ทราย เจริญปุระ | เลี้ยงข้าวเพื่อน

ฉันเสียใจตรงที่เก็งผิด ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินน่าจะประกาศเลิกใช้ตอนสิ้นเดือนพฤษภาคม

ใครจะไปคิดว่า พ.ร.ก.ที่ดูทั้งเกินความจำเป็นและซ้อนทับกับกติกาที่มีอยู่แล้วอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะถูกใช้อย่างยืดเยื้อแบบไม่ได้ดูมิติอื่นๆ ของสังคมขนาดนี้

และวันที่เขียนอยู่นี่ก็กระชากออกไปจนถึงเดือนหก แถมกำหนดเวลาประหลาดพิลึก เว้นช่องแบบพอให้ได้รู้ว่ากูควบคุมอยู่นะ อย่าได้คิดเหิมเกริมใดๆ ไอ้พวกคนบาปผู้ทำหากินยามราตรี เป็นภาระสังคมเสียเหลือเกิน

แต่พูดไปทำไมมี มาขนาดนี้แล้วคงต้องโทษตัวเองว่ายังกล้าจะหวังว่าผู้มีอำนาจเขาจะตัดสินใจโดยรวมเอาองค์ประกอบสำคัญอย่างประชาชนพลเมืองเข้าไปในสมการ

ห้ามแล้วยังหวดฟาดด้วยคำศัพท์หรูหราสารพัด ที่ฟังแล้วให้รู้สึกว่าเรานี้มันช่างต้อยต่ำและไร้สุนทรียะ ที่ดันต้องการแค่คำแถลงการณ์แจ้งสถานการณ์ล่าสุดในภาพรวมแบบทันเวลา

แต่กลายเป็นว่าแถลงการณ์นั้นเหมือนถูกเขียนโดยครูประถมที่สาดใส่ทั้งคำเปรียบคำเปรยคำสอนมาอย่างเต็มที่

ชวนให้คิดถึงสมัยพ่อขุนฯ ที่ให้ไพร่ทาสไปเขย่ากระดิ่งร้องทุกข์กันได้

เพราะทางหนึ่งก็มองไปว่าเป็นห่วงเป็นใยละเอียดลออเหลือเกินในทุกรายละเอียดของชีวิตคนฟัง จนร่ำๆ จะพนมมือเปล่งสาธุออกมาโดยพร้อมเพรียง

แต่ที่มองเห็นวูบแรกคือ เขาไม่ได้เห็นเราเป็นพลเมืองเสมอกัน แต่เป็นอ้ายอีที่จักต้องดูแลไว้ใช้งานส่งส่วย หาข้าวหาน้ำป้อนแก่ส่วนกลางต่อไป

เป็นแรงงานที่ไม่มีอะไรต้องให้รู้ให้เข้าใจเยอะ สั่งอะไรก็ไปทำเข้าแล้วกัน ทำไม่ได้จะด้วยเหตุใดก็อย่ามาอ้าง ให้ถือว่าทั้งหมดเป็นความผิดส่วนตัว ที่ทั้งขี้เกียจแลงอมืองอตีน เป็นตัวถ่วงภาระสังคม

บ่นมาครึ่งทางนี่ก็เพื่อจะบอกว่าโครงการ (เรียกเสียยิ่งใหญ่เกินจริงไปมาก แต่ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรเข้าท่า จะทับศัพท์ว่าโปรเจ็กต์ก็เขินตัวเอง เพราะมันไม่ได้เก๋ไก๋อะไรขนาดนั้น) “เลี้ยงข้าวเพื่อน” ของฉันนั้นตัดจบไปตั้งแต่ปลายเดือน 5 เพราะทุนนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่ต้องให้พักกันไปเพราะเกรงใจทุกๆ ส่วนที่ร่วมกันในโครงการ

ด้วยว่า พ.ร.ก.นั้นอาจจะยืดยาวต่อไปก็จริง แต่มาตรการลักปิดลักเปิดที่เรียกว่าความปกติใหม่นั้นเริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งก็เพิ่มกติกาชีวิตให้คนอีกมาก ทั้งผู้ประกอบการ และฝ่ายผู้บริโภค (ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็สามารถเป็นได้ทั้งสองอย่าง หรือกลับกันได้เสมอ) ถ้ายังต้องกังวลกับการช่วยเหลือดูแลคนอื่น จนกลายเป็นลำบากตัวเองฉันก็ว่าจะผิดจุดประสงค์ไปอย่างสิ้นเชิง

