จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Elon Musk ถึง Lei Jun “นิสัยนวัตกรรม” นำขับเคลื่อน “องค์กรนวัตกรรม”

Max McKeown ได้ให้นิยามของคำ “องค์กรนวัตกรรม” หรือ Innovative Organization เอาไว้ว่า หมายถึง “องค์กรที่มีการปรับแปลงกระบวนทัศน์ เพื่อก่อเกิดสิ่งใหม่ที่แปลกต่าง และเป็นประโยชน์”

“ด้วยการนำความรู้ ทักษะ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาผสมผสานกับความสามารถทางด้านการบริหารจัดการของผู้บริหาร เพื่อนำองค์กรไปสู่รูปแบบใหม่”

ขณะที่ Peter Laundy กล่าวว่า “องค์กรนวัตกรรม” คือ “องค์กรที่มุ่งทำในเรื่องที่แตกต่างจากสิ่งเดิม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ค้นคิดประดิษฐกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน และการผลิตสินค้าหรือบริการ”

เช่นเดียวกับ Andrew Gibbons ที่กล่าวว่า “องค์กรนวัตกรรม” หมายถึง “ระดับของการนำแนวคิดใหม่เข้าสู่องค์กร ทั้งในด้านกระบวนการผลิต รูปแบบบริการ รวมถึงการบริหารจัดการ การดำเนินงาน และกิจกรรมอื่นๆ ขององค์กร”

สอดคล้องกับ “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” ได้ให้ความหมายของ “องค์กรนวัตกรรม” ว่าคือ “การใช้ประโยชน์จากความคิดใหม่เพื่อให้เกิดผลดีแก่องค์กร รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์การบริการ กระบวนการผลิตใหม่ การปรับปรุงเทคโนโลยี การแพร่กระจายเทคโนโลยี และการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์แก่องค์กร”

และ “บุญเกื้อ ควรหาเวช” ได้กล่าวถึง “องค์กรนวัตกรรม” ว่าเป็น “องค์กรที่มีการนำความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้จนเป็นผลสำเร็จ และแผ่กว้างออกไปจนกลายเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติแก่บุคคลทั่วไป”

 

ในที่นี้ หากเรานำนิยามของ “องค์กรนวัตกรรม” ไปจับองค์กรของ Elon Musk คือ Tesla หรือองค์กรของ Lei Jun คือ Xiaomi แล้ว จะเห็นได้ว่า ทั้งองค์กรของ Elon Musk และองค์กรของ Lei Jun มีคุณสมบัติเข้าข่ายการเป็น “องค์กรนวัตกรรม” ชนิดที่เรียกว่า 100% เลยทีเดียว

ปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ Tesla ของ Elon Musk หรือ Xiaomi ของ Lei Jun มีความเป็น “องค์กรนวัตกรรม” ก็เนื่องมาจากว่า ทั้ง Elon Musk และ Lei Jun นั้น ทั้งคู่ล้วนมี “นิสัยนวัตกรรม” ติดตัวมาแต่กำเนิด!

ดังที่ “องค์อร ประจันเขตต์” ได้ให้ความหมายของ “นิสัยนวัตกรรม” หรือ Innovative Habits ว่าเป็น “นิสัยของผู้ที่มีแรงขับในตัวเองสูง ในการผลักดันให้ตนเกิดความกระตือรือร้นที่จะศึกษาเรียนรู้ และคิดค้นสิ่งใหม่ๆ”

“และจะต้องเป็นผู้ที่มีความฝันและวิสัยทัศน์ที่จะไปให้ถึงจุดหมาย โดยไม่เกรงกลัวความล้มเหลว สามารถมองเห็นโอกาสของการสร้างนวัตกรรมได้จากสภาพที่เป็นอยู่”

“เช่น แทนที่จะมองว่ามีน้ำ “อยู่” ครึ่งแก้ว แต่กลับมองว่ามีน้ำ “เพียง” ครึ่งแก้ว เพราะที่ว่าง “อีก” ครึ่งแก้วที่เหลือ คือโอกาสในการค้นคว้าหาความรู้ ฝึกฝนทักษะ จนเกิดความชำนาญในการสร้างนวัตกรรมต่อไปนั่นเอง”

“โดยนอกจากการมีความรู้และความสามารถแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมนั้นให้สำเร็จด้วย” องค์อรกระชุ่น

“นิสัยนวัตกรรม” ของ Elon Musk นั้น เริ่มต้นที่ “บริษัทจัดทำแผนที่และทำเนียบธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต” ที่ชื่อ ZIP2 (ปัจจุบันเป็นของ HP) รวมทั้งกิจการรับชำระเงินออนไลน์ X.com ที่ต่อมาพัฒนาเป็น PayPal (ปัจจุบันเป็นของ eBay)

ยังไม่นับ “ธุรกิจศูนย์จัดเก็บและบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่” ที่ชื่อ EverDream (ปัจจุบันเป็นของ Dell) นอกจากนี้ยังมีธุรกิจขายฝันตั้งแต่สมัยเขายังเรียนปริญญาตรี คือธุรกิจรับ Scan หนังสือเพื่อแปลงเป็นไฟล์ Digital (ปัจจุบันก็คือเทคโนโลยี PDF)

