หนุ่มเมืองจันท์ | “เรดาร์” นักเขียน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ขอเขียนเรื่อง “นิ้วกลมสนทนา” อีกครั้ง

เพราะมีหลายคำถามที่ค้างคาใจ

ผมมักจะบอกผู้ดำเนินรายการทุกคนว่าผมเป็นคนที่ตอบคำถามแบบ “ดีเลย์” มาก

คือ ถ้าคำถามไหนที่ไม่เคยครุ่นคิดมาก่อน

เจอถามสดแบบยิงหมัดตรง มักจะงงๆ หรือตอบไม่ค่อยรู้เรื่อง

อ้างเหตุผลที่ดูดีว่าเป็น “นักเขียน” จนชิน

“นักเขียน” ต้องคิดนานๆ ค่อยๆ เรียบเรียง

และถ้าเขียนไม่ดีก็รีไรต์ใหม่ได้

แต่เวลาคุยกันมันจะต้องตอบสดๆ จะคิดนานๆ ไม่ได้

ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการ “เดดแอร์”

…เสียงแอร์ดัง

ทุกครั้งที่คุยจบ ผมจะรู้สึกค้างคาใจ

รู้สึกว่าตอบไม่ดี

หรือมีบางเรื่องยังไม่ได้ตอบ

อย่างตอนที่คุยกับ “เอ๋” นิ้วกลม เขาถามว่า ทำไมผมถึงสามารถหาเรื่องเขียนได้ตลอดเวลา

เพราะเวลานั่งกินข้าวกัน ทุกคนก็หัวเราะเฮฮากัน

แต่พอคุยจบแล้วผมสามารถเอาเรื่องในวงสนทนามาเขียน

เหมือนกับว่าอยู่ตรงไหนก็หาเรื่องเขียนได้

คำถามแบบนี้ทำให้คิดไม่ทัน

เพราะไม่เคยสงสัยตัวเองมาก่อน

วันนั้น ผมตอบว่าน่าจะมาจาก 3 เรื่อง

เรื่องแรก เป็น “นักข่าว” มาก่อน ติดนิสัยการตั้งคำถามและการจับประเด็น

สมัยก่อน เวลาผมไปกินข้าวกับเพื่อน ทุกคนจะคุยกันอย่างสนุกสนาน

บางเรื่องสนุกมาก แต่เล่าไม่เคลียร์

ผมจะอดไม่ได้ที่จะถามรายละเอียด

เหมือนจะเอามาเขียนสกู๊ป

เพื่อนๆ จะตบไหล่แล้วบอกว่า “มึงเลิกถามแบบนักข่าวได้แล้ว”

เรื่องที่สอง พอเราสั่งสมข้อมูลเก่าๆ หรือได้สัมภาษณ์คนมาเยอะ

ได้ฟังใครพูดนิดเดียว

เราก็สามารถนำมาต่อยอดได้เป็นเรื่อง

เรื่องที่สาม เป็นเรื่อง “งาน”

ผมเขียนคอลัมน์ประจำทุกสัปดาห์ ต้องหาวัตถุดิบมาตุนไว้

ไม่เช่นนั้นจะไม่มีประเด็นเขียน

คงเหมือนทุกคนตอน “โควิด-19”

หาของตุนใส่ตู้เย็นไว้เยอะๆ

ความหิวกระหายวัตถุดิบ ทำให้เรดาร์นักเขียนทำงานได้ดี

ตอบไป 3 เหตุผล

ก็พอใช้ได้

แต่กลับมาแล้วนั่งคิดอีกที

มันน่าจะมีเหตุผลอื่นอีก

ผมนึกถึงจุดเริ่มต้นตอนเป็นนักข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”

“ประชาชาติธุรกิจ” เป็นหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจราย 3 วัน

แปลกกว่าใคร

เพราะส่วนใหญ่มีแต่รายวันหรือรายสัปดาห์

การเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีวาระการวางจำหน่ายแปลกๆ ทำให้วิธีคิดเรื่องข่าวก็ต้องแหวกแนวตามไปด้วย

นักข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ถูกฝึกให้ต้องคิด “ข่าวฉีก” ตลอด

ถ้าไม่ใช่ “ข่าวเดี่ยว” แบบเอ็กซ์คลูซีฟที่ได้แค่ฉบับเดียว

ก็ต้องหาประเด็นที่ “ฉีก” ไปจากรายวัน

สมมุติว่ามีข่าวเรื่อง “การ์ดตก” กรณีของนักบินอียิปต์ที่ระยอง

ในประเด็นข่าวธุรกิจ หนังสือพิมพ์รายวันคงเล่นเรื่องความเสียหายของธุรกิจท่องเที่ยวในระยอง

ถ้าเราจะฉีกประเด็น ก็อาจต้องรวบรวมตัวเลขความเสียหายของโรงแรมที่ถูกยกเลิกการจอง ร้านค้าในห้างที่ต้องปิดตัว ฯลฯ

