ฉัตรสุมาลย์ : ภิกษุณีในการประชุม ABC

บนเส้นทางภิกษุณีในประเทศไทย (10)
บทบาทบนเวทีนานาชาติ (2)

การประชุมทางวิชาการนานาชาติเริ่มจากกลุ่มของภิกษุณีสายเถรวาทตั้งแต่ พ.ศ.2558 แล้วขยับพื้นที่ออกรวมชาวพุทธในอาเซียน ที่มีข้อจำกัดอยู่กับอาเซียน เพราะใช้พื้นที่ในการจัดประชุมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งมีเปิดหลักสูตรสอนเรื่องอาเซียน

การประชุมนี้จัดไปแล้วสองครั้งในประเทศไทย พอเป็นครั้งที่ 3 ขยับออกจากประเทศไทยไปอินโดนีเซีย เมื่อไม่มีข้อจำกัดเรื่องกรอบอาเซียน จึงเปิดออกไปสู่พื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น และสมจริงขึ้น คือเอเชีย

การประชุม ABC ครั้งที่ 3 ขยับออกไปครอบคลุม Asian Buddhism Connection

ตรงนี้มีนัยยะที่สำคัญ หมายความว่า เครือข่ายความสัมพันธ์แบบพุทธนี้ ไม่ได้จัดการประชุมทางวิชาการอย่างเดียว แต่ยังทำงานควบคู่กันไปกับเครือข่ายภิกษุณีเถรวาทเอเชียด้วย โดยมีโครงการการจัดอุปสมบทภิกษุณีเถรวาท (International Theravada Ordination for bhikkhunis) และโครงการอบรมพระวินัยสำหรับภิกษุณี (International Monastic Training for bhikkhuni sangha)

ทั้งสองโครงการนี้ มีวัตรทรงธรรมกัลยาณี โดยภิกษุณีธัมมนันทาเป็นผู้รับผิดชอบ

 

สําหรับเครือข่ายภิกษุณีเถรวาทในเอเชีย (Network of Theravada Asian Bhikkhunis) นั้น เป็นการเริ่มต้นด้วยกันของภิกษุณีที่อาวุโสที่สุดในเอเชีย

สำหรับประเทศไทยก็มีภิกษุณีธัมมนันทา เวียดนามมีภิกษุณี ดร.หลิวฟับ อินโดนีเซียมีภิกษุณีสันตินี ศรีลังกามีภิกษุณีวิจิตนันทา เป็นต้น

ภิกษุณีแต่ละรูปในแต่ละประเทศที่กล่าวมานั้น ล้วนเป็นภิกษุณีรูปแรกของประเทศนั้นๆ (ยกเว้นศรีลังกา) ในการขับเคลื่อนเครือข่ายนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ปัจจุบันมีท่าน ดร.หลิวฟับเป็นประธาน

สำหรับการจัดอุปสมบทภิกษุณีเถรวาทนั้น ประเทศไทยทำงานใกล้ชิดกับเวียดนาม และมักจะทำงานด้วยกันเสมอ

ครั้งล่าสุดเป็นการจัดงานอุปสมบทที่พุทธคยาเดือนมกราคม พ.ศ.2561

สมาชิกในโครงการที่ได้รับการอุปสมบทก็มาจากประเทศไทยและประเทศเวียดนามนั่นเอง

 

ส่วนโครงการอบรมด้านพระวินัยนั้น เป็นงานที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีเริ่มงานมาตั้งแต่ พ.ศ.2546

แรกเริ่ม เรียกโครงการนี้ว่า Buddhist Women in Residence เป็นสตรีชาวพุทธที่มาเข้าพรรษาด้วยกัน ช่วงแรกเป็นภิกษุณีนานาชาติที่ล้วนเพิ่งอุปสมบท และต้องได้รับการฝึกฝนด้านพระธรรมวินัย เมื่อภิกษุณีธัมมนันทาจัดการอบรมที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม จึงเปิดพื้นที่ให้ภิกษุณีนานาชาติมารับประโยชน์ด้วยกัน