จุดอ่อนของพวกเราก็คือความใจดี ซึ่งก็เป็นจุดแข็งไปด้วยในเวลาเดียวกัน และทั้งที่มีคนวิเคราะห์สาเหตุมากมายว่าทำไมคนไทยใจดี แต่ฉันว่าสาเหตุหลักมีเพียงหนึ่งเดียว

คือเราต่างรู้กันดีในหัวอก ว่าเราพึ่งใครไม่ได้

เรื่องสวัสดิการรัฐดูเลื่อนลอยและมีแต่ข้อให้เกี่ยงงอน คนนั้นจ่ายน้อย คนนี้จ่ายมาก โดยน้อยนักที่จะคิดว่ามันไม่ใช่การจ่ายหรือการให้ทาน แต่รัฐต้องชุบเลี้ยงเราอย่างดี เพราะเราเป็นแขนเป็นขา เป็นมือเป็นตีนของรัฐที่หาเงินหรือขายแรงมาแลกกับตำแหน่งพลเมือง มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในมิติต่างๆ กัน

ไม่ใช่คนมารอแจกของตามโรงทาน

เราเลยได้เห็นข่าวประเภทช่วยคนผิด ไปส่งเสริมความรุนแรงให้หนักขึ้น หรือข่าวที่คนบ่นกันขรมเรื่องคุณลุงแท็กซี่ที่ได้เงินบริจาคไปเป็นหลักล้าน

ตัวฉันนั้นไม่เห็นว่าคุณลุงผิด คุณลุงไม่ได้หลอก ไม่ได้ข่มขู่ ไม่ได้ยัดเยียด คุณลุงแค่เล่าเรื่องของตัวเอง

คุณอย่าไปโกรธอะไรแกเลย เรื่องของลุงคือหนึ่งในอีกแสนเรื่องล้านเรื่องของคนในประเทศนี้ ที่ติดคาอยู่กับกำแพงชนชั้นเศรษฐกิจและไปต่อไม่ได้ เปลี่ยนมาร้อยคนก็ได้อีกร้อยเรื่องแบบไม่มีใครด้อยกว่าใคร

จนมาถึงเรื่องตู้บริจาค ก็จะต้องมีกติกาและขีดเส้นใส่ดอกจันเหนือคำว่าฟรีไว้ถี่ยิบ ว่าคุณต้องเป็นคนจนมากพอ น่าเศร้ามากพอ รันทดมากพอ มารยาทดีมากพอ และเจียมตัวพอ ถึงจะมาหยิบไปได้อย่างเพียงพอ

พอมีคนขี่รถเครื่องมาโกยของบริจาค

ก็กลายเป็น, มีมอเตอร์ไซค์ทำไมต้องมารับของ?

เอ้า ก็ถ้าขายมอเตอร์ไซค์ก็ไม่เหลืออะไรแล้วสิ

องคาพยพของเมืองมันไม่เอื้อให้มนุษย์ช่วยเหลือกันหรือช่วยเหลือตัวเอง บ้านอยู่ซอยลึกสุดไกล เพิงพักคนงาน หมู่บ้านเบียดอัด มีรถเครื่องอยู่แค่สองสามคันกับไม่รู้อีกกี่ปากท้องที่รอคอย

ยิ่งบวกกับแนวคิดเจ้าขุนมูลนายว่าทุกคนไม่เท่ากันตามชาติกำเนิด การทำหน้าที่ให้คนมีชีวิตที่ดีคือการทำทานจากน้ำใจส่วนตัว โดยไม่ได้บวกตัวเองเข้าไปในระบบก็ยิ่งเลือกมาก จนฉันเริ่มคิดว่าอีกนิดคงระบุเวลาตกฟากคนมารับของ ว่าให้ต้องชะตากัน

ไม่มีใครถามว่าเขาอยากได้อะไร

มีแต่บอกกับตัวเองว่าเราอยากให้อะไร

เอ้า ว่าจะเขียนเรื่องเลี้ยงข้าวเพื่อน ก็ไหลมาตรงนี้เสียได้

ก็นั่นแหละ ฉันเลี้ยงข้าวด้วยความคิดว่า อย่างไรมนุษย์ก็ต้องกิน กินทุกวัน วันละสามมื้อเป็นหลัก และการสรรหากินก็ไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่แค่ผู้มีเงินจะเลือกเท่านั้น แต่ใครๆ ก็ควรจะได้อิ่มท้องด้วยอาหารที่มีปริมาณและคุณภาพเหมาะสมแก่การดูแลร่างกาย

