ในประเทศ / ระวังตัวไว้ด้วยก็แล้วกัน

ในประเทศ

 

ระวังตัวไว้ด้วยก็แล้วกัน

 

กลายเป็นไฮไลต์ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2564 อย่างไม่คาดหมาย

เมื่อการอภิปรายในวันสุดท้าย 3 กรกฎาคม นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณในสัดส่วนกระทรวงคมนาคมอย่างดุเดือด

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งไม่ติดลุกขึ้นมาตอบโต้

ด้วยรู้สึกว่าโดนดูถูกสติปัญญาจากคำอภิปรายนั้น

แถมยังมีคำพูด “หลุด” ไปสู่ประเด็นอ่อนไหว ว่า

“มันไม่ทันใจท่านหรอกครับ ไม่ทันใจที่ท่านจะเปลี่ยนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเราได้ ไม่ทันใจหรอกครับ”

จากนั้น อุณหภูมิในที่ประชุมก็พรุ่งปรี๊ด

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อภิปรายสรุปในส่วนของพรรคก้าวไกล อภิปรายตอบโต้

“สิ่งที่เราอยากให้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และไม่ทันใจ ซึ่งไม่ใช่ไม่ทันใจแต่เฉพาะพวกเรา แต่ไม่ทันใจประชาชน คือตัวท่านนายกรัฐมนตรี แต่แทนที่ท่านจะตระหนัก เมื่อสักครู่ท่านกลับดึงเอาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มากลบเกลื่อนความผิดพลาดของท่านเอง ฉันคิดว่าท่านต้องปรับทัศนคตินะคะ เลิกคิดว่าคนเห็นต่างจากท่านเป็นพวกชังชาติ เป็นพวกไม่หวังดี เลิกป้ายสีว่าคนที่เห็นต่างจากท่านเป็นพวกคิดร้ายต่อสถาบันหลักของชาติ”

 

เจอหนักอย่างนี้ มีหรือ พล.อ.ประยุทธ์จะนิ่งเฉย

ลุกขึ้นโต้ น.ส.ศิริกัญญาว่า แม้จะเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่พูดจาเก่ง แต่ควร “ระวังตัวไว้ด้วยก็แล้วกัน” เพราะบ้านเมืองมีกฎหมาย

คำพูดดังกล่าว ส่งผลให้ “นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกรายของพรรคก้าวไกล ต้องลุกขึ้นถามว่า ที่นายกฯ บอกให้ “ระวังตัว” นั้นหมายถึงอะไร? จะเกิดสิ่งใดขึ้นกับพวกตนหรือเปล่า?

ประสานกับ “ณัฐวุฒิ บัวประทุม” อีกหนึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เห็นว่าคำพูดของผู้นำประเทศถือเป็น “การข่มขู่”

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็โต้กลับทันควัน

“จะพูดอย่างไม่เข้าใจแบบนี้ไม่ได้ ที่ผมบอกให้ระวังตัวคือระวังตัวในเรื่องของข้อกฎหมายที่อาจจะทำผิดได้ ผมก็ระวังของผม ท่านก็ต้องระวังของท่าน ความหมายของผมคือแค่นี้ ไม่ได้ไปขู่อะไรท่าน เข้าใจไหม ถ้าท่านไม่ได้ทำผิดอะไรจะกลัวอะไร”

เมื่อนายกฯ พูดจบก็เดินออกไปจากที่นั่งทันที

 

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่าที่เตือนระวังตัว คือให้ระวังเรื่องกฎหมาย

แต่กระนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์แฉลบไปว่า

“มันไม่ทันใจท่านหรอกครับ ไม่ทันใจที่ท่านจะเปลี่ยนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเราได้ ไม่ทันใจหรอกครับ”

มีผู้มองว่า มันสะท้อนปมที่ฝังลึกในใจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีต่อพรรคก้าวไกล พรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไป

ซึ่งแน่นอน รวมไปถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้าด้วย

ในฐานะกลุ่มมีแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อชาติ

อันเป็นจุดยืนที่ “ตรงกันข้าม” กับจุดยืนของฝ่ายของตนเอง

จึงมีเป้าจำกัด ขจัดตลอดมา

แต่ก็พยายามวางตัว “ห่างๆ” โดยโยนให้เป็นเรื่องของ “กฎหมาย”

และยืนกรานว่า เมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ

 

