ไหว้ครูมนุษย์ ธรรมเนียมเกิดใหม่ หลังยุครัชกาลที่ 5 ยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพประกอบจาก : https://twitter.com/KhaosodOnline/status/1281556797413707776/photo/1

อีกหนึ่งกระแสดราม่าในโลกออนไลน์ช่วงเปิดเทอมในยุคหลังโควิดปิดเมืองก็คือ ภาพกิจกรรมการหมอบกราบครูอาจารย์ ลากยาวไปถึงคณะผู้บริหารสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มักจะพยายามเรียกกันให้ดูเป็นเรื่องอย่างโบราณว่า “ไหว้ครู” ว่ายังเป็นสิ่งที่เหมาะสมในปัจจุบันอยู่หรือเปล่า? (ถึงแม้ว่าภาพที่เห็นๆ กันในช่วงนี้จะเป็นภาพถ่ายเก่า ไม่ใช่ภาพกิจกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นก็ตาม)

แต่เอาเข้าจริงแล้ว พิธีการไหว้ครูมนุษย์ ทั้งยังมีลมหายใจอยู่อย่างเห็นจนคุ้นชินกันทุกวันนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่สืบทอดมาแต่โบร่ำโบราณหรอกนะครับ

เพราะมีข้อมูลเก่าแก่ระบุเอาไว้ว่า การเรียนหนังสือของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 จะต้องใช้สมุดไทยดำ ลงเส้นบันทึกเนื้อหาที่จะเรียนด้วยหรดาล ใส่พานรองนำไปในวันแรกเข้าเรียน ซึ่งต้องเป็นช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (คือวันครู ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์)

นอกจากนี้ ยังต้องมีพานเครื่องบูชาที่ประกอบด้วยธูป-เทียน ดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก (เพื่อให้ปัญญาแหลมคมเหมือนดอกเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้เร็วฉับไวเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครูให้ยกพานเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูป-เทียนกราบไหว้บูชา “หนังสือ”

หนังสือที่ถูกกราบไหว้นั้นคือ สมุดไทยดำลงเส้นหรดาลนั่นเอง และขอให้สังเกตว่าที่ “ครู” คนโบราณเขาไหว้คือ “หนังสือ” ไม่ใช่ “ครูมนุษย์”

นอกจากนี้ พิธีกรรมอย่างนี้ผู้เรียนยังต้องกระทำเป็นประจำทุกวันพฤหัสฯ ไม่ใช่กระทำเป็นประจำปีละหนึ่งครั้ง แตกต่างจากพิธีไหว้ครูปัจจุบันอย่างกับคนละเรื่อง

ข้อมูลการไหว้ครูของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าเป็นการไหว้ครูผี ผ่านตัวหนังสือ ไม่ใช่ไหว้ครูมนุษย์นี้ ผมได้มาจากที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกความทรงจำของพระองค์เอง สมัยตอนเล่าเรียนชั้นปฐมศึกษาในสมัยนั้นเอาไว้ และเขียนเล่าไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “ความทรงจำ” ดังนั้น ถ้าใครไม่เชื่อผม ก็ขอให้ไปเถียงกับสมเด็จฯ ท่านเอาเองนะครับ ผมไม่เกี่ยว

 

การไหว้ครูมนุษย์นั้นจึงเป็นเรื่องประดิษฐ์ใหม่ในสมัยหลัง ไม่ใช่พิธีกรรมเฉพาะของไทยที่เก่าแก่แต่ใดมาอย่างที่มักเข้าใจผิดกันนั่นเอง โดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล เพิ่งได้เริ่มกำหนดแบบแผนของพิธีไหว้ครูให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติอย่างเดียวกัน เมื่อภาคการศึกษาต้นของปี พ.ศ.2486 และได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายนประจำทุกปีนั้นเป็นวันไหว้ครู

แต่ไม่ใช่ว่าการไหว้ครูอย่างที่เราคุ้นๆ กันในปัจจุบันนี้จะเพิ่งเริ่มกันในสมัย ม.ล.ปิ่นนะครับ เพราะหลักฐานการไหว้ครูในลักษณะใกล้เคียงปัจจุบันเก่าแก่ที่สุด เมื่อปีแรกในรัชกาลที่ 6 ที่โรงเรียนราชกุมาร เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2453 แต่จากหนังสือที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงรัชกาลที่ 6 มีข้อความระบุว่า

“ต่อไปนี้ได้ทำพิธีไหว้ครูตามธรรมเนียมของกรมศึกษาธิการ คือให้นักเรียนจุดธูปเทียนบูชาที่โต๊ะหนังสือ ซึ่งจัดตั้งไว้โดยเฉภาะ แล้วให้นักเรียนอ่านคำไหว้ครูด้วยกิริยาเคารพ ต่อนั้นไปก็ได้เริ่มการสอนเปนลำดับมา”

แปลง่ายๆ ว่า ก่อนที่ ม.ล.ปิ่นจะประดิษฐ์การไหว้ครูมนุษย์แบบปัจจุบันขึ้นมานั้น ยังไม่มีการไหว้ครูมนุษย์แบบปัจจุบัน ซึ่งก็คงเป็นเพราะถ้ายังมีชีวิตอยู่ “ครู” ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่ทำเรื่องผิดพลาด หรือไม่ดีไม่งามได้ ไม่ต่างอะไรไปจากนักเรียน คนโบราณท่านจึงไหว้หนังสือ อันเป็นตัวแทนของความรู้ และถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ดังมีความเชื่อที่ห้ามไม่ให้เดินข้ามหรือเหยียบหนังสือนั่นเอง

 