ฉันไม่ได้หวงห้ามว่าจะต้องมาแข่งจนหรือแข่งลำบากเพื่อแลกอาหาร

คุณจะมีเงินอยู่ในตัวก็ได้ ขับรถมากินก็ได้ เราทุกคนรู้ดีว่าทุกก้าวกระดิกในบ้านเมืองนี้เป็นเงินเป็นทองที่เราหามาด้วยตัวเอง เพื่อดูแลตัวเอง

สภาวะแบบนี้ค่าใช้จ่ายกระโดดโลดขึ้นแบบพรวดๆ ทั้งค่าหน้ากากผ้า ค่าสบู่ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ชั่วโมงทำงานที่ถูกบีบให้ลดลงพร้อมค่าแรง ระยะโรคที่ไม่เคยไปถึงเฟส 3 เสียที เพราะรัฐไม่อยากออกประกาศ ขืนบอกไปก็ต้องมาจ่ายค่าชดเชยให้ห้างร้านต่างๆ เป็นโกลาหล ก็เลยคามันไว้ที่จะสามมิสามแหล่แบบนี้ ให้ไปดิ้นรนกันเอาเอง

ไอ้ค่าทั้งหลายที่ร่ายมาก็กินเงินเลี้ยงชีพไปไม่น้อย ตัวคนเดียวอาจไม่เท่าไหร่ แต่ใครที่มีครอบครัวต้องดูแล คุณก็คูณเข้าไปเถิด ว่ามันจะดูดเงินไปขนาดไหนแบบไม่มีทางเลี่ยง ฉันเลยคิดว่าถ้าประหยัดค่าข้าวให้เขาได้สักสองมื้อก็เป็นเงินร่วมร้อย ให้คนได้เก็บงำไปใช้ในทางจำเป็น (ซึ่งจำเป็นในที่นี้คือจำเป็นของเขา จะเป็นเหล้า กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง บุหรี่ ยาเส้น หมากฝรั่ง ฯลฯ ถ้าเขาต้องการคือจำเป็นทั้งนั้น) รวมไปถึงร้านต่างๆ ในโครงการ ที่ฉันจัดสรรเงินก้อนให้ได้ไปหมุนใช้ ซื้อของสดมาจัดทำอาหาร ทั้งขายทั้งเลี้ยง เพื่อจะได้ซื้อของในจำนวนที่ถูกกว่า ซื้อปลีกนั้นราคาแพงและบริหารยาก ซื้อเหมาทีละเยอะๆ วันละยี่สิบหัว สิบวันยี่สิบวันนั้นเห็นน้ำเห็นเนื้อและบริหารง่ายกว่าทั้งงบประมาณและชีวิต

เวลาใครถามฉันก็จะอ้างอิงสเตตัสของพี่ท่านหนึ่ง ที่เล่าถึงธรรมเนียมเลี้ยงกาแฟในอิตาลี ที่คนมาก่อนมีการจ่ายเผื่อไว้ให้คนมาทีหลัง หรือไอเดียคูปองของน้องแฟรงค์ เนติวิทย์ ที่เหมาร้านข้าวเล็กๆ ให้จัดทำเพื่อเลี้ยงคนที่จำเป็น มันมีทั้งความนิรนามแบบไม่ต้องเอามาลำเลิกกัน และยังเหลือที่ทางให้กับทุกคนได้ทำในสิ่งที่ต้องทำ ต้องกิน โดยยังให้เขาได้มีศักดิ์ศรีเอาไว้ใช้ชีวิตต่อไป

แต่เหตุผลหนึ่งที่ฉันไม่เคยบอกใครก็คือเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง

ฉันไม่แน่ใจเสียแล้วว่าผ่านตามาจากไหน จากรายงานข่าวหรือการไปพูดคุยของใครสักคน แต่เรื่องของพี่คนนี้ก็คือ บ้านเขาอยู่นนทบุรี ต้องตื่นแต่เช้า เพื่อรอรถเมล์ฟรีนั่งเข้าไปในเมืองแถวราชดำเนิน เพื่อรอรับข้าวกล่องที่จะมีคนนำมาแจก

