งและครอบคลุมในทุกมิติความหมายของคำนี้

พจนานุกรมแปลคำ “วัฒนะ” ว่า “ความเจริญ” เพียงเท่านั้น โดยที่คำ “เจริญ” เองก็ให้ความหมายว่า ยิ่งขึ้น เติบโต งอกงาม

คำ “ธรรม” พจนานุกรมให้ความหมายว่าคือ คุณความดี หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา ความจริง ความถูกต้อง ความเกิด ความมีตามปรกติของโลก กฎ หรือกฎเกณฑ์

รวมแล้วคำ “วัฒนธรรม” ดูจะมีความหมายถึง ความดีงาม ความเจริญ เป็นหลักเพียงเท่านั้น

โดยแก่นความหมายแล้ว คำ “วัฒนะ” หมายถึง การงอกเงย เพียงเท่านั้น อาจอนุโลมว่าเติบโต หรือเพิ่มพูนขึ้น

ส่วนคำว่า “ธรรม” โดยแก่นความหมายแล้วหมายถึง “สิ่ง” เพียงเท่านั้น โดยอนุโลมจากรากศัพท์ของคำ คือ “ธร” แปลว่า “ทรงไว้” คือ ทรงไว้ซึ่งความเป็นเช่นนั้น อาจแปลนัยยะด้วยคำภาษาอังกฤษว่า SUCHNESS คือความเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็คือสิ่งๆ หนึ่ง หรือความเป็นสิ่งๆ หนึ่ง ก่อนจะนิยามว่ามันเป็นอะไร

ดังนั้น วัฒนธรรมจึงมีความหมายโดยศัพท์ว่า “สิ่งที่งอกเงยขึ้น” เท่านั้น โดยนัยยะจำกัดความเอาเฉพาะเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้น สร้างขึ้นเพียงเท่านั้น

สิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติ เช่น ท้องฟ้า ทะเล ภูเขา ไม่ใช่วัฒนธรรม

ฉะนั้น ความหมายโดยรวมของวัฒนธรรมจึงหมายถึง “วิถีชีวิต” เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตเป็นสำคัญนั่นเอง

วัฒนธรรมจึงเป็นคำที่มีความหมายกลางๆ ไม่ดีไม่เลว ขึ้นอยู่กับว่าจะ “วัฒนะ” ไปอย่างไร หรือไปสู่อะไร ถ้าดีก็เป็น “อารยะ” คืออารยธรรม ถ้าไม่ดีก็เป็น “หายนะ” คือหายนธรรม

โดยนัยนี้วัฒนธรรมจึงครอบคลุมทุกสิ่งบรรดามีที่มนุษย์กระทำขึ้นทั้งหมด ไม่ยกเว้นอะไรเลย กระทั่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ก็เป็นวัฒนธรรม และต้องมี

วัฒนธรรมที่ดีด้วย