วิรัตน์ แสงทองคำ : ห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ

ภาพโฟกัสหนึ่งในเวลานี้ คงเป็นกรณีห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งใหม่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ

“สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จากการผนึกกำลังระหว่างสองผู้นำแห่งวงการค้าปลีกระดับโลก ได้แก่ สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารโกลบอลเดสติเนชั่นชั้นนำของเมืองไทย กับไซม่อน พรอพเพอร์ตี้ กรุ๊ป (Simon Property Group) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลกจากสหรัฐอเมริกา เตรียมเปิดสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต แบงค์คอก (Siam Premium Outlets Bangkok) อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน”

บางตอนของข่าวอ้างจากต้นแหล่ง ตั้งใจเน้นบางถ้อยคำเป็นพิเศษ (https://www.siampiwat.com/)

นับเป็นการเปิดโครงการใหญ่ครั้งแรกหลังจากสถานการณ์ COVID-19 เพิ่งคลี่คลาย เริ่มเปิดเมือง เปิดห้าง แต่ยังปิดประเทศและไม่เปิดน่านฟ้า

สยามพิวรรธน์ เท่าที่รู้กัน ตามที่อ้างไว้

“คือเจ้าของและผู้บริหารโครงการค้าปลีกที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม อภิมหาโครงการ เมืองสัญลักษณ์ของไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”

แม้มีรากเหง้ามานานถึง 6 ทศวรรษ แต่จุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2546 กับบทบาทใหม่เชิงรุกครั้งใหญ่ หลายคนอาจไม่ทราบว่า สยามพิวรรธน์ใช้เวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษสามารถก้าวมาเป็นผู้นำค้าปลีกอย่างแท้จริง โดยโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกรวม (Retail Gross Floor Area) มากที่สุดในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 36.4%

อีกบางตอนกล่าวถึงอย่างเจาะจงบริษัทร่วมทุนจากสหรัฐ

“นับเป็นโครงการพรีเมียม เอาต์เล็ตแห่งใหม่ล่าสุดของไซม่อน มีทั้ง Woodbury Common Premium Outlets นิวยอร์ก, Gotemba Premium Outlets ญี่ปุ่น, Yeoju Premium Outlets เกาหลีใต้ และ Johor Premium Outlets มาเลเซีย”

 

Simon Property Group ผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้าโมเดล outlet รูปแบบค้าปลีกซึ่งก่อกำเนิดเป็นปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้นและขยายตัวอย่างมากในสหรัฐอเมริกา เมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว ไม่นาน Simon เปิดฉากขยายเครือข่ายมายังโลกตะวันออก โดยเฉพาะในญี่ปุ่นมีถึง 9 แห่ง และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียอีก 2 แห่ง

ขณะความร่วมมือกับสยามพิวรรธน์ เกิดขึ้นในปี 2561 ถือเป็นกรณีแรก ตามแผนการขยายธุรกิจสู่ประเทศไทย เป็นประเทศที่ 4 ในเอเชีย

“โครงการแรก ในพื้นที่เช่าประมาณ 50,000 ตารางเมตร บนที่ดิน 150 ไร่ …โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2562”

ถ้อยแถลงเปิดตัวโครงการครั้งแรกโดยสยามพิวรรธน์ (มิถุนายน 2561) ซึ่งได้เลื่อนล่วงเลยมาพอสมควร ประจวบกับเผชิญวิกฤตการณ์ปิดเมือง ปิดห้างมาราว 2 เดือน

ที่จริงในช่วงเวลาตามแผนจะเปิดบริการในปลายปีที่แล้วนั้น ได้ปรากฏมีคู่แข่งรายสำคัญ ผู้ประกาศแผนการก่อน แล้วก็ชิงเปิดตัวไปก่อน

เรื่องราว Central Village มีรายละเอียดมากกว่าในฐานะเป็นโครงการสำคัญของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

Central Village ห้างสรรพสสินค้าโมเดลใหม่ล่าสุดของกลุ่มเซ็นทรัล สร้างเสร็จและเปิดบริการไปแล้วเมื่อสิงหาคม 2562 มีข้อมูลสำคัญๆ ที่น่าสนใจขอนำเสนอไว้เพื่อเทียบเคียง

โครงการซึ่งพัฒนาขึ้นบนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ด้วยมูลค่าเงินลงทุน (ณ สิ้นปี 2562) จำนวน 2,720 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอยรวม 80,000 ตารางเมตร มีพื้นที่ให้เช่า 21,377 ตารางเมตร

ทั้งนี้ มีข้อมูลสำคัญสะท้อนความสำเร็จในเบื้องต้นที่ว่า มีอัตราเช่าพื้นที่แล้วมากถึง 96% ด้วยมีจำนวนร้านค้า 114 ราย

โดยมีรายงานขยายความด้วย “…ความสำเร็จของเซ็นทรัล วิลเลจ โครงการนำร่องพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบลักชัวรีเอาต์เล็ตแห่งแรกในประเทศไทย โดยเฟสแรกมีร้านค้าเอาต์เล็ต…และได้รับกระแสตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม”