“แถวนี้แจกเยอะ แถวสวนลุมเจ้าหน้าที่เขาห้าม เจ้าถิ่นก็เยอะ” พี่เขาว่าอย่างนั้น

พี่รับอาหารหนึ่งกล่อง กินเอง และเก็บอีกสักกล่องสองกล่องกลับไปบ้านเป็นมื้อเย็นกับมื้อเช้ารุ่งขึ้น แล้วรอรถเมล์ฟรีรอบสุดท้ายจากสนามหลวงถึงเมืองนนท์ รีบต่อรถก่อนเข้าเคอร์ฟิว

“แถวบ้านไม่มีกิน ไม่มีคนแจก หรือไม่ก็ต่อรถไกลไป ไม่มีเงินด้วย”

พี่เขาว่าให้ข้าวให้น้ำเขาก็ดีใจ เพราะอย่างน้อยก็อิ่ม แต่อยากทำงานได้เงินจะดีกว่านี้ งานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ หายไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเมืองปิด ถามว่าเขาเข้าใจหรือไม่ว่าทำไมต้องปิด ก็เข้าใจเป็นอย่างดี

“แต่มาขอข้าวกินก็ไม่ดีหรอก คนเขามองสมเพช หยิบกลับเขาก็มองอีกว่าเราตะกละ เอาไปเผื่อไปตุน ไม่กินพอดี แต่เอาไปบางทีก็บูดตั้งแต่กลางทาง ไม่มีตู้เย็นในห้อง”

เมืองแบบนี้ที่บางคนต้องต่อรถร้อนเข้ามาเพื่อรับข้าวกล่องเดียว เมืองแบบที่คำว่าบ้านไม่ได้หมายถึงบ้านแต่เป็นแค่ที่วางหัวนอน เมืองที่อยากให้ทุกคนการ์ดอย่าตกโดยไม่มีทางเลือกอื่นให้ เมืองที่ความปกติใหม่เป็นเรื่องผิดปกติและค้านกับวิถีชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้

ความรุนแรงและการกดทับเชิงโครงสร้างกระจายตัวไปทุกที่ ถ้าจะมองว่าเรามีอะไรเสมอภาคกันบ้างก็ความอัตคัดขัดสนนี่เอง คุณภาพชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ที่ต้องวอนขอ และบางทีต่อให้ออกปากขอแล้วก็ใช่ว่าจะได้

แถมถูกไอ้ที่ขัดสนด้วยกันมองเหยียดเอาเสียอีก

จริงๆ มีหนังสือสองเล่มที่อ่านแล้วยังติดค้างคาในใจ ว่าด้วยความไม่เท่าเทียมและการตัดสินคนอื่นในจริยธรรมระดับต่างๆ ของแต่ละคน แต่ถ้ายังไม่ได้เขียนเรื่องเลี้ยงข้าวเพื่อนนี่ฉันก็ยังไม่แล้วใจ รวมไปถึงการรบรากับโปรดิวเซอร์หน้าเลือดที่ใช้งานคนกองถ่ายยิ่งกว่ากระดาษทิชชู่รีไซเคิล คือรีดแล้วรีดอีกเสียจนน้ำเนื้อเหือดหายไม่ใช่อย่างมนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน

ที่ฉันเลี้ยงข้าวเพื่อนเพราะพี่ชายคนนั้น อยากให้เขามีร้านให้ไปในเมืองนนท์จะได้ไปกินได้ใกล้ๆ อยากให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้ลำบากเพียงลำพัง และที่ช่วยกันก็แค่เพราะฉันยังมีกำลังกว่า แต่ไม่ได้เหนือกว่าพี่เขาเลยไม่ว่าจะในมุมไหน

ขาดดาราไปซักคนโลกนี้คงไม่แตก

แต่แรงงานผู้ทำมาหากินอย่างพี่เขา มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นกำลังในการก่อร่างสร้างเมืองอย่างมากมาย

แต่คนแบบนี้ก็มักจะถูกหลงลืม

ทั้งที่ในเวลาปกติทั่วไป ชนชั้นไพร่ทาสนี่ละที่พากันออกเดิน ทั้งหามทั้งแห่เกี้ยวแคร่ให้คุณได้นั่งกันเพลิน

เพลินจนลืมไปว่าไอ้ที่พาเดินกันอยู่นี่มันก็คนเหมือนๆ กัน


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่