เทศมองไทย : “ทัวริสต์บับเบิล” ทางรอดของท่องเที่ยวไทย?

โควิด-19 ทำร้ายการท่องเที่ยวไทยสาหัสนัก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตามไปด้วย เนื่องจากการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ มีสัดส่วนอยู่ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มากถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์

ระหว่างเมษายนจนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ไทยไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมาเลยแม้แต่คนเดียว ถือเป็นการทรุดตัวลงหนักถึงขีดสุด ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่ง เอาตัวรอดมาจากวิกฤตการณ์น้อยใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่าได้เสมอ

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินเอาไว้ว่า ความสูญเสียของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคราวนี้อาจสูงมากถึง 1.78 ล้านล้านบาทจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ในทันทีที่ตลอด 3 สัปดาห์เต็มๆ ที่ผ่านมาไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศเลยแม้แต่รายเดียว เสียงเรียกร้องถึง “ทัวริสต์บับเบิล” หรือ “การท่องเที่ยวแบบจับคู่” ก็เริ่มดังขึ้นตามมาในทันที พร้อมกับเสียงขานรับจากทางการ

 

มาร์วัน แมแคน-มาร์คาร์ ผู้สื่อข่าวของนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว เขียนถึง “ทัวริสต์บับเบิล” ของไทยกับบรรดาเพื่อนบ้านในเอเชียทั้งหลายเอาไว้ในหลายแง่มุม เมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่าเป็นแนวทางการท่องเที่ยวในยุคโควิด ที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นเครื่อง “ฟื้นฟู” อุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่กำลังตกที่นั่งลำบากนี้

ประเทศที่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และเวียดนาม ซึ่งสามารถทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาด “อยู่ภายใต้การควบคุม” แล้วเช่นเดียวกับไทย ล้วนแต่สนใจที่จะ “จับคู่ท่องเที่ยว” ซึ่งกันและกันทั้งสิ้น

แต่ผู้เชี่ยวชาญและนักสังเกตการณ์ด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคชี้ว่า “ทัวริสต์บับเบิล” ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นจริงได้ ประเทศที่เกี่ยวข้องต้องยกระดับ “ความไว้วางใจ” ซึ่งกันและกันขึ้นสูงมาก

มาริโอ ฮาร์ดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแปซิฟิก เอเชีย แทรเวล แอสโซซิเอชั่น เครือข่ายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในย่านนี้ บอกว่า การหารือเพื่อการทำทัวริสต์บับเบิลมีทั้งแบบที่เป็นทวิภาคี คือเจรจากันเป็นคู่ๆ กับที่เป็นพหุภาคี คือหลายๆ ประเทศที่ต้องการแสวงหาความตกลงร่วมในเรื่องนี้พร้อมๆ กัน

“การจับคู่เพื่อจัดทำทัวริสต์บับเบิล แบบนี้มีความซับซ้อนอยู่ในตัวโดยธรรมชาติ และจำเป็นต้องมีความไว้วางใจเช่นเดียวกับการประสานงานซึ่งกันและกันสูงมาก” ฮาร์ดีระบุพร้อมเสริมว่า “เรื่องนี้จำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนทางด้านสาธารณสุขจำนวนหนึ่งนำมาบังคับใช้เพื่อควบคุมการเดินทางข้ามแดนซึ่งกันและกันอีกด้วย”

ในเวลาเดียวกัน ประเทศตะวันตกบางประเทศอาจไม่กังขาเพียงแค่แง่มุมทางสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่ยังกังวลเกี่ยวกับแนวทางกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยแบบ “บีบบังคับ” ตามสไตล์ของประเทศอำนาจนิยม ที่เข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนของตนเองอีกด้วย

 

นักการทูตของชาติตะวันตกที่ประจำอยู่ในภูมิภาคเอเชียรายหนึ่ง บอกกับแมแคน-มาร์คาร์ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่ท่องเที่ยว หรือการท่องเที่ยวเต็มรูปในแบบเดิม การเก็บข้อมูลจากนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากที่เคยเก็บย่อมเป็นเรื่องอ่อนไหวทั้งสิ้น

“ในทันทีที่มีการตรวจพบการติดเชื้อโควิด บุคคลนั้นอาจจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและการติดต่ออื่นใด รวมทั้งข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูงมาก อย่างเช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานะทางสุขภาพของคนคนนั้น”

นั่นหมายถึงว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา จำเป็นต้องมี “ความไว้วางใจ” ในระบบสาธารณสุขของประเทศจุดหมายปลายทางด้วยเช่นเดียวกัน

 

ไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ ในฐานะที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขอนามัยมาก่อน รัฐบาลเตรียมการ “รีแบรนด์” การท่องเที่ยวไทยเสียใหม่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ “ไว้วางใจได้” ด้วยการเตรียมการจัดทำ “ประกาศนียบัตรสุขภาพ” ให้กับโรงแรม ภัตตาคารและสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศ

กระนั้นปัญหาสำคัญยังคงอยู่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าจะมาจากไหน 10 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในปี 2019 ที่ผ่านมา เริ่มด้วยจีน ที่หลั่งไหลเข้ามาถึง 11 ล้านคน นอกจากนั้น ยังมีมาเลเซีย, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เกาหลีใต้ และอินเดีย

ไทยไม่สามารถทำ “ทัวริสต์บับเบิล” กับทุกประเทศเหล่านั้นได้แน่นอน

อิมทิอาซ มัคบิล บรรณาธิการอำนวยการของทราเวล อิมแพ็กต์ นิวส์ไวร์ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่เคยมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมามากๆ อย่างอินเดียและรัสเซียยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่สูงมาก มากเสียจนไม่น่าจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้เข้ามาในเร็ววัน ทำนองเดียวกันกับ “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” ประเภท “มือเติบ” จากตะวันออกกลาง

ที่มีทั้งปัญหาการแพร่ระบาดอยู่ในบางประเทศ และมีปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจกลายเป็น “ขาลง” อยู่ในเวลานี้

ดังนั้น ไม่ว่าไทยจะพร้อมหรือไม่พร้อม หลายประเทศเหล่านั้นก็ยังไม่พร้อมพอสำหรับ “ทัวริสต์บับเบิล” ในยามนี้แน่ครับ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่