บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ รำพึงของ ‘ปิยบุตร’ กรณีหมอ-พยาบาลฝรั่งเศส

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

รำพึงของ ‘ปิยบุตร’

กรณีหมอ-พยาบาลฝรั่งเศส

โพสต์ของปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

โพสต์นั้นเขียนว่า

“ที่ปารีส หมอและพยาบาลทำงานอย่างหนักในช่วงโควิด-19 แต่เมื่อพวกเขาออกมาประท้วง ชุมนุม เรียกร้อง เรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการของพวกเขา นี่คือสิ่งที่พวกเขาได้รับ

ขึ้นชื่อว่า ‘รัฐ’ ไม่ว่าประชาธิปไตย หรือเผด็จการ เมื่อไรก็ตามที่พลเมือง ประชาชน พร้อมใจกันลุกขึ้นต่อต้านระบอบที่เป็นอยู่ ทลาย ‘กล่องดวงใจ’ ของรัฐนั้นๆ รัฐก็พร้อมที่จะบดขยี้เราทันที ปัญหาก็คือว่า ‘รัฐ’ คืออะไร ‘รัฐ’ มีไว้ทำไม?

ถ้าประชาชนยอมสละเสรีภาพ ยอมสละทรัพย์สินเพื่อ ‘รัฐ’ ด้วยหวังว่า ‘รัฐ’ จะคุ้มครองดูแลเรา เมื่อ ‘รัฐ’ ไม่ได้ทำภารกิจเช่นว่า แต่มุ่งปกป้องคุ้มครองจัดหาทรัพยากร อำนาจ ประโยชน์โภชน์ผลให้แก่คนไม่กี่คน เช่นนี้ เราจะมี ‘รัฐ’ ไปทำไม? เราจะเสียสละให้ ‘รัฐ’ ไปทำไม?.”

โพสต์ดังกล่าวของปิยบุตร เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่บรรดาแพทย์และพยาบาล รวมทั้งบุคลากรการแพทย์หลายพันคนในกรุงปารีส ของฝรั่งเศส ได้ออกมาประท้วงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน เพื่อขอให้รัฐบาลปรับปรุงสภาพการทำงานของพวกเขาให้ดีขึ้น เพราะปัจจุบันสภาพการทำงานเลวร้าย ทั้งรายได้ต่ำ ขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในขณะที่พวกเขาต้องทำงานหนักเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในชาติที่ติดเชื้อและเสียชีวิตมากอันดับต้นๆ ของโลก

ตำรวจปราบจลาจลตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมและมีผู้ถูกจับกุมไปอย่างน้อย 16 คน

โดยกรณีหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากสำหรับการทำหน้าที่ของตำรวจ เมื่อมีคลิปเผยแพร่ว่อนโลกโซเชียล เผยให้เห็นพยาบาลหญิงคนหนึ่งวัย 50 ปี ถูกตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจับกุม ด้วยการจิกและลากผมพร้อมกับใส่กุญแจมือไพล่หลัง มีเลือดออกบริเวณใบหน้า

 

อย่างที่ทราบกันมาโดยตลอดว่า ปิยบุตรมักใช้ฝรั่งเศสเป็นแม่แบบในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในประเทศไทยมาโดยตลอด เขาและคณะพูดบ่อยๆ ว่าจะสานต่อภารกิจ 2475 ให้สำเร็จ

เมื่อนึกถึงปิยบุตร ต้องนึกถึงฝรั่งเศส และปฏิวัติฝรั่งเศส จนอาจกล่าวได้ว่า ปิยบุตรกับปฏิวัติฝรั่งเศสต้องเป็นของคู่กัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ ขาดแล้วจะไม่อร่อย เสียรสชาติ

การปฏิวัติฝรั่งเศส ในความหมายที่ชัดเจนก็คือ การโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ เพื่อยึดอำนาจจากกษัตริย์มาเป็นของประชาชน

ฝ่ายเชียร์การปฏิวัติ มักพูดถึงแต่ด้านดี โดยเฉพาะการนำอำนาจมาอยู่ในมือประชาชน แต่แท้จริงแล้วมีความโหดร้ายของฝ่ายรักประชาธิปไตยอยู่มาก เพราะมีการประหารคนในราชวงศ์และชนชั้นสูงมากถึง 17,000 คน

แม้แต่คนทั่วไปที่ทำงานรับใช้ชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นเชฟบัตเลอร์ ก็ถูกฆ่า เช่น เชฟส่วนตัวของพระนางมารีอองตัวเนตต์ ก็ถูกโรเบสปิแอร์ แกนนำโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ซึ่งต่อต้านและเกลียดชังชนชั้นสูงอย่างรุนแรง สั่งฆ่า เพียงเพราะเชฟผู้นี้ไปขอให้มีการจ้างงานและจ่ายค่าจ้างย้อนหลังแก่บรรดาคนรับใช้ของชนชั้นสูง เนื่องจากการโค่นล้มชนชั้นสูงทำให้คนรับใช้ตกงานจำนวนมาก

