อภิญญา ตะวันออก : ปรากฏการณ์วันเฉลิม เมื่อโลกเก่าไม่กลับมา

อภิญญา ตะวันออก

เป็นครึ่งปีแห่งความตายที่ทุบคนกว่าค่อนโลก ตั้งแต่โควิด-19 ไปจนถึงกรณีอื่นๆ ซึ่งลุกลามกลายเป็นความรุนแรงและการประท้วง พลันการกระเพื่อมของความไม่พอใจก็ขยายตัวไปทั่ว

และจากความคิดเล็กๆ ที่ปรากฏในออนไลน์ก็ขยายไปทุกมิติ ทันทีที่ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งของไทย ถูกทำให้หายไปจากโลกนี้

แรงสั่นสะเทือนน้อยๆ ที่ไต่ระดับจากเขมรถึงไทย ที่ขยายไปสู่ประเทศอื่น จากนักเคลื่อนไหวธรรมดาที่สั่นสะเทือนคนดัง และจากมุมหนึ่งประเทศนี้ ไปสู่โลกที่ไร้พรมแดน

มันคือปรากฏการณ์อันแท้จริงของโลกทั้งใบ ถูกขยี้ (Disrupted) ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่และโควิด-19 และเพียงไตรมาสแรกของศตวรรษที่ 21

การขับเคลื่อนที่มากับยุค 5 จีนั่น ดูจะนำไปสู่การล้มครืนในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสังคมตลอดจนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกข้างหน้าขออย่าได้กะพริบตา แค่กรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหายที่เมืองเขมรเมื่อ 4 มิถุนายน

โลกทั้งมวลใบเก่าก็เหมือนจะไม่กลับมา

 

ทันทีนั้น คำขานชื่อ “สกรรมชน” นำหน้าคำว่าวันเฉลิมก็ดังขึ้นมาจากสื่อมุมดังกล่าว ก็ใครจะไปนึกว่า จู่ๆ ยุค “กรรมาชีพ” ในการต่อสู้ยุคก่อนของคนไทย จะถูกปลุกมาใช้ในยุคนี้ที่กัมพูชา ด้วยคำว่า และ (ส) กรรมชนเขมรนั่น

แต่นั่นเอง หลังลักลั่นในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกันมานานระหว่างไทย-เขมร ก็อยู่บนระนาบเดียวกันทันทีเมื่อเกิดกรณีอุ้มหายของสกรรมชนไทย-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

พลัน ปฏิบัติการชาว Netizen ไทยที่ก่อการอย่างธรรมชาติแต่กลับเป็นพลวัตในการนำไปสู่การต่อสู้ขั้วตรงข้าม อย่างหลอนลวงและบดขยี้ ทั้งแบบคู่ขนานและปัจเจก และในที่สุดบางกรณีก็นำไปสู่มติสาธารณะที่น่าสนใจ เช่น การอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่กลายเป็นอุบัติการณ์ทางสังคมทั้งไทยและภูมิภาค

อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

แบบเดียวกับชาวอเมริกันเรียกร้องแก่จอร์จ ฟลอยด์ ด้วยวลี “คนผิวสีก็มีความหมาย” (#BLM/#BlackLivesMatter), ฉันหายใจไม่ออก (#I can”t breath) และลามเป็นวรรคทองของการประท้วงทั้งอังกฤษและยุโรป

เช่นเดียวกับวิถีประชาธิปไตยจำลองบนถนนและโลกเสมือนจริงในกรุงเทพฯ ปฏิบัติการตอบโต้อย่างไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐของเสรีชนแห่งโลกออนไลน์ที่ทั้งบดขยี้ กระพือซ้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย

บ่งบอกว่า พัฒนาการที่ไปไกลเกินกว่าอำนาจรัฐจะยั้งได้และไหวตัวทันนี้ อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน

 

ก่อนหน้านี้ หากจำได้ เราจะเห็นสงครามวิวาทะระหว่างอำนาจรัฐแห่งจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน (ประชาธิปไตย) และฮ่องกง (1 ประเทศ 2 ระบบ) จากความไม่ตั้งใจของชาวเน็ตไทย จนเกิดกระแสความเห็นต่างทางการเมืองข้ามภพในโลกทวิตเตอร์ ที่ทำให้บริบทคำว่า #พันธมิตรชานม (#MilkTeaAlliance) กลายเป็นวัฒนธรรมทางความคิดมากกว่ามิติด้านอาหาร