และปัจจุบันกับบริษัท Telsa “โรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า” และ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ” กับสถานีชาร์จไฟริมถนน และแท่นชาร์จที่บ้านจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงบริษัท Solarcity โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์สำหรับบ้านเรือนและธุรกิจในสหรัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท Space Exploration Technology หรือ SpaceX เจ้าของโครงการนำร่องท่อง Galaxy ที่องค์การ NASA ให้การสนับสนุน

ยังไม่ต้องเอ่ยถึง Hyperloop One หรือ Capsule โดยสารผ่านท่อสุญญากาศ “พาหนะที่ 5” นอกเหนือไปจากรถไฟ เรือ รถยนต์ และอากาศยาน

Hyperloop One ของ Elon Musk สามารถขนคนจาก San Francisco ไป Los Angeles ได้ภายใน 30 นาที เป็นพาหนะที่ปลอดภัย ไม่มีการชน มีอัตราเร่งเร็วกว่าเครื่องบินพาณิชย์ 2 เท่า ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100%

จะเห็นได้ว่า นี่คือ “นิสัยนวัตกรรม” ของ Elon Musk ตรงตามนิยามที่ “องค์อร ประจันเขตต์” ได้ให้ไว้ทุกประการ

 

ในส่วนของ Lei Jun ซูเปอร์ CEO แห่ง Xiaomi ก็เช่นเดียวกัน

นิตยสาร Forbes ได้ยกย่องให้ Lei Jun เป็น “นักธุรกิจแห่งปี” ประจำ ค.ศ.2014 จากบทบาทการก่อตั้งเครือ Xiaomi ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ซึ่งถือเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยลำดับต้นๆ ทั้งของจีน และของโลก!

จุดเด่นของ Lei Jun ที่สื่อมักพูดถึงเขาก็คือ ความสามารถในการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีภายในเวลา 2 ปี ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเริ่มสร้าง Gundugoms บริษัทแรกของตัวเอง ขณะที่ศึกษาอยู่ปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย

หลังเรียนจบ Lei Jun เข้าทำงานกับบริษัท Kingsoft ในตำแหน่งวิศวกร ค่อยๆ ไต่เต้าในองค์กรจนได้เป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” หรือ CEO ที่นั่น และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้

หลังออกจาก Kingsoft ไม่นาน Lei Jun ก็ผันตัวเองมาเป็นนักลงทุน ด้วยการก่อตั้งบริษัท Shunwei Capital เน้นการลงทุนกับ Start-up หน้าใหม่ทั่วจีน จากนั้นเขาหันไปลงทุนในธุรกิจ e-Commerce, Social Media และ Smart Phone

ผลงานชิ้นโบแดงที่โลกจดจำ Lei Jun คือการก่อตั้งกลุ่มบริษัท Xiaomi ดำเนินธุรกิจผลิตโทรศัพท์มือถือ, Application ใน Smart Phone และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

ดังที่ผมได้เคยเขียนบทความลงในนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ ชื่อตอนว่า “จาก Ikigai ถึง Xiaomi เรามีชีวิตอยู่เพื่อมีชีวิต”

เพราะนอกจาก Smart Phone ที่เป็นผลิตภัณฑ์ระดับ Flagship หรือ “เรือธง” แล้ว Xiaomi ยังมี Tablets PC, Computer Notebook, Smart Home Device, Mechanical Watch, Smart Watches and Smartbands, หุ่นยนต์ผู้ช่วย, กล้องวงจรปิด

Smart TV, เครื่องเสียง, เครื่องฟอกอากาศ, แอร์, เครื่องกรองน้ำ, ตู้เย็น, เครื่องดูดฝุ่น, หม้อหุงข้าว และหม้อสารพัดชนิด, เตาไมโครเวฟ รวมถึงเตาต่างๆ อีกนานัปการ หรือที่รวมๆ แล้วเราเรียกว่า “เครื่องใช้ไฟฟ้า” ภายใต้แบรนด์ Mijia

นอกจากนี้ยังมีเครื่องวัดความดัน, เครื่องชั่งน้ำหนักรองเท้าฟิตเนส หรือแม้กระทั่ง “ตู้ปลา” และ “กระถางต้นไม้” ล่าสุดกับ “รถยนต์อัจฉริยะ” Xiaomi Redmi Car SUV ควบคุมการทำงานด้วย AI

 

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็น “นิสัยนวัตกรรม” ของ Lei Jun แบบเดียวกับ Elon Musk ตรงตามนิยามที่ “องค์อร ประจันเขตต์” ได้ให้ไว้ทุกประการเช่นกัน

อีกทั้งยังเป็นไปตามนิยามของ Peter Ducker ศาสตราจารย์ด้านการตลาดชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ที่กล่าวว่า “Innovation requires Knowledge, Ingenuity, and above all else, Innovative Habits.”

“นวัตกรรม” ต้องการความรู้ ความเฉลียวฉลาด และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ “นิสัยนวัตกรรม”

ทุกวันนี้ แม้ Lei Jun จะลงจากตำแหน่ง CEO ของ Xiaomi เมื่อต้นปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ทว่ามนุษยชาติได้ฝังความทรงจำระหว่างเขากับ Xiaomi ไว้ในใจตลอดกาล!

ปัจจุบัน Lei Jun ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สถาบันวิศวกรรมเจิ้งโจว เป็นต้น