ซึ่งแน่นอนในฝั่งฟากพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า นายธนาธรและพวก ไม่เห็นด้วย

และวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดเกี่ยวกับกฎหมายที่มีหลายมาตรฐาน

ขณะเดียวกัน ก็ขับเคลื่อนหรือทำกิจกรรมท้าทายฝั่งฟาก พล.อ.ประยุทธ์อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

อย่างเรื่องงบประมาณปี 2564

พรรคก้าวไกลได้เสนอชื่อนายธนาธรเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ในสัดส่วนของพรรคด้วย

เป็นการท้าทายกลายๆ ว่าแม้จะยุบพรรคอนาคตใหม่ จะตัดสิทธิการเมืองนายธนาธร

แต่ก็มีช่องเปิดให้นายธนาธรมีเวทีเล่น

ซึ่งก็คือการเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564

ดังที่เคยเข้าไปเป็นแล้ว ในการพิจารณงบประมาณปี 2563 แต่ครั้งนั้นได้ลาออกหลังจากถูกพักงาน ส.ส.

แต่ครั้งนี้ นายธนาธรย้ำว่า จะทำงานให้เต็มที่ ให้สมกับที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหาร

ส่วนที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเคยลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณปี 2563 นั้น

นายธนาธรแจงว่า ในบริบทของปีนั้นมีการตัดสินคดีความของตน ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงออกจึงได้ลาออก

แต่ยืนยันที่จะทำหน้าที่ในปีนี้อย่างเต็มที่

 

กระนั่น ฟากไม่เอานายธนาธร อย่าง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

โจมตีว่า

“การเมืองไทยสิ้นไร้นักการเมืองดีๆ แล้วหรือ จึงเสนอชื่อนายธนาธร ซึ่งถูกยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง มาเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ ไม่น่าเชื่อว่าพรรคก้าวไกลที่ชอบอ้างว่าเป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ มีแนวความคิดใหม่ๆ แต่ไร้ซึ่งจริยธรรม ไม่มีความละอาย ไปเสนอชื่อคนที่มีมลทินทางการเมืองเข้ามาทำงานการเมือง ไม่ละอายทั้งคนที่เสนอชื่อและคนที่ถูกเสนอ แล้วเช่นนี้จะมาสร้างการเมืองใหม่ได้อย่างไร” พล.อ.สมเจตน์ระบุ

เช่นเดียวกับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้โจมตีว่า แม้ไม่ผิดกฎหมายก็จริง แต่ขาดจริยธรรมและไม่เหมาะสม จึงจะไปร้องประธานสภา ในเรื่องจริยธรรม

แม้จะมีเสียงคัดค้าน-ต่อต้าน

แต่กรณีนี้ หากย้อนไปเมื่อตอนพิจารณางบฯ ปี 2563

นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เคยทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ใช้อำนาจประธานสภา วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธร ซึ่งต้องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จะสามารถดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้หรือไม่

ปรากฏว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า เราอนุญาตให้เป็นกรรมาธิการได้ทั้ง ส.ส.และคนนอก จึงต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก บทบาทการเป็น ส.ส.ทำไม่ได้ แต่บทบาทของกรรมาธิการวิสามัญเป็นอีกเรื่อง ต้องแยกให้ออก ฝ่ายสภามีความเห็นว่าเขาสามารถทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการได้ แต่ภายในกรอบว่าถ้าอะไรที่เกี่ยวกับบทบาทของความเป็นผู้แทนฯ ก็จะทำไม่ได้

 

จากความเห็นดังกล่าว ทำให้การออกมาคัดค้านของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.

หรือการออกมาคัดค้านของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ

เป็นเพียง “พิธีกรรม” ในทางการเมือง

แต่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างที่ 2 พี่น้องนักการเมืองในตระกูล “ปริศนานันทกุล” แห่งจังหวัดอ่างทอง ยืนยัน

นั่นคือ

“สิ่งที่น่าละอายไม่ใช่การเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ่งที่น่าละอายคือทัศนคติคิดลบและคับแคบมากกว่า มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดห้ามผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นกรรมาธิการบ้าง” นายภราดา ปริศนานันทกุล ระบุ

ขณะที่นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล เห็นว่า

“ผมไม่แน่ใจว่าใครน่าละอายกว่ากัน หากท่านอยากเห็นการเมืองแบบใหม่ก็ต้องหยุดพฤติกรรมการเมืองแบบเก่า เริ่มจากตัวเรา ตัวท่านเลยครับ”