ซึ่งทำให้เห็นว่า คลื่นความคิดของมนุษย์ในโลกเสมือนจริง เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมทางสังคมอย่างแท้จริง มันยังขับเคลื่อนอย่างอิสระข้ามพรมแดน และบางครั้งก็มีทิศทางและเป้าหมายแห่งการขับเคลื่อน เช่นกรณีที่เกิดกับการอุ้มหายวันเฉลิม และ #Saveวันเฉลิม ที่อยู่ในโลกออนไลน์และย้อนกลับสู่โลกเป็นจริง

โลกคู่ขนานทั้งสองเมื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน นี่คือพลวัตใหม่ที่พร้อมจะไหลระบาด ไปสู่รูปแบบและแพลตฟอร์มที่หลากหลาย และมีนัยยะสำคัญทันที บริบทดังกล่าว เริ่มถูกควบคุมไม่ได้ พลันโลกแห่งวิถีออนไลน์ในรูปแบบการเรียกร้องก็ระรัวและเขย่าไปทั่วอณูทุกสังคม

มากกว่านั้น การเผชิญหน้าที่ว่านี้ ยังเกิดขึ้นอย่างซึ่งหน้า ระหว่างรัฐอำนาจกับประชาชน ที่ไม่ใช่แต่บริบทของโลกออนไลน์อีกต่อไปเท่านั้น

การอุ้มหายวันเฉลิมถูกอุ้มหายที่เขมรจึงเป็นยิ่งกว่าการออกมาปกป้องสิทธิความเป็นพลเมืองให้แก่เหยื่อเท่านั้น แต่มันยังเป็นคลื่นเดียวกันกับกรณีคนผิวสีที่สหรัฐ อธิปไตยของไต้หวันและความพยายามชะลอกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพของชาวฮ่องกง

ค่าสัมประสิทธิ์ทั้งหมดนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามีมวลสารที่ไม่อาจมองข้าม ไม่ต่างจากลอยเลื่อนแนวภูเขาไฟที่รอการสั่นสะเทือน

และว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีเขมร-ไทยจึงตกที่นั่งวันที่ไม่โสภา

 

ทําไมถึงกล่าวเช่นนั้น? นี่เกือบจะเป็นครั้งแรกๆ ที่สื่อเขมรนอกกระแสเริ่มตื่นเต้นกับการเคลื่อนไหวต่อฝ่ายรัฐ หลังจากพบว่ามีการลักพาผู้ลี้ภัยไทยคนหนึ่งบนแผ่นดินประเทศตน

พวกเขายังได้เห็นการตื่นตัวอย่างน่าตกใจของสกรรมชนหรือนักเคลื่อนไหวไทย ทั้งการยื่นจดหมายต่อสถานทูต การอภิปรายในสภา การเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่ควรได้รับการคุ้มครอง หลังจากที่ทางการ 2 ประเทศใช้วิธีเพิกเฉย

จากนั้นก็หยิบโยงไปสู่ประเด็นที่นักเคลื่อนไหวและลี้ภัยในกรุงเทพฯ ถูกทางการไทยจับกุมและส่งตัวไปกัมพูชา โดยกล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีสกรรมชนแขฺมร์ตกเป็นเหยื่อแห่งการสานประโยชน์ในข้อแลกเปลี่ยนดังกล่าว

นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหากันลอยๆ เพราะก่อนหน้านี้ไม่นานก็เคยมีการจับกุมทั้งที่ผู้ลี้ภัยบางคนได้อพยพไปยุโรปแล้ว แต่เมื่อแวะประเทศไทยเท่านั้น เขาก็ถูกจับกุมตามใบสั่งสมเด็จ ฮุน เซน ทันที

ไม่ต่างกับเคสของเสกสม สิกขา และรัฐ มุนี สมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่ถูกจับกุมและส่งกลับกัมพูชาเมื่อปีกลาย

