E-DUANG : “ความหมาย”ทางประวัติศาสตร์ของ”หมุด”

ไม่ว่าการหายไปของ “หมุดคณะราษฎร” ไม่ว่าการเข้ามาแทนที่ของ “หมุดหน้าใส”

ล้วนมี “คุณูปการ”

แม้ท่าทีจาก “กรมศิลปากร”จะค่อนข้างเฉยเมย ไม่ยอมรับในความเป็น”โบราณวัตถุ”แม้จะมีมาตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2479

แต่”หมุดคณะราษฎร”ก็มี “สถานะ”เป็นของตนเอง

แม้คนรุ่นใหม่จะหงุดหงิดอย่างยิ่งกับการเข้ามาและดำรงอยู่ของ”หมุดหน้าใส”

แต่”ทหาร”และ”ตำรวจ”ก็ประคบประหงมอย่างอบอุ่น

เพราะการเข้ามาของ”หมุดหน้าใส”นั่นเองทำให้สง่าราศีบังเกิดกับ”หมุดคณะราษฎร”

เกิดการถวิลหา”24 มิถุนายน 2475″

 

นายตำรวจบางคนอาจสนใจอย่างหนักแน่นในเรื่อง”ทรัพย์สิน”และใครเป็นเจ้าของ”มรดก”

แต่หากถามว่า”ศิลาจารึก”มีสถานะอย่างไร

ยอมรับกันว่า พ่อขุนรามคำแหง เป็นเจ้าของ แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าจะอยู่ในความยึดครองของ พญาลิไท เพียงผู้เดียว

ตรงกันข้าม คนไทยรับรู้ในความเป็นเจ้าของ

เหมือนกับ “สมุทโฆษคำฉันท์” ของ พระยาโหราธิบดี ก็ใช่ว่าจะเป็นสมบัติของ”ศรีปราชญ์”เท่านั้น

หากเป็นของคนไทย เป็นของคนที่รักวรรณคดี

นี่ย่อมเป็นคุณค่าในทาง “ประวัติศาสตร์” นี่ย่อมเป็นคุณค่าในทาง”วรรณคดี”ในทางวรรณกรรม

เหมือนกับการดำรงอยู่ของ”หมุดคณะราษฎร”

 

ท่าทีของ”ตำรวจ”บางนาย ท่าทีของ”ทหาร”บางนาย รวมถึงท่าทีของ “พลเรือน”จำนวนหนึ่ง

จึงเป็นท่าทีที่”แปลก”อย่างน่า”ประหลาด”

เหมือนกับจะทอนบทบาทและความหมายของ”หมุดคณะ ราษฎร” เหมือนกับจะทอนบทบาทของ 24 มิถุนายน 2475

เพื่อเชิดชูความหมาย”หมุดหน้าใส”สูงเด่น

เหมือนกับจะปฏิเสธ”อดีต” แต่ให้ความสำคัญกับ”ปัจจุบัน” มากกว่า

เท่ากับตัดทอน”ความเป็นจริง”

เท่ากับละเลยความหมายในทาง”ประวัติศาสตร์