บางตอนของสารจากคณะกรรมการบริษัท ปรากฏในรายงานประจำปี 2562 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น

หลังเปิดบริการได้เพียง 2 เดือน (พฤศจิกายน 2562) Central Village มีดีลสำคัญเกิดขึ้น

“ได้ผนึกพันธมิตรระดับโลกอย่างบริษัท มิตซูบิชิเอสเตท เอเชีย (MEA) หนึ่งในกลุ่มบริษัท มิตซูบิชิเอสเตท จำกัด (มหาชน) (MEC) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรในประเทศญี่ปุ่น ดำเนินงานครอบคลุมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วย โครงการที่พักอาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม และมีบริษัทในเครือเป็นผู้พัฒนาเอาต์เล็ตที่มีสาขากว่า 9 แห่งทั่วญี่ปุ่น อาทิ สาขาโกเทมบะ สาขาริงกุ สาขาชิซุย มาร่วมลงทุนในโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ในสัดส่วนร้อยละ 30 (โดยซีพีเอ็นถือครองอีกร้อยละ 70)…” (อ้างจากรายงานประจำปี 2562 ซีพีเอ็น)

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นทีเดียว Mitsubishi Estate Co., Ltd. (MEC) แห่งญี่ปุ่น พันธมิตรทางธุรกิจใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่แท้ก็คือพันธมิตรของคู่แข่งทางธุรกิจในเมืองไทย

 

MEC ได้ร่วมทุนกับ Simon Property Group แห่งสหรัฐ ด้วยการก่อตั้ง MITSUBISHI ESTATE-SIMON Co., Ltd. เพื่อดำเนินกิจการห้างสรรพสินค้าโมเดล outlet ซึ่งมีเครือข่าย 9 แห่งในย่านสำคัญๆ ของประเทศญี่ปุ่นดังที่กล่าวมานั่นเอง

Mitsubishi Estate Company เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นดำเนินกิจการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในกรุงโตเกียวมีมากถึง 30 แห่ง ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ ในใจกลางเมือง ทั้งนี้ มีการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในนิวยอร์กและลอนดอนด้วย

MITSUBISHI ESTATE-SIMON ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 ในสัดส่วน Mitsubishi Estate Co., Ltd. 60% และ Simon Property Group, Inc. 40% ดูไปแล้วโมเดลการร่วมทุนของ Simon กับพันธมิตรในประเทศต่างๆ มีสัดส่วนถือหุ้นแตกต่างกันไปบ้าง กรณีมาเลเซียนั้นมี 2 แห่งที่ Genting Highlands และ Johor ได้ร่วมทุนกับ Genting Plantations Bhd มีสัดส่วนร่วมทุน 50/50

ส่วนกรณีกับสยามพิวรรธน์ ข้อมูลทางการทั้งสองฝ่ายไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้

 

เรื่องราวสะท้อนมุมมองทางธุรกิจที่น่าสนใจก่อนวิกฤตการณ์ COVID-19 บรรดาเครือข่ายธุรกิจใหญ่ระดับโลกกับเครือข่ายธุรกิจทรงอิทธิพลไทย ว่าด้วยอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“อุตสาหกรรมค้าปลีกในไทยคิดเป็นร้อยละ 15.0 ของ GDP รวมทั้งประเทศและในปี 2562 มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากร้อยละ 10.8 ในปี 2561 ในส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไปขยายตัวร้อยละ 5.5”

(อ้างบทวิเคราะห์อุตสาหกรรมค้าปลีกปี 2562 ปรากฏในรายงานประจำปี 2562 ซีพีเอ็น)

ทั้งนี้ มุมมองในปี 2563 “ธุรกิจค้าปลีกคาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 2.0-3.0 ในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ โดยยังไม่ได้พิจารณาผลกระทบจาก COVID-19”

อีกบางตอนของบทวิเคราะห์เจาะจง “โดยกําลังซื้อส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลาง-ล่างและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ…การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ในกรุงเทพฯ และตามเมืองท่องเที่ยวสําคัญต่างๆ เป็นแรงสนับสนุนสําคัญของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค”

สะท้อนสอดคล้องมุมมองโอกาสทางธุรกิจของทั้ง Siam Premium Outlets Bangkok และ Central Village ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

“…มีแผนที่จะร่วมกับพันธมิตรธุรกิจท่องเที่ยวในละแวกใกล้เคียงเพื่อสร้างจุดหมายปลายทางของการช้อปปิ้งและการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอีกด้วย” อย่างผู้บริหาร Siam Premium Outlets Bangkok เพิ่งกล่าวในถ้อยแถลงข้างต้น

เป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามซึ่งท้าทายอย่างมาก กับมุมมองเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย มีบางบทสรุปว่า พึ่งพิงการท่องเที่ยวมากเกินไป

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่