สร้างความตึงเครียดในหมู่ผู้ลี้ภัยในไทยตอนนี้ ทั้งเฮง รัศมี หรือรุน จันที ที่วิตกว่า สนธิสัญญาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างทางการไทย-กัมพูชาฉบับนั้น ตลอดจนการหายตัวไปของวันเฉลิม อาจส่งผลต่อการลี้ภัย ซึ่งรุน จันที เองกล่าวว่า เขาเคยถูกสะกดรอยจากตำรวจนอกเครื่องแบบในคราบวินมอเตอร์ไซค์

จนหวาดวิตกว่าจะถูกส่งตัวกลับเขมรเหมือนกับเพื่อนสมาชิกบางคนอีกหรือไม่?

 

จากการอุ้มหายวันเฉลิมที่ถูกขับออกมาเป็นหลากหลายอารมณ์ในโลกออนไลน์ และนั่นคือสัญญาณที่จับต้องได้ว่า วัฒนธรรมการต่อสู้ของคนรุ่นนี้กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมประเทศไทยไปแล้ว

ย้อนไป 4 ทศวรรษก่อน (1979) ตอนที่ผู้ลี้ภัยกัมพูชาไหลทะลักจนเกิดการก่อตั้งค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวพรมแดนไทย

และเกิดองค์กรผู้ลี้ภัยข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติหรือ “UNHCR” ที่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ได้รับคำสรรเสริญเยินยอในบทบาทเพื่อมนุษยธรรม และเม็ดเงินที่หลั่งไหลเป็นความช่วยเหลือแต่ครั้งนั้น

40 ปีมาแล้วที่ UNHCR ไทยแลนด์ยังคงสถานะของภาพลักษณ์เพื่อมนุษยธรรม ทั้งๆ รับรู้กันดีว่า กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่ 3 ในไทยไม่ได้เกิดขึ้นนานแล้ว และที่ยังดำรงอยู่นี้ก็เป็นเพียงบาง “กรณี” เท่านั้น

แต่ความสำคัญผิดที่ทำให้เข้าใจว่า ไทยเป็นศูนย์กลางผู้ลี้ภัยในการเดินทางไปประเทศที่ 3 ดังที่จะเห็นกลุ่มผู้ลี้ภัยจากปากีสถานและโรฮิงญาที่บ่ายหน้าเข้ามา บางส่วนตกเป็นเครื่องมือของกระบวนการค้ามนุษย์

บางรายมีชีวิตที่ยากลำบาก ถูกจับกุมอย่างไร้ความหวังที่จะลี้ภัยไปประเทศที่ 3 มีบางเคสที่ใช้เวลาถึง 20 ปีกว่าจะอพยพไปยังประเทศปลายทาง แต่ส่วนใหญ่ไร้อิสรภาพและได้รับเพียงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ไม่เป็นทางการขององค์กรศาสนาคริสต์ของไทย

ที่น่าเศร้าและฟอนเฟะกว่านั้นคือ ยังมีหน่วยงานรัฐไทยที่ฉวยโอกาสหากินบนความทุกข์ยากของผู้ประสบภัย ตั้งแต่รีดไถเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงทำเป็นกระบวนการ และตั้งแต่ตำรวจไปยันตรวจคนเข้าเมือง

ขณะที่ UNHCR ไทยแลนด์นั่นเล่า? ก็อาศัยภาพลักษณ์ประหนึ่งเป็นองค์กรเพื่อมนุษยธรรมจากการขอเงินบริจาคต่อไป ทั้งๆ โปรเจ็กต์ส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่ 3 เกือบทั้งหมดได้ปิดตัวลงไปนานแล้ว

ที่ผ่านมา ไปรยา สวนดอกไม้ ลุนด์เบิร์ก-ทูตสันถวไมตรีได้ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม สำหรับหาเงินบริจาคและสร้างภาพลักษณ์แก่ UNHCR/ประเทศไทย กระทั่งวันที่เธอเพิกเฉยกรณีอุ้มหายวันเฉลิมที่กัมพูชา

นาทีนั้น ความโป๊ะแตกของสังคมจอมปลอมแบบไทยๆ ก็ถึงคราวชำแหละ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่