ถึงจะ “โอลด์” แต่ไม่เอาต์ 80 ปี “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ย้อนเรื่องเก่า คุยเรื่องใหม่ เมื่อสังคมไทยต้อง “ไปต่อ”

เข้มข้น ร้อนแรง และชวนสะดุ้งในหลายจังหวะ สำหรับเสวนา “Old แต่ไม่ Out สังคมไทยไปต่ออย่างไรในความ (ไม่) ใหม่” จัดโดย “มติชนสุดสัปดาห์” เนื่องในวาระ 80 ปี ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย

แน่นอนว่า มวลมหาประชาชนแน่นร้าน เบรนเวค คาเฟ่ สาขามติชนอคาเดมี สถานที่จัดงานโดยมีบุคคลหลากรุ่น หลายสาขาอาชีพร่วมฟังอย่างเนืองแน่นแบบเว้นระยะห่างทางกายภาพ

เริ่มต้นด้วยการกล่าวนำโดยอาจารย์ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งบอกเล่าอย่างละเอียดมากถึงผลงานตลอดชีวิตของอาจารย์นิธิ โดยเฉพาะชิ้นสำคัญอย่าง “ปากไก่และใบเรือ” ซึ่ง อ.ธนภาษมองว่าเป็นคำอธิบายใหญ่ที่ท้าทายต่อทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านของสังคมก่อนสมัยใหม่สู่สังคมสมัยใหม่ที่แต่เดิมมักปักหลักไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง แต่อาจารย์นิธิพยายามเสนอว่าสังคมไทยเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

“สิ่งที่อาจารย์นิธิยืนยันคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาอย่างสำคัญ ที่จะทำให้ชนชั้นนำสยามซึ่งประกอบด้วยศักดินาและพ่อค้าจีนที่รวมตัวกันจนเกิดสำนึกซึ่งเรียกว่า โลกทัศน์กระฎุมพี อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อรูปความคิดของชนชั้นนำไทยให้มีความพร้อมที่จะเปิดรับการเข้ามาของชาติจักรวรรดินิยมตะวันตก”

จากนั้น เข้าสู่วงเสวนาซึ่ง รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นว่า

“วันนี้จะพูดถึงอาจารย์นิธิ แต่อาจารย์ไม่มา ซึ่งในแง่หนึ่งก็ดี เข้าใจว่าท่านกระอักกระอ่วนอย่างมากเวลามีใครชมต่อหน้า ดิฉันเองก็ไม่สะดวกใจที่จะชมใครต่อหน้าด้วย เพราะฉะนั้น การชมลับหลังอาจจะดีกว่า”

ปูเสื่อเปิดวงด้วยเสียงหัวเราะของผู้ฟัง และท่วงท่าสบายๆ ของผู้พูด ทว่าเนื้อหาถัดจากนั้น จัดหนักแบบลุกจากเก้าอี้ไม่ได้

วิพากษ์ปัญญาชน “ผู้ไม่ถามคำถามที่ควรถาม”

รศ.ดร.พวงทองบอกว่า อาจารย์นิธิวิพากษ์บทบาทของนักวิชาการมาตลอดตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 จนถึงปัจจุบัน หลายชิ้นวิพากษ์หอคอยงาช้าง จนถึงปัญหาคอร์รัปชั่น โดยมองว่าปัญญาชนมีส่วนด้วย เพราะ “ไม่ได้ถามคำถามที่ควรถาม” ทั้งหน้าที่ของปัญญาชนคือการถามคำถามและตอบคำถามใหม่ๆ ให้สังคม ไม่มีหน้าที่รับใช้อำนาจรัฐ แสวงหาลาภยศสรรเสริญ

ซึ่งอาจารย์นิธิก็ไม่เคยรับใช้ผู้มีอำนาจ และยังมองว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 กระฎุมพีไทยซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านของปัญญาชน ไม่มีจุดยืนทางการเมือง โลเล ไร้หลักการ ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย กลัวตัวเองเสียผลประโยชน์ ชอบบอกว่าตัวเองรักชาติ แต่เป็นชาติที่มองคนไม่เท่ากัน คิดว่าตัวเองฉลาดที่สุด และอยากเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงอำมาตย์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส คือหนึ่งในปัญญาชนที่ถูกวิพากษ์

