วิเคราะห์ | จับตาศึก “ประยุทธ์ 2/2” พลังประชารัฐการ์ดตก แลกหมัดชิงเก้าอี้ รมต. “สมคิด-4 กุมาร” ลาออก!

น่าจับตาอย่างยิ่ง สำหรับเกมเขย่าเก้าอี้ในรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งจากการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคแบบยกชุด

ด้วยการเขี่ยกลุ่ม 4 กุมารพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารพรรค ทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง

เลขาธิการพรรคของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน รองหัวหน้าพรรคของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรรมการบริหารพรรคของนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ก่อนขยายวงลามมาถึงการเร่งเกมปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 เพื่อดึงโควต้ารัฐมนตรีคืนจากกลุ่ม 4 กุมาร

เพื่อสลับสับเปลี่ยนให้ ส.ส.กลุ่มอื่นในพรรคขยับขึ้นไปนั่งคุมเป็นเจ้ากระทรวงตามที่เคยให้คำมั่นสัญญากันไว้

จนนำมาสู่การเปิดศึกชิงตำแหน่งและอำนาจกันภายในพรรคและรัฐบาลกันอย่างโจ๋งครึ่ม

ปล่อยการ์ดตก เปิดหน้าแลกหมัดกันแต่ละกลุ่มก๊วนการเมืองแบบไม่มีลูกเกรงใจกันอีกต่อไป

เกมการเมืองแบบนิวนอร์มอลภายในพลังประชารัฐดุเดือดเลือดพล่านไม่มีใครยอมใคร

เริ่มจาก ส.ส.และสมาชิกส่วนใหญ่ในพรรคผนึกกำลังผลักดันชื่อหัวหน้าพรรคคนใหม่ขึ้นมาคุมทัพ

ซึ่งไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นผู้มากบารมีตัวจริงเสียงจริงในพรรคที่เหล่า ส.ส.เกรงใจและเคารพ อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรค

ขยับขึ้นมาทำหน้าที่แม่ทัพพลังประชารัฐเต็มตัว

ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มสามมิตร กลุ่ม ส.ส.กทม. กลุ่มธรรมนัส รวมถึงกลุ่ม ส.ส.ภาคตะวันออกและภาคใต้ ทั้งหมดต่างพร้อมใจกันดัน พล.อ.ประวิตรเข้าสู่การเมืองเต็มตัวในฐานะหัวหน้าพรรค

พร้อมตั้ง 10 รองหัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นแรงสนับสนุน

ประกอบด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล

รวมถึงนายนิพันธ์ ศิริธร นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสุชาติ ชมกลิ่น

ส่วนแม่บ้านพรรคมอบให้แกนนำกลุ่มสามมิตรอย่างนายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท เข้ามาทำหน้าที่

และ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ หรือ ดร.ส้ม เป็นโฆษกพรรคคนใหม่ แทนนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง ที่หมดบทบาทไปพร้อมกลุ่ม 4 กุมาร

หลังถูกบีบพ้นกรรมการบริหารพรรค กลุ่ม 4 กุมารพยายามแก้หมากตานี้ด้วยการประกาศลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ

นายอุตตม สาวนายน อดีตหัวหน้าพรรค นำทีมกลุ่ม 4 กุมารตั้งโต๊ะแถลงเปิดใจยุติบทบาทการเมืองในฐานะสมาชิกพรรค ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีขอให้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นผู้ตัดสินใจ

เช่นเดียวกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ยืนยันการปรับ ครม.ให้เป็นหน้าที่ของนายกฯ

สิ้นคำแถลงกลุ่ม 4 กุมาร ที่ประกาศลาออกจากพรรค แต่ไม่ยอมทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีง่ายๆ

ก็มีความเคลื่อนไหวจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐทันที

เมื่อนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ออกโรงทวงโควต้ารัฐมนตรีจากกลุ่ม 4 กุมารกลับคืนมาให้พรรค

โดยเรียกร้องให้ลาออกจากรัฐมนตรีเพื่อคืนตำแหน่งกลับมาเป็นสมบัติของพลังประชารัฐ

อุณหภูมิภายในพรรคสูงขึ้นแบบฉุดไม่อยู่


ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นทั้งการเปิดศึกชิงอำนาจในพรรค และการชิงตำแหน่งรัฐมนตรี

ทำให้สปอตไลต์ฉายจับไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปรับ ครม.แต่เพียงผู้เดียว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการลาออกของกลุ่ม 4 กุมารจากพรรคพลังประชารัฐว่า เคารพการตัดสินใจ ถือเป็นเรื่องภายในพรรค ส่วนการปรับเปลี่ยน ครม. เป็นวิถีทางการเมืองที่ต้องพูดคุยเจรจากัน

พร้อมยืนยันว่าตนจะเป็นคนปรับเอง แต่ก็ต้องให้เกียรติ ส.ส.และทั้งหมด คงไม่ถึงกับปรับทั้ง ครม. เพราะจะไปไม่ได้ แต่จะปรับบางกระทรวงและหน่วยงานที่เหมาะสม