โรเบสปิแอร์พูดใส่หน้าเชฟคนนี้ว่า “การปฏิวัติไม่ได้ต้องการอาชีพเชฟ” เสร็จแล้วก็สั่งฆ่า ส่วนกุ๊กอีกคนหนึ่งชื่อ Eug?ne-El?onore Gervais ที่รวบรวมอดีตลูกจ้างของชนชั้นสูงไปเรียกร้องจากรัฐบาลสามัญชนเพื่อของาน ก็ถูกจำคุก 9 ปี

การปฏิวัติฝรั่งเศสคราวนั้นประเมินว่ามีอดีตคนรับใช้ของชนชั้นสูงทั่วฝรั่งเศสตกงานราว 2 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ 28 ล้านคน หรือเท่ากับว่า 1 ในทุก 12 คนจะตกงาน คนเหล่านี้จึงต้องหางานใหม่ทำ มีเชฟจำนวนไม่น้อยที่ต้องเดินทางไปหางานในปารีส ส่งผลให้ในไม่ช้าก็มีการเปิดร้านอาหารมากมายในปารีส

ในปัจจุบัน ฝรั่งเศสถือเป็นชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมอาหาร ใครๆ ก็อยากไปเรียนทำอาหารที่ปารีสหากอยากเป็นเชฟที่มีค่าตัวสูง จะเห็นว่าแม้โรเบสปิแอร์จะบอกว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ต้องการอาชีพเชฟ แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้อาชีพเชฟ เป็นอาชีพที่มีเกียรติและรายได้ดี และเป็นส่วนสำคัญของความเป็นฝรั่งเศส

โรเบสปิแอร์เป็นนักกฎหมายหนุ่มวัย 30 เศษ เช่นเดียวกับที่ปิยบุตรก็เป็นนักกฎหมายจบจากฝรั่งเศส และน่าจะมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ เห็นได้จากการแสดงออกทางคำพูดอยู่หลายวาระ

 

การโพสต์ของปิยบุตร เกี่ยวกับแพทย์และพยาบาลในฝรั่งเศส ที่ถูกกระทำอย่างรุนแรงจากตำรวจในรัฐบาลของประธานาธิบดีหนุ่มสุดของฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง น่าจะต้องการกระทบเสียดสีมาถึงรัฐบาลไทย

แต่ในขณะเดียวกันคล้ายกับจะยอมรับว่า รัฐบาลประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ก็ไม่ต่างกัน คือพร้อมจะบดขยี้ประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ย้อนแย้งกับความเชื่อของปิยบุตรและพรรคพวกที่ว่าประชาธิปไตยดีเสมอ ฝรั่งเศสคือแม่แบบที่ปิยบุตรอยากให้ไทยเอาอย่างตาม โดยเฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์

ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส โรเบสปิแอร์บอกว่ารักความเสมอภาค แต่กลับมีความเกลียดอยู่เต็มหัวใจต่อใครก็ตามที่เห็นว่าอยู่ตรงข้ามกับเขา จึงสั่งประหารด้วยกิโยตินไปหมื่นกว่าคน

ถามว่า พฤติกรรมแบบโรเบสปิแอร์เป็นแบบอย่างของคนที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือ เป็นลักษณะของคนที่เข้าใจประชาธิปไตยแท้ๆ หรือ เพราะดูไปแล้วเขาโหดร้ายยิ่งกว่าคนชั้นสูงที่เขาเกลียดเสียอีก

 

ประธานาธิบดีคนหนุ่มของฝรั่งเศส ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะทำให้คนรักประชาธิปไตยอย่างปิยบุตรผิดหวัง

สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรเบสปิแอร์ คนหนุ่มรักประชาธิปไตย (แต่ไม่รักชีวิตคน) เมื่อ 230 ปีที่แล้ว หรือเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีหนุ่มที่สุดในยุคปัจจุบัน สะท้อนว่าไม่มีอะไรรับประกันว่าเมื่อประเทศตกอยู่ในมือคนหนุ่ม-สาว จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น

มาครงในปัจจุบัน ก็ไม่ต่างจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กลับชาติมาเกิด เพราะเขาถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องความฟุ่มเฟือยหรูหรา ทั้งการใช้งบฯ แต่งหน้า 1 ล้านกว่าบาทในช่วงเวลาแค่ 3 เดือน ซื้อจานชามชุดใหม่เกือบ 2 ล้านบาทไว้ประจำทำเนียบ และจัดงานเลี้ยงวันเกิดหรูหราที่พระราชวังชองโบด์ ซึ่งมี 400 ห้อง สร้างในสมัยกษัตริย์ฟรองซัวส์ที่ 1 ในขณะที่ประชาชนกำลังทุกข์ยากจากภาระภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บเพิ่มขึ้นและปัญหาความปลอดภัยในชีวิต

อดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้าของปิยบุตร เน้นจุดขายเรื่องการให้คนหนุ่ม-สาวมาบริหารประเทศเพื่อให้ประเทศมีประชาธิปไตยและความเท่าเทียม

คำถามคือ ถ้าคนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้เข้าสู่อำนาจ จะมีอะไรรับประกันว่าพวกเขาจะไม่กลายเป็นโรเบสปิแอร์ หรือเอ็มมานูเอล มาครง

ยิ่งเป็นกรณีของโรเบสปิแอร์นั้น นับว่าน่ากลัว เพราะเขาสามารถฆ่าคนได้ในนามประชาธิปไตย