‘ส.อ.ท.’ชี้เป็นทิศทางที่ดีหลังนายกฯดึงเอกชนร่วมขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

‘ส.อ.ท.’ชี้เป็นทิศทางที่ดีหลังนายกฯดึงเอกชนร่วมขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า เป็นทิศทางที่ดี ที่ทางรัฐบาลได้เชิญภาคเอกชน อาทิ ส.อ.ท, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.), ภาคการท่องเที่ยว สมาพันธ์เอสเอ็มอี และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มองว่าการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ และทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย เข้าใจถึงปัญหาและแก้ไขได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

“การนำกลุ่มที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจตัวจริงมาร่วมกันแก้ปัญหาถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการแก้ไขให้เกิดการกระตุ้นใช้จ่ายในประเทศได้อย่างถูกจุดประสงค์ โดยทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของนายกฯ ที่ต้องการเป็นนายกฯแบบนิวนอร์มอล จะเห็นจากการเดินสายสร้างความเข้าใจกับทุกกลุ่มรวมถึงสื่อมวลชน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจในเรื่องการดำเนินการของภาครัฐมากขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะซ้ำซ้อนกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หรือไม่นั้น มองว่าไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดก็จะมีความซ้ำซ้อนกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการซ้ำซ้อนที่เกิดประโยชน์ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและสามารถทำได้ ยังเชื่อว่าการที่นำตัวจริงทางด้านเศรษฐกิจมาร่วมกันแก้ไขปัญหาในปัจจุบันจะช่วยแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ เพราะขณะนี้ ทุกบาททุกสตางค์ทุกนาทีที่ผ่านไปมีผลต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจไทย มองว่าหากร่วมเสนอข้อเท็จจริง แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท จะได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจนกว่าจะผ่านช่วงโควิด-19 ที่คาดว่าต้องใช้เวลาควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงปี 2564 หรือจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีนที่จะใช้รักษาต่อไป

นายเกรียงไกร กล่าวว่า สิ่งที่ศูนย์ฯต้องเร่งดำเนินการ คือ ในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งวัดได้จากมาตรกรสินเชื่อ 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาก่อนหน้านี้ มีผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียง 9 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20% นอกนั้นไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ มองว่าต้องรีบช่วยเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ยังสามารถประคองธุรกิจไปได้โดยด่วน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด หากไม่รีบแก้ไขอาจส่งกระทบเป็นโดมิโนทำให้ธุรกิจต้องปิดตัว เกิดการว่างงานมากขึ้น และจะส่งผลถึงสถาบันการเงินในที่สุด