เด็ก G นักเรียนไร้สัญชาติ กับความหวังสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข

เด็ก G คือใคร?

คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจประชากร หรือการเข้าถึงสิทธิสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย น่าจะคุ้นเคยกับคำนี้ดี

แต่สำหรับคนทั่วไปอาจงุนงงเมื่อแรกได้ยิน กระทั่งคิดไปต่างๆ นานาว่าหมายถึงจีเนียส (Genius) หรือเปล่า

เปล่าเลย พวกเขาเป็นเพียงเด็กธรรมดาๆ แต่ว่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และเมื่อมีโอกาสเข้าโรงเรียนไทย พวกเขาถูกกำหนดเลขประจำตัวโดยการขึ้นต้นด้วยอักษร G

นักเรียนรหัส G หมายถึง นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ซึ่งพวกเขาต้องมีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย โดยมีหลักการการกำหนดเลขใช้แทนเลข 13 หลัก ดังนี้

เลขหลักที่ 1 G คือ Generate หมายถึงการออกเลขประจำตัว 13 หลักที่ถูกกำหนดขึ้นโดยระบบ DMC (Data Management Center)

เลขหลักที่ 2 และ 3 หมายถึงรหัสจังหวัด

เลขหลักที่ 4 และ 5 หมายถึงรหัสอำเภอ

เลขหลักที่ 6 และ 7 หมายถึงรหัสปีการศึกษา

เลขหลักที่ 8 ถึง 13 หมายถึงเลขลำดับที่ของนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัวคนที่เท่าใดของระบบฐานข้อมูล DMC

จากข้อมูลของมหาดไทยเมื่อปี 2558 พบว่ามีเด็กนักเรียนรหัส G ราว 67,433 คน ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทยซึ่งทั้งหมดนี้มีสถานะเป็นนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

ซึ่งการที่เด็กๆ เหล่านี้มีโอกาสเล่าเรียนและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาเทียบเท่ากับเด็กไทยเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกกลุ่ม

แต่ว่าด้านการสาธารณสุขนั้น กลุ่มเด็กรหัส G ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ยกเว้นการฉีดวัคซีนในช่วงเด็กเล็กและอุบัติเหตุเท่านั้น

จึงทำให้หลายครั้งที่เด็กกลุ่มนี้เจ็บป่วย พ่อแม่ไม่กล้าพาไปหาหมอเพราะไม่มีเงินรักษา ขณะที่ทางครูหรือโรงเรียนเองก็ไม่อาจนิ่งดูดายหากว่าเด็กนักเรียนของตนเองเจ็บป่วย

ปัญหาด้านการสาธารณสุขสำหรับเด็กหกหมื่นกว่าคนนี้จึงนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับทุกฝ่ายทุกกระทรวง ไม่ว่า มหาดไทย สาธารณสุข ศธ. สภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานพัฒนาเอกชน ซึ่งได้พยายามจะเสนอกับทาง ครม. เพื่อขอให้เด็ก G จำนวน 67,433 คนนี้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข เพราะเห็นว่าหากเด็กๆ เหล่านี้เจ็บป่วยไม่ได้รับการรักษา ถ้าเป็นโรคติดต่อก็สามารถแพร่ระบาดสู่สังคมหรือชุมชนได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลตามแนวตะเข็บชายแดนก็ประสบปัญหาภาระหนี้สิน เนื่องจากได้ให้การรักษากลุ่มคนไทยไร้สถานะ รวมถึงคนไร้สัญชาติ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลใน 31 จังหวัดชายแดนพบว่า ในปีงบประมาณ 2558 มีค่ารักษาพยาบาลที่หน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขเรียกเก็บไม่ได้เป็นจำนวนเงินสูงถึง 556,488,140 บาท

หากจะย้อนกลับไปก่อนการประกาศพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2545 กลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวนหนึ่งเคยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขจากโครงการสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย (สปร.) และโครงการบัตรสุขภาพ 500 บาท ของกระทรวงสาธารณสุข

จนเมื่อมีการประกาศ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2545 กฤษฎีกาได้ตีความว่า ผู้มีสิทธิได้รับบริการด้านสาธารณสุข หมายถึงเฉพาะ “คนมีสัญชาติไทย” เท่านั้น

ทำให้กลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ถูกถอดสิทธิและเสียสิทธิในการให้บริการสาธารณสุขของรัฐนับแต่นั้น