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องตลกร้ายอยู่พอดูนะครับ ที่การไหว้ครูมนุษย์นั้น เกิดขึ้นหลังสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงประกาศให้คนไทยยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ ด้วยเห็นว่าเป็นการกดขี่มนุษย์ด้วยกันเอง มันเสียอย่างนั้น

“ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ให้ผู้น้อยเลิกหมอบคลาน กราบไหว้ต่อเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์” เป็นส่วนหนึ่งของราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันจันทร เดือน 8 แรม ค่ำ 1 ปีจอฉศก 1236 แผนที่ 7 (อักขรวิธี และเว้นวรรคตามต้นฉบับ) ตรงกับปี พ.ศ.2416 มีข้อความระบุถึงพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อธรรมเนียมการหมอบคลาน กราบไหว้ เอาไว้อย่างโจ่งแจ้งที่สุดจนไม่รู้ว่าจะโจ่งแจ้งขนาดนี้ได้อย่างไรแล้วว่า

“…ตั้งแต่ได้เสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติมา ก็ตั้งพระราชหฤไทย ที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร ให้มีความศุกความเจริญแก่พระบรมวงษานุวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยทั้งสมณชีพราหมณ์ ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริห์จะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป

ด้วยได้ทรงพระราชดำริห์เหนว่า ในมหาประเทศต่างๆ ซึ่งเปนมหานครอันใหญ่ ในทิศตวันออก ตวันตก ในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตวันออก คือประเทศจีน ประเทศญวน ประเทศยี่ปุ่น แลฝ่ายตวันตก คืออินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้ประเทศเหล่านั้นก็ได้เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมนั้นหมดทุกประเทศด้วยกันแล้ว…” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

แปลความหมายง่ายๆ จากข้อความข้างต้นได้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริถึงการ “หมอบ” “คลาน” “กราบ” และ “ไหว้” ต่อเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ว่า เป็นการ “กดขี่กันให้ได้ความยากลำบาก” อย่างชัดเจน

 

แถมยังทรงระบุไว้ชัดๆ อีกด้วยว่า “ฝ่ายตวันตก คืออินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยาม” ดังนั้น การหมอบคลานกราบไหว้ในที่นี้ พระองค์จึงหมายถึงธรรมเนียมเดิมๆ ที่เคยมีมาก่อนในราชสำนักสยามนั่นแหละนะครับ

พระปิยมหาราชทรงบอกต่อไปในประกาศฉบับนี้อีกด้วยว่า

“…การที่เขาได้พร้อมกัน เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้นก็เพราะเพื่อจะได้เหนความดีที่จะไม่มีการกดขี่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป ประเทศใด เมืองใด ที่ได้ยกธรรมเนียม ที่เปนการกดขี่ซึ่งกันและกัน ประเทศนั้นเมืองนั้น ก็เหนว่ามีแต่ความเจริญมาทุกๆ เมืองโดยมาก…”

ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริไปในทิศทางที่ว่า หากสยามยกเลิกธรรมเนียมการ “หมอบคลานกราบไหว้” ที่มาแต่เดิมแล้ว ประเทศก็จะเจริญขึ้น เพราะได้ยกเลิกเอา “การกดขี่ซึ่งกันและกัน” ออกไปจากสังคม

 

พระองค์ยังทรงย้ำอีกด้วยว่า “การกดขี่ซึ่งกันและกัน” ดังกล่าวนั้นก็มีในประเทศสยาม และทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม แถมสำหรับพระองค์แล้ว การหมอบคลานกราบไหว้ ยังไม่ใช่ธรรมเนียมเดียวที่ไม่ยุติธรรมนะครับ ยังมีธรรมเนียมอื่นๆ อีกด้วย ดังข้อความในประกาศฉบับเดียวกันนี้ที่ว่า

“…ก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมือง ที่เปนการกดขี่แก่กัน อันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้น ก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่าง…”

ทั้งหมดนี้ รัชกาลที่ 5 ก็ทรงใช้พระองค์เองเป็นตัวอย่างให้ประชาชน หรือใครต่อใครอีกบานตะเกียงได้เห็นถึงพระทัยอันแน่วแน่ ด้วยการออกพระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาฉบับเดียวกันโดยมีหลักใหญ่ใจความด้วยการระบุให้ “ไม่ต้องหมอบกราบพระองค์”

และเราก็อาจจะสรุปแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 จากข้อความตอนท้ายในประกาศฉบับเดียวกันนี้เอง ซึ่งมีใจความระบุว่า

“แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้น ได้ความเหน็ดเหนื่อยลำบาก เพราะจะให้ยศผู้ใหญ่ก็การทำยศ ที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ผู้น้อยที่ต้องมากราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้เปนใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่ จนสิ้นวาระของตนแล้วจึ่งจะได้ออกมา พ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่ ธรรมเนียมอันนี้แลเหนว่าเปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉนั้นจึ่งต้องละพระราชประเพณีเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย”

ดังนั้น จะไม่ให้การ “ไหว้ครูมนุษย์” เป็นเรื่องที่ตลกร้ายได้อย่างไรกันเล่าครับ ในเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกการ “หมอบคลานกราบไหว้” ด้วย “ไม่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย” และยังทรงเชื่อจะทำให้ประเทศเจริญขึ้น

แต่คนในยุคหลังจากพระองค์ (และเลยมาจนถึงยุคปัจจุบัน) กลับเอาสิ่งที่พระองค์เห็นว่าไม่มีประโยชน์มาใช้กับ “ครูมนุษย์” ราวกับว่าครูที่ยังมีลมหายใจเหล่านี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆ ที่ในธรรมเนียมโบราณนั้น เขาก็ไม่เคยไหว้ “ครู” ที่เป็นมนุษย์กันเสียหน่อย