“อาจารย์นิธิวิพากษ์ปัญญาชนไทยอย่างมากตั้งแต่ปี 2549 ปัญญาชนเหล่านั้น ท่านก็รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ยังวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราเริ่มมีความหวังต่อคนรุ่นใหม่ที่ต่อกรกับอำนาจนิยม คำถามคือจะฝากความหวังได้ไหม ดิฉันไม่มีคำตอบขาว-ดำว่าหวังเต็มเปี่ยมหรือไม่หวังเลย ถ้ากลับไปใช้กรอบคิดแบบอาจารย์นิธิ ซึ่งมองว่า แต่ละชนชั้นมีเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ในขณะที่คนเดือนตุลา พันธมิตร กปปส. สร้างตัวภายใต้อำนาจนิยม แต่กระฎุมพีใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ในขณะนี้โตมาต่างจากกระฎุมพีรุ่นเก่า ในระยะยาว”

“กระฎุมพีรุ่นใหม่จะกลายเป็นพลังที่ต่อสู้เพื่อพลังที่เท่าเทียมได้หรือไม่ จะสลัดพ้นจากเครือข่ายอำนาจนิยมได้ไหม นี่คือคำถามที่ท้าทาย”

ถ้าวันหนึ่งคุณแพ้ จะอยู่อย่างไรกับรัฐธรรมนูญแบบนี้

จากนั้นถึงคิวบุคคลที่ ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ ผู้ดำเนินรายการระบุว่า นอกจากไม่เอาต์ แล้วยังฮอต อย่าง ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ผู้หนีบ “มติชนสุดสัปดาห์” ไว้อ่านคอลัมน์ของอาจารย์นิธิ ตั้งแต่เป็นนักศึกษารั้วธรรมศาสตร์ระหว่างนั่งรถไฟไปลงสถานีเชียงราก และขานั่งรถเมล์กลับมาท่าพระจันทร์

“งานชุดที่อาจารย์นิธิเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ คือภาพสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในความคิดของท่านในแต่ละช่วงสมัย ช่วงปี 2553 ถึงรัฐประหาร 2557 บทความหลายชิ้นพยายามสื่อสารด้วยความหวังว่ายังมีโอกาสที่จะหาฉันทามติ เปลี่ยนแปลงอย่างสันติได้ ส่งสัญญาณถึงกลุ่มอนุรักษนิยม และพรรคการเมือง โดยเฉพาะเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ว่าต้องปฏิรูปอะไร แต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดย คสช. ทิศทางบทความเริ่มเปลี่ยนไปโดยมีการตั้งคำถาม มีความ radical มากขึ้น” แกนนำคณะก้าวหน้าวิเคราะห์ ก่อนย้อนไปถึงผลงานก่อนหน้านั้นในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2534 เรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม”

“ความสำคัญของงานชิ้นนี้คือ อาจารย์นิธิพยายามอธิบายว่า ทำไมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงฉีกง่าย ทั้งที่ตามหลักการแล้ว ใครฉีกมีความผิดอาญา ฐานกบฏต่อราชอาณาจักร โทษสูงสุดประหารชีวิต แต่จนถึงวันนี้ 20 ฉบับมีการเปลี่ยนแปลงแบบอารยชนทำกันแค่ 3 ครั้ง คือ 2475, 2489, 2534 และ 2540

อาจารย์นิธิพูดถึงวัฒนธรรมการเมืองของไทยซึ่งมันฝังอยู่ตลอด ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรแต่รู้กัน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมซึ่งแม้ว่าจะเขียนลายลักษณ์อักษรเป็นแบบใดก็ไปเปลี่ยนไม่ได้”

ส่วน 4 ฉบับหลัง ได้แก่ ฉบับปี 2549, 2550, 2557 และ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ ผศ.ดร.ปิยบุตรใช้คำว่า ฉบับ “แก้แค้น เอาคืน” กินรวบทั้งกระดาน ใครชนะก็ออกแบบกติกาให้ตัวเอง โดยไม่คิดว่าวันหนึ่งหากเป็นผู้แพ้แล้วจะอยู่อย่างไร โดยเฉพาะฉบับปี 2560 แย่กว่านั้นคือออกแบบมาโดยไม่ให้คนอื่นแก้ด้วย

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างกฎหมายตลอดเวลา ทั้งที่ทำผิดกฎหมายคนแรก คือฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อประชาชนอ้างรัฐธรรมนูญบ้าง เช่น เสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง พล.อ.ประยุทธ์กลับกระโดดหนีโดยบอกว่า ต้องดูกกฎหมายอื่นบ้าง ตราบใดที่คณะผู้ปกครองชุดนี้ยังนั่งอยู่ ยากมากที่จะแสวงหาฉันทามติร่วมกันในการออกแบบสังคมการเมืองไทย”