ทำเป็นตัวเลขรวม แล้วพาดหัวได้ว่าเสียหายเท่าไร

เพราะช่วงปลายเดือนจะมีวันหยุดยาวอีก

หรือถ้าคิดฉีกไปอีกมุมก็อาจตั้งประเด็นว่านักท่องเที่ยวหนีจากระยองไปที่ไหน

ไปพัทยา หัวหิน สมุย หรือภูเก็ต

ถ้าตัวเลขยอดจองของที่ไหนเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เราก็หยิบประเด็นนี้มาเล่นได้

…ประมาณนี้

เช่นเดียวกับตอนที่ทำสกู๊ปสัมภาษณ์ “ผู้ใหญ่” ที่มา “มติชน”

ตามปกติที่ “มติชน” จะมี “ผู้ใหญ่” แวดวงการเมืองหรือธุรกิจมากินข้าวเป็นประจำ

นักข่าว “มติชน-ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ” จะได้ร่วมโต๊ะด้วย

เพราะบทสนทนาบนโต๊ะอาหารจะมีเรื่อง “ข่าว” อยู่ด้วย

และบางเรื่องที่ “ไม่เป็นข่าว” แต่มีสีสันหรือน่าสนใจ

“ข่าวสด-มติชน” เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน

เขาได้ลงก่อน

“ประชาชาติธุรกิจ” ราย 3 วัน ลงทีหลัง

ถ้าจะฉีกก็ต้องเลือกประเด็นสีสันมาลง

การเขียนสกู๊ปจะมี 2 แบบ

แบบหนึ่ง คือ การถอดเทปสัมภาษณ์ตามปกติ

แบบถาม-ตอบ

ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาสาระเรื่องข่าวเป็นหลัก

อะไรนอกเรื่อง นักข่าวมักจะตัดทิ้ง

แบบที่สอง เขียนแบบร้อยเรื่อง บรรยายสีหน้าท่าทางของคนพูดด้วย

เขียนแบบนี้เราจะสามารถหยิบประเด็นที่คุยสนุกๆ มาใส่ในเรื่องได้

ผมชอบแบบที่สอง

เพราะรู้ว่าคนชอบอ่าน “เรื่องเล่า”

มากกว่าบทสัมภาษณ์จริงจัง

มีอยู่ช่วงหนึ่ง “พี่เถียร” เปิดคอลัมน์ “X คลูซีฟ” ใน “มติชนสุดสัปดาห์”

ผมใช้ชื่อจริงในการเขียน

เรื่องหลัก คือ การคุยกับคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง

พอมีคอลัมน์ประจำแบบนี้ยิ่งฝึกให้เราต้องสังเกตอย่างละเอียด

ทั้งวิธีการพูด การยิ้ม การกิน การฟัง ฯลฯ

เก็บเล็กผสมน้อย

คุยล้อเล่น หรือมุขขำๆ ก็เก็บ

เรื่องแบบนี้คนอ่านชอบ

ต้องฝึกเป็นคน “หาเรื่อง”

…หาเรื่องมาเขียน

ผมจึงมีเรื่องคุณอานันท์ ปันยารชุน ไปเที่ยวถนนข้าวสารตอนที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

มีเรื่อง “ทักษิณ ชินวัตร” เขียนทฤษฎีการเมืองของเขาบนกระดาษรองจานบนโต๊ะอาหาร

ตอนที่ “ทักษิณ” เขียน จำได้ว่าตาลุกวาวเลย

เพราะรู้ว่าเอามาทำมาหากินได้

ผมขอกระดาษแผ่นนั้นกลับมา เอาลายมือ “ทักษิณ” ขึ้นหน้าปก “มติชนสุดสัปดาห์” เลย

ตอนที่เขียนคอลัมน์ “X คลูซีฟ” ประจำ เป็นช่วงที่กินอาหารไม่อร่อยเลย

เพราะระหว่างกิน ต้องคิดตลอดว่ามีประเด็นไหนเอามาเขียนได้บ้าง

เรื่องเล็กๆ อย่างการนำสนทนาบนโต๊ะอาหารก็น่าสนใจ

คนบางคนเก่งด้านบริหาร แต่เข้าสังคมไม่เก่ง

นั่งหัวโต๊ะแต่นำคุยไม่ได้

แต่บางคนเก่งมาก สามารถทำให้บทสนทนาบนโต๊ะอาหารลื่นไหล

อย่างเช่น คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ

หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็สนุก

หรืออดีตนักการเมืองใหญ่บางคน เอาไวน์มากินส่วนตัว

กินเสร็จ ปิดจุกกลับบ้าน

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแบบนี้ เอามาเล่าแล้วสนุก

ผมเขียนคอลัมน์ “X คลูซีฟ” อยู่หลายปี ทำให้ได้ฝึกปรือเรื่องการสังเกต

กลายเป็นคนหาเรื่องเก่ง

ยิ่งเขียนประจำทุกสัปดาห์

มันก็กลายเป็น “สัญชาตญาณ” โดยไม่รู้ตัว

แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว

“เรดาร์” เริ่มไม่ค่อยทำงาน

กินอาหารอร่อยขึ้นเยอะเลยครับ