ส่วนช่วงเวลาการปรับนั้น ขอให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 และแผนฟื้นฟูการใช้จ่ายเงินก่อน เพราะถ้าปรับตอนนี้จะไม่มีคนทำ

“ถ้าคนนอกเข้ามามากก็ผิดกลไกประชาธิปไตย คนในก็ต้องสลับให้ดี คนนอกบางทีก็ไม่ว่าง แต่ถ้าผมเอาเข้ามาก็เป็นโควต้าผม ไม่ต้องไปเบียดเบียนเขา ผมเคารพพรรค”

จากคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนให้เห็นถึงเผือกร้อนด้านเศรษฐกิจในยุคโควิดเล่นงาน

ที่คงไม่มีใครอยากเข้ามาคุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงนี้

นั่นทำให้โมเมนตัมทางการเมืองสะวิงกลับไปยังกลุ่ม 4 กุมาร ว่าอาจได้อยู่ต่อขัดตาทัพยาวๆ ไปก่อน

เมื่อยังไม่มีคนนอกที่มีความสามารถและความหาญกล้าเข้ามารับงานกอบกู้เศรษฐกิจในยุคโควิด

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณเปรยว่าจะมีการปรับ ครม.หลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ผ่านสภาวาระ 3 แล้ว

หากเป็นเช่นนี้การปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 อย่างเร็วสุดก็จะเกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนกันยายน 2563

หรืออาจลากต่อไปถึงกลางเดือนตุลาคม 2563 เป็นอย่างช้า

ส่วนรายชื่อแกนนำพรรคพลังประชารัฐที่มีแนวโน้มจะได้ขยับดิวิชั่นขึ้นมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

คงหนีไม่พ้น นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และเลขาธิการพรรค ที่พลาดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรีในการตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 2/1

แต่จากคำมั่นสัญญาเดิมที่เคยให้ไว้ รวมถึงตำแหน่งแม่บ้านพรรคที่ได้รับมอบหมาย

การปรับ ครม.หนนี้ ชื่อของนายอนุชาจึงไม่หลุดจากโผเก้าอี้กระทรวงใหญ่แน่นอน

เช่นกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี อดีตประธาน ส.ส.ของพรรค ที่มีชื่อมาตลอด อาจต้องไปขับเคี่ยวแย่งชิง

เมื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทยเริ่มเขย่าและแสดงท่าทีไม่ยอมปล่อยกระทรวงแรงงานมาแบบง่ายๆ

พร้อมดันนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ขึ้นมาแทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ทำให้ตำแหน่งรัฐมนตรีที่นายสุชาติจะได้รับ อาจถูกโยกไป รมว.วัฒนธรรม แทนนายอิทธิพล คุณปลื้ม ในโควต้าภาคตะวันออก

ส่วนชื่อของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค และโฆษกรัฐบาล ยังห้าสิบ-ห้าสิบ แต่ข่าวล่าสุดคาดการณ์ว่าน่าจะหลุดจากแคนดิเดตรัฐมนตรีป้ายแดง

เนื่องจากโควต้าในส่วนของพรรค ยากที่จะไปขยับและเบียดชิงจากกลุ่มก๊วนอื่น

บวกกับกระแสโพลที่ออกมาอย่างสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ที่เขย่าเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐเอง

โดยเฉพาะรัฐมนตรีสายแกนนำ กปปส.

เมื่อระบุประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 86.6 พอใจค่อนข้างน้อย ถึงไม่พอใจเลยในผลงาน

แถมร้อยละ 66.7 เผยเหตุผลที่ไม่พอใจเพราะสร้างความขัดแย้ง วุ่นวาย แก่งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี

เรื่องนี้เดือดร้อนถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่ม กปปส. ที่ออกมาสวดผลโพลว่าเป็นการเล่นเกมชี้นำการเมืองแบบเดิมๆ

ปั่นกระแสล็อกเป้าเขย่า หวังโละเก้าอี้รัฐมนตรีก๊วน กปปส. พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าโพลมีเบื้องหลังเชื่อมโยงกับใครหรือไม่

แต่แล้วการปรับ ครม.ก็มาถึงเร็วกว่าที่คาด

เมื่อมีข่าวแจ้งว่า กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อแจ้งเจตจำนงลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ทักท้วง

ส่วนนายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีวันที่ 16 กรกฎาคม ผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก่อนเปิดแถลงข่าวชี้แจงเหตุผลการลาออก เพื่อเปิดทางให้นายกฯ ปรับ ครม.ได้โดยสะดวก

บทสรุปการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 แบบเหนือความคาดหมาย

ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่อาจตามมาในอนาคตอันใกล้ ถือเป็นเรื่องตื่นเต้นเร้าใจคอการเมืองอย่างยิ่ง

ตอนนี้ทุกอย่างโฟกัสไปที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์แต่เพียงผู้เดียว ใครอยู่ ใครไป ใครจะเข้ามาใหม่

ท่ามกลางศึกแย่งชิงตำแหน่งและอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ

เริ่มเห็นภาพชัดเจนกันแล้ว