ผศ.ดร.ปิยบุตรทิ้งท้ายแบบชวนใจละเหี่ย

เมื่ออนุรักษนิยมเสื่อมมนต์สะกด

กับโจทย์ที่ “โอลด์” แต่ไม่ “เอาต์”

ด้านศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ครูของครู” ร่วมสนทนาด้วยคำกล่าวทรงพลังและเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์เช่นเคย

“ในหมู่ปัญญาชนไทย ที่ผมอ่านแล้วนึกไม่ถึง หรือนึกไม่ออก และตื่นเต้นตลอดเวลาว่าจะพาเราไปไหน อาจารย์นิธิมีพลังในการพาเราไปในที่ที่เราไม่เคยไป พาให้เราคิดในสิ่งที่เราไม่เคยคิด พาเราไปมองในมุมที่เราไม่เคยมอง” กีรตยาจารย์รั้วแม่โดมกล่าวก่อนนำไปสู่ประเด็นสำคัญที่ว่า ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ ผลงานของอาจารย์นิธิหลายชิ้นในประเด็นที่เกี่ยวกับ “ปัญญาชนอนุรักษนิยม” ล้วนมีข้อเสนอหลักคือ ปัญญาชนอนุรักษนิยมหมดยุคสมัยแล้ว ข้อคิดไม่ตอบโจทย์ปัจจุบัน นับวันหมดพลังลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เคยกลมกลืนเริ่มปริรั่ว คำถามคือ ต่อไปจะเอาอย่างไร

“โจทย์ที่โอลด์แต่ไม่เอาต์ คือ เมื่อเผชิญหน้ากับความทันสมัยของตะวันตกที่เข้ามา คิดถึงในแง่การเมือง ประชาธิปไตย ในแง่เศรษฐกิจ ทุนนิยม ในแง่วัฒนธรรม เน้นไปที่วิธีคิดแบบปัจเจกนิยม จะปรับ จะสะกดให้ยอมรับระเบียบอำนาจไทยอย่างไร จะสะกด จะปรับให้ความทันสมัยที่ไหลเข้ามาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมสยบหรือยอมอยู่กับระเบียบหรือวิถีอำนาจไทยซึ่งมีการรวมศูนย์และเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ภาษาโบราณ เหลื่อมล้ำ ก็คือ ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ประเด็นเรื่องอุปถัมภ์คือวิธีการที่ระเบียบอำนาจไทยจะสะกดอย่างไรให้ยอมรับอำนาจแบบไทยๆ ข้อเสนอของอาจารย์นิธิ หลัง คสช.ยึดอำนาจ คือ มันไม่เวิร์กแล้ว”

ศาสตราจารย์ ดร.เกษียรย้ำว่า ที่ผ่านมาเนื่องจากสูตรสะกดความเปลี่ยนแปลงแบบตะวันตกโดยกลุ่มอนุรักษนิยมไทย วันนี้สะกดไม่อยู่แล้ว จึงเหลือแต่เครื่องมือคืออำนาจ ตั้งแต่ยุค คสช.การใช้กฎหมายแบบบังคับและการใช้กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการที่คนจะยอมอยู่ใต้ส่วนผสมเดิมที่สะกดอยู่มันหมดมนต์ขลัง จึงเหลือวิธีน้อยมากในการทำให้ยอม เลยต้องบังคับ

สำหรับการปฏิรูป ถ้าเป็นไปได้ควร “ปฏิรูปจากเบื้องล่าง เพิ่มอำนาจต่อรอง ช่วงชิงอำนาจนำ รอรัฐล้มเหลว” ในการปฏิรูป ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ปฏิรูปไม่ได้หากชนชั้นนำไม่ร่วมมือ เท่าที่เห็น ชนชั้นนำชุดนี้ไม่ปฏิรูป ดังนั้น ช่องทางจึงเหลือน้อย

“รัฐทันสมัย เรียกว่ารัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยคือลบทุกอย่าง ไม่เหลือความเหลื่อมล้ำ การสร้างเสรีประชาธิปไตยแบบปกติที่ตะวันตกทำ ผ่านกระบวนการที่เจ็บปวด คือ ทำให้ทุกคนยอมรับว่าเป็นแค่ปัจเจกบุคคลคนเดียวแล้วสัมพันธ์กับรัฐ รัฐบังคับใช้อำนาจกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งน่ากลัวมาก หากเป็นผู้ที่มีอะไรจะเสีย”

ศ.ดร.เกษียรฝากไว้ให้คิด