ต่อมาปี 2553 รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 เพื่อการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จำนวน 475,409 คน

และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเพิ่มเติมกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ เข้าสู่กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขตามมติ 23 มีนาคม 2553 อีก จำนวน 208,631 คน (รวมทั้งสองครั้งได้คืนสิทธิให้แก่คนไร้สถานะ 684,040 คน)

แต่ว่าก็ยังไม่อาจครอบคลุมผู้ประสบปัญหาสถานะและสิทธิทั้งหมดได้

ดังนั้น ในวันนั้น (20 เมษายน 2558) คณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่ากลุ่มเด็ก G ยังขาดหลักฐานเพื่อจะขอรับสิทธิ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งเพื่อยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเพื่อจะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

และเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้เสนอต่อ ครม. เพิ่มเติมกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ให้เข้าถึงกองทุนให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข 107,662 คน ซึ่งเป็นเด็ก G จำนวน 67,433 คน โดยนักเรียนรหัส G นี้ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร (ท.ร.14) แต่ยังไม่มีสัญชาติ ที่เหลือคือกลุ่มคนดั้งเดิมที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรจำนวน 40,226 คน (เป็นตัวเลขสรุปจากมหาดไทย) และขอให้สิทธิด้านสาธารณสุขต่อบุคคลเหล่านี้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559

แต่การเสนอไปในครั้งนั้น จนบัดนี้ยังคงเงียบไม่มีความคืบหน้า

เด็กชายซอ เซียมราย นักเรียนชั้น ป.4 ของโรงเรียนห้วยหมากเลี่ยม ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้เล่าถึงความใฝ่ฝันของเขาให้ฟังว่า เขาอยากเป็นคนทำงานในโรงพยาบาล เพราะอยากช่วยเหลือรักษาคน

แต่ทุกวันนี้จะไปไหนไกลก็ยังไม่กล้า กลัวว่าจะโดนจับ และเมื่อถามว่าที่ผ่านมาเคยไม่สบาย ต้องไปหาหมอไหม เขาบอกว่าไม่เคย โชคดีที่เขาไม่เคยเจ็บป่วยหนักๆ จนต้องไปหาหมอ

การขอสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับพวกเขาเหล่านี้ ในมุมมองของ นายสุมิตร วอพะวอ ผู้จัดการโครงการสถานะบุคคลและสิทธิพลเมือง องค์การแพลน สำนักงานประเทศไทย เห็นว่า เราไม่ได้ขอเพื่อให้พวกเขาเท่านั้น แต่เพื่อให้สังคมไทย ชุมชนไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีด้วย เพราะผลกระทบของคนป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา หากขยายลุกลามสู่ชุมชน ผลเสียหายอาจจะยิ่งกว่าจำนวนเงินที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการสาธารณสุขในเบื้องต้นนี้

ขณะที่ นางเกศรา สุกิน เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน โรงพยาบาลอำเภอฝาง ก็ได้ระบุหนี้สูญของโรงพยาบาลฝางอันเกิดจากการไม่อาจเรียกเก็บกับผู้ที่มารักษาได้ ว่ามีจำนวนราวสิบล้านบาทต่อปี

ซึ่งการที่โรงพยาบาลต้องมีหนี้สูญเช่นนี้ทำให้โอกาสของทางโรงพยาบาลที่จะได้รับจากรัฐหลายด้านต้องหมดลงด้วย เพราะมีผลต่อเกณฑ์การประเมินโรงพยาบาล

แม้ว่าเรื่องนี้หากทางกระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งออกมาให้เด็ก G มีสิทธิเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขได้ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเด็กแล้วก็จะเป็นการช่วยเหลือโรงพยาบาลไม่ต้องแทงหนี้สูญด้วย

ขณะที่อีกหลายๆ ความเห็นทั้งจากตัวแทนภาครัฐและชาวบ้าน มองว่า หากมีการพิสูจน์สิทธิ์ให้ถูกต้อง และจริงจัง ชาวบ้านที่ได้รับบัตรประชาชนคนไทยก็จะเสียภาษีเช่นเดียวกับคนไทยทั่วๆ ไป ก็น่าจะเป็นการดี

เพื่อให้เงินภาษีเหล่านั้นย้อนกลับมาเป็นค่าสิทธิรักษาพยาบาลหรือค่าเล่าเรียนที่รัฐต้องจ่ายไป