‘ศักดิ์สยาม’ แจงสภา ยันพัฒนาถนนภาคใต้ โชว์แผนแม่บทผุด ‘มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ’ 8เส้นทาง ทั่วปท.

‘ศักดิ์สยาม’ แจงสภา ยันพัฒนาถนนภาคใต้ โชว์แผนแม่บทผุด ‘มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ’ 8เส้นทาง ทั่วปท.

“ศักดิ์สยาม”แจงสภา ยันพัฒนาถนนภาคใต้เต็มที่ เผยปี 64 เสนองบซ่อมบำรุงกว่า 1.6 หมื่นล. พร้อมกางแผนแม่บท ผุด”มอเตอร์เวย์ คู่รถไฟทางคู่” 8เส้นทาง เชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจทุกภูมิภาคกับด่านชายแดน ลดเวนคืน ดึงต่างชาติลงทุนPPP

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงคมนาคม ในประเด็นของ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า กระทรวงคมนาคมไม่เอาใจใส่ในการดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยขอชี้แจงว่า การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ภาคใต้ จะแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ

1. การบำรุงรักษาทางหลวงภาคใต้ ซึ่งมี 3 เส้นทาง ทางหลวงหมาย 4 (ถนนเพชรเกษม) ทางหลวงหมายเลข 41 และทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งมีการตั้งงบประมาณในการบำรุงรักษาตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 7,055.91 ล้านบาท และงบประมาณซ่อมบำรุงทางหลวงสายหลัก ภาคใต้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2563 ตั้งงบไว้ถึง 14,059 ล้านบาท ปี 2564 ได้เพิ่มเป็น 16,808 ล้านบาท เพื่อซ่อมบำรุงผิวถนน ทางหลวงสายหลักเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีความปลอดภัย ในการสัญจร ซึ่ง ทางหลวงหมาย 4 (ถนนเพชรเกษม) จากจังหวัดเพชรบุรี- สงขลา 1183 กม. งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 2,901 ล้านบาท

ทางหลวงหมายเลข 41 (ชุมพร-พัทลุง) งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 974 ล้านบาท และทางหลวงหมายเลข 42 (สงขลา-นราธิวาส) ระยะทาง 262 กม. งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 689 ล้านบาทโดยหลังการซ่อมบำรุงถนน จะมีการทดสอบสภาพ ซึ่งพบว่า มีค่าเฉลี่ยความเรียบถนนทั่วประเทศอยู่ที่ 78% แต่ถนนในภาคใต้มีค่าเฉลี่ยความเรียบสูงกว่า โดยอยู่ที่93.1% โดยทางหลวงหมายเลข 41 มีมาตรฐานความเรียบดีกว่าเกณฑ์ ที่ 89.5% ซึ่งอาจจะมีผิวทางบางช่วงที่มีสภาพไม่เรียบร้อย โดยกระทรวงคมนาคม ไม่ได้นิ่งนอนใจในการจัดสรรงบประมาณไปดูแล
ขณะที่งบประมาณการซ่อมบำรุงทางหลวงทั่วประเทศนั้น ในภาคใต้จะได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 4,519 ล้านบาท ภาคเหนือ ได้รับ 3,555 ล้านบาท ภาคกลาง ได้รับ 6,750 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับ 4,715 ล้านบาท เป็นสิ่งยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนภาคใต้และไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนในทุกภาคเช่นกัน โดยมีการบริหารงบประมาณเพื่อดูแลสภาพถนนทุกสายให้ประชาชนได้ใช้สัญจรอย่างปลอดภัย

2. การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้ มี 2 โครงการได้แก่ มอเตอร์เวย์สาย นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 79,006 ล้านบาท โดยคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ได้เห็นชอบแล้ว สำรวจที่ดินและทรัพย์สินเวนคืนแล้ว โดยเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทบทวนการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมอเตอร์เวย์สาย หาดใหญ่ – ชายแดนไทย/มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 71 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 40,620 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว และรายงานEIA ผ่าน คชก.แล้ว การศึกษา PPP เสร็จแล้ว
.
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า จากปัญหาการออกแบบและก่อสร้างถนน ที่ผ่านมา เส้นทางไม่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายที่สมบูรณ์ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ กระทรวงคมนาคมศึกษามอเตอร์เวย์ที่สามารถเชื่อมต่อทั่วประเทศ ภายใต้กรอบ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. ถนนแนวตรงเพื่อให้เกิดการสัญจรสะดวก ลดอุบัติเหตุ 2. ไม่ผ่านเข้าชุมชน เพื่อไม่ซ้ำแนวถนนเดิมและมีปัญหาเวนคืน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3. พัฒนาความเจริญสู่พื้นที่ใหม่ 4. สร้างชุมชนเมืองใหม่ 5. แยกการจราจรในเมือง (Local Traffic) ออกจากการเดินทางระหว่างเมือง (Through Traffic) โดยกระทรวงคมนาคมเห็นว่า การแยกศึกษามอเตอร์เวย์อย่างเดียวจะมีปัญหา เนื่องจากระบบโลจิสติกส์ทางบก มีเส้นทางรถไฟด้วย ซึ่งนโยบายต้องการใช้ระบบรางในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางของอาเซียนตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการพัฒนาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นแผนแม่บท MR-MAP (มอเตอร์เวย์ –รถไฟทางคู่) รวม 8 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจทุกภูมิภาคของประเทศกับด่านชายแดน ประเทศเพื่อนบ้าน คือ

1. แนวเหนือ – ใต้ จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,620 กม. ได้แก่ N1 เชียงราย (ด่านแม่สาย) – สงขลา (ด่านสะเดา) ระยะทาง 1,60 กม., N 2 – หนองคาย- แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม., N 3 บึงกาฬ – สุรินทร์ (ด่านช่องจอม เพื่อเชื่อมประเทศกัมพูชา) ระยะทาง 470 กม.
2. แนวตะวันออก – ตะวันตก จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,310 กม. ได้แก่ W1 ตาก (ด่านแม่สอด) – นครพนม ระยะทาง 710 กม., W2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี ระยะทาง 830 กม. ,W3 กาญจนบุรี – สระแก้ว ระยะทาง 310 กม., W4 กาญจนบุรี (ด่านบ้านพุน้ำร้อน) – ตราด ระยะทาง 220 กม. , W5 ชุมพร-ระนอง (ด่านบ้านดอน) ระยะทาง 120 กม. ,W6 ภูเก็ต – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 190 กม.

ในปี 2564 จะเป็นการศึกษาแผนแม่บท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่งประโยชน์จากการบูรณาการพัฒนามอเตอร์เวย์ – ทางรถไฟ 1. ลดผลกระทบต่อชุมชน 2. สร้างความคุ้มค่าในการลงทุน 3. กระจายความเจริญเข้าสู่ทุกภูมิภาค 4. ส่งเสริมการพัฒนาเมือง 5. พัฒนาเศรษฐกิจ 6. พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนนอกจากนี้ยังลดการลงทุนภาครัฐ ด้านค่าเวนคืนและลดการลงทุนโดยเปิดให้เอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุน