โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/มงคล-พระกริ่งไตรมาส หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ วัดพระพุทธบาทชนแดน

หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

 

มงคล-พระกริ่งไตรมาส

หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ

วัดพระพุทธบาทชนแดน

 

‘พระครูวิชิตพัชราจารย์’ หรือ ‘หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ’ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทชนแดน พระเกจิชื่อดังที่ชาวเมืองเพชรบูรณ์เคารพศรัทธา ด้วยมีเมตตากรุณา ไม่เลือกชั้นวรรณะ และมีอิทธิปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏ จนได้รับสมญา “เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก”

วัตถุมงคลมีมากมายหลายประเภท ทั้งรูปหล่อโลหะ เหรียญ ตะกรุด แหวน ฯลฯ ล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหา ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง หนึ่งในนั้น “พระกริ่งไตรมาส หลวงพ่อทบ วัดชนแดน” จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2515

อนุญาตให้คณะกรรมการวัดโบสถ์โพธิ์ทอง จัดสร้างพระกริ่ง เป็นรุ่นไตรมาส ซึ่งปลุกเสกทุกวันตั้งแต่เข้าพรรษาจนถึงออกพรรษา เพื่อมอบให้ผู้ที่ร่วมทำบุญร่วมสร้างกุฏิสงฆ์แทนกุฏิเก่าที่หักพัง ที่วัดโบสถ์โพธิ์ทอง หลังออกพรรษา วันที่ 29 ตุลาคม 2515

ถือเป็นที่สุดของวัตถุมงคลหลวงพ่อทบ ด้วยการสร้างตามตำราสร้างพระกริ่งแต่โบราณ

ประกอบด้วยโลหะมงคล 9 ชนิด ได้แก่ ทองคำ ทองแดง เงินบริสุทธิ์ ตะกั่ว ชิน สังกะสี ดีบุก เหล็กละลายตัวเข้าน้ำเงิน และแผ่นโลหะที่หลวงพ่อทบปลุกเสก

โดยมีพระมั่นกับเฒ่าคง เป็นผู้จุดเทียนชัย พระชื่อมหานิยม เป็นผู้เทโลหะลงเบ้า

หลวงพ่อทบบอกว่า เป็นเคล็ดอันเป็นสิริมงคล สร้างตามกรรมวิธีสร้างพระกริ่งแบบโบราณ โดยเทโลหะที่หลอมแล้วลงเบ้าดิน ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ และโลหะทั้ง 9 ชนิด ก่อนนำมาแต่งด้วยมืออีกครั้ง ซึ่งสร้างทั้งหมดเพียง 300 องค์ จากนั้นทำลายแม่พิมพ์

มอบให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญ 300 บาท จำนวน 1 องค์

จัดเป็นยอดของพระกริ่งเมืองเพชรบูรณ์ ที่นักสะสมพระเครื่องไม่ควรพลาด

พระกริ่งไตรมาส หลวงพ่อทบ

 

เกิดในสกุลม่วงดี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2424 ที่บ้านยางหัวลม ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

ในช่วงวัยเยาว์ เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี จึงไม่ค่อยเดือดร้อนและลำบากเท่าใด

เมื่ออายุได้ 16 ปี บิดาได้นำไปฝากให้พระอาจารย์สี วัดช้างเผือก ต.วังชมพู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ให้บวชสามเณร ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและวิทยาคมจากพระอาจารย์สี

พ.ศ.2445 เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดศิลาโมง ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยมีพระครูเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ปาน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า ธัมมปัญโญ หมายถึง ผู้มีความรู้ในพระธรรม

ย้ายไปจำพรรษาที่วัดช้างเผือก เพื่อศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมจากพระอาจารย์ปาน จนมีความเชี่ยวชาญ จากนั้นได้ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ บำเพ็ญภาวนา แสวงหาสถานที่สัปปายะทำกัมมัฏฐาน ขณะเดียวกัน ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ

ในขณะออกท่องธุดงค์ ได้มีโอกาสพบกับหลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต พระเกจิชื่อดัง คนบ้านตะลิ่งชัน ต.ชอนไพร อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ แต่มีอายุและพรรษามากกว่า จึงเรียกว่า “หลวงพี่” ทุกครั้งไป

ทั้งสองท่านเป็นสหายธรรมที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด

 

สร้างวัตถุมงคลไว้มากมาย อาทิ พระผง รูปหล่อ มากกว่า 200 พิมพ์ รูปหล่อหน้าฝรั่ง รูปหล่ออกซื่อ และรูปหล่อหัวไม้ขีด เป็นต้น ในส่วนของเครื่องราง คือ ตะกรุดโทน ถักด้าย ถือว่าเป็นที่นิยมมากที่สุดของบรรดาเซียนพระ มีพุทธคุณแคล้วคลาดปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน

นอกจากนี้ ยังได้สร้างวัด ศาลาการเปรียญ อุโบสถให้แก่วัดต่างๆ มากมาย อีกทั้งบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะของวัดที่ชำรุดทรุดโทรม

เมื่อเดินธุดงค์ไปยังพื้นที่เขต อ.ชนแดน ชาวบ้านพากันนิมนต์ให้สร้างวัดพระพุทธบาทเขาน้อย ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ แห่งหนึ่ง โดยได้สร้างวัด สร้างกุฏิ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ จนเจริญรุ่งเรือง จนได้รับการยกฐานะให้เป็นวัดประจำเภอ

พ.ศ.2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2497 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอชนแดน และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูวิชิตพัชราจารย์

มรณภาพเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2519 สิริอายุ 95 ปี

 

ทั้งนี้ ก่อนที่หลวงพ่อจะมรณภาพ ท่านได้สั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายว่า ห้ามไม่ให้เผาร่างของท่าน ด้วยในวันข้างหน้า ร่างของท่านจะมีคุณประโยชน์ต่อวัดอย่างมาก

คณะศิษย์นำร่างบรรจุไว้ในโลงแก้ว ต่อมาจังหวัดเพชรบูรณ์เข้ามาบูรณะ ปรับภูมิทัศน์ สร้างรูปเหมือน สร้างมณฑป ให้เป็นที่ตั้งโลงแก้ว เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา

ปัจจุบัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในแต่ละวันจะมีประชาชนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดพากันมากราบสักการะร่างที่ไม่เน่าเปื่อยทุกวัน

ร่างกายที่ไม่เน่าเปื่อยและกลายสภาพเป็นหิน สงบนิ่งอยู่ภายในโลงครอบแก้ว เหมือนกับว่ายังไม่มรณภาพ

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่