 

จึงเด่นชัดว่า นายธนาธรเป็นกรรมาธิการได้

และแน่นอนย่อมเป็น “หนาม” ให้ฝั่งฟากรัฐบาลรำคาญใจ

ยิ่งเมื่อพรรคก้าวไกลโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะเสนอให้มีการปรับตัวเลขงบประมาณครั้งใหญ่ เช่น โครงการซื้อเรือดำน้ำ รวมถึงเสนอจะตัดงบฯ ของกระทรวงกลาโหม 11,000 ล้านบาท เพื่อไปเพิ่มดีกรีความพร้อมทางสาธารณสุขแทน

โดยจะโน้มน้าวสมาชิก กมธ.คนอื่น ให้เห็นด้วยและโหวตตัดงบฯ กลาโหมและ กอ.รมน.ให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม

แน่นอนท่าทีและจุดยืนเช่นนี้ ย่อมทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์

หงุดหงิดใจเพิ่มอย่างแน่นอน

 

นอกจากการเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณแล้ว

นายธนาธร ในนามคณะก้าวหน้า ยังประกาศส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งระดับ “ท้องถิ่น”

โดยเมื่อ 4 กรกฎาคม 2563 คณะก้าวหน้าได้เปิดอบรมว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

มีทีมผู้สมัคร อบจ. 17 จังหวัดเข้าร่วม

ชูวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. รัฐธรรมนูญใหม่ ทลายทุนผูกขาด ยุติรัฐราชการรวมศูนย์
  2. มีเป้าหมายในการส่งครั้งนี้มากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 4,000 แห่งทั่วประเทศจากองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,800 แห่ง

“การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการต่อสู้กับเผด็จการ ภายหลังยึดอำนาจเมื่อปี 2557 คสช.ได้ดึงอำนาจกลับเข้าสู่ส่วนกลางหมด ไม่ว่าจะเป็นการปลดนายกท้องถิ่น แต่งตั้งข้าราชการส่วนกลาง หรือแม้แต่ให้ทหารไปร่วมจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น” นายธนาธรระบุ

และประกาศว่า

“คณะก้าวหน้าพร้อมจะเขย่าการเมืองท้องถิ่น ดั่งพวกเราเคยเขย่าประเทศไทยมาแล้ว”

 

เป้าหมายที่ชูต่อต้านเผด็จการ ด้วยการเดินหน้าลุยเลือกตั้งท้องถิ่น

แน่นอน ย่อมกระทบกับฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ในขณะนี้อย่างหลีกเลี่ยงยาก

จึงเป็นการตอกย้ำว่า พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า รวมถึงนายธนาธรกับพวก

เป็นสิ่ง “อันตราย” กับขั้วอำนาจปัจจุบัน

จำเป็นต้องถูก “ขจัด” ต่อไป

ต่อไป ดังที่พรรคอนาคตใหม่ถูกไล่ทุบอย่างหนักหน่วง รุนแรงและแข็งกร้าวจาก “องค์กรอิสระ” ไม่ว่าจะเป็น “กกต.” หรือ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

จนมีการตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารซึ่งรวมถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล

แต่ทุกอย่างก็ยังไม่จบ

อย่างน้อยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ก็เด่นชัดว่านายธนาธรยังได้แสดงบทบาทในฐานะ “กรรมาธิการวิสามัญ” เคียงคู่กับพรรคก้าวไกล

ขณะที่คณะก้าวหน้าก็กำลังมุ่งสู่ชนบท ไปสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองฐานราก

หากสำเร็จย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “ใหญ่” อย่างแน่นอน

 

แต่นั่นคงไม่ได้รับความยินยอม หรือความเห็นชอบจากฝั่งกุมอำนาจในปัจจุบัน

ดังที่เราได้ยินคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เผลอหลุดออกมาในสภา

“มันไม่ทันใจท่านหรอกครับ ไม่ทันใจที่ท่านจะเปลี่ยนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเราได้ ไม่ทันใจหรอกครับ”

ซึ่งเป็นการเตือนตรงๆ ถึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ว่ามีสิทธิจะเจออะไรที่ไม่คาดฝันได้ตลอด

ตั้งแต่ทุบ ยุบ คุก!

ดังที่เตือนไว้ในสภา

        “ระวังตัวไว้ด้วยก็แล้วกัน”