ต่อมาโครงการนี้ขยับมาเป็น International Monastic Training เป็นโครงการที่ตั้งใจให้การอบรมด้านพระวินัยทั้งกับภิกษุณีสงฆ์และฆราวาสที่สนใจในชีวิตของนักบวช บางคนก็เป็นการเตรียมความพร้อม หากตนเองคิดจะออกบวชในอนาคต มีสตรีชาวพุทธนานาชาติมาร่วมทั้งเกาหลี อิตาลี เวียดนาม เยอรมัน อเมริกา แคนาดา รัสเซีย ลาว เป็นต้น

หลักสูตรนี้ จากเดิม ตลอดพรรษา แต่ไม่สะดวกเรื่องการขอวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติ ก็เลยบีบลงให้เหลือแต่ประเด็นสำคัญ ปัจจุบันใช้เวลา 2 อาทิตย์ในช่วงวันที่ 1-15 มิถุนายน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้กลับไปเข้าพรรษาในประเทศของตน

เมื่อภิกษุณีผู้นำของแต่ละประเทศอายุพรรษาได้ 10 พรรษา วัตรทรงธรรมกัลยาณีก็ได้จัดการอบรมพระวินัยเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ภิกษุณีที่มีอาวุโสสูงสุดของแต่ละประเทศในการทำหน้าที่เป็นพระคู่สวด

 

เมื่อภิกษุณีธัมมนันทามีอายุพรรษาครบ 12 ก็ได้รับการแต่งตั้งจากมหานายกมหินทวังสะ เจ้าอาวาสวัดทีปทุตตมารามในกรุงโคลอมโบ ศรีลังกา ให้เป็นปวัตตินี ในช่วงที่ท่านเดินทางเข้ามาให้การอุปสมบทภิกษุณีไทย 8 รูป ที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอารามที่เกาะยอ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557

การเติบโตของภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทในเอเชียเป็นไปในรูปแบบนี้ และการประชุมทางวิชาการที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2558 ก็เป็นตัวขับเคลื่อนยึดโยงโครงสร้างของภิกษุณีสายเถรวาทในเอเชียอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

คราวนี้ การประชุมทางวิชาการนานาชาติขยับออกไปที่อินโดนีเซีย โดยเจ้าภาพหลักของอินโดนีเซียเป็นคณะสงฆ์ในสังฆะอากุงอินโดนีเซีย ทำงานใกล้ชิดกับองค์กรสตรีชาวพุทธของอินโดนีเซียที่มีประธานคือ มาดามลูซี่

ทำความเข้าใจกับบริบทของอินโดนีเซียเล็กน้อยว่า ชาวพุทธนั้นเป็นชนกลุ่มน้อย มีประชากรเพียงร้อยละ 1 นั่นคือประมาณ 3 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธแบบมหายาน ชาวพุทธเถรวาทเป็นกลุ่มเล็กมากๆ วัดเถรวาทส่วนใหญ่เป็นวัดไทย มีพระภิกษุไทย หรือพระภิกษุชาวอินโดนีเซียที่มาบวชจากไทย ในส่วนนี้ ยังไม่ยอมรับภิกษุณีสายเถรวาท

ภิกษุณีสายเถรวาทที่ทำงานกับ ABC เป็นภิกษุณีเถรวาทที่อุปสมบทมาจากศรีลังกา และสังกัดอยู่กับสังฆะอากุง ซึ่งมีลักษณะที่เป็นเสรีนิยมมากกว่า มีทั้งมหายาน เถรวาท และวัชรยานอยู่ภายใต้สังฆะอากุง

สังฆะอากุงมีสำนักงานกลางที่จาการ์ตา ซึ่งเป็นเมืองหลวง ที่สำนักงานกลางนี้ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 7 ชั้น ชั้นล่างเป็นทั้งห้องอาหารและพื้นที่รับรองผู้เข้าร่วมประชุมได้อย่างดี ชั้นสองเป็นห้องประชุมใหญ่ที่สามารถจุคนได้เป็นพัน มีห้องสวดมนต์อยู่บนชั้นสาม

และมีห้องพักบนชั้น 6-7 ที่จะปรับให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าพักได้

 

ภิกษุณีธัมมนันทา ในฐานะของ ABC นานาชาติ เดินทางไปดูความเป็นไปได้ของสถานที่จัดงาน และตกลงให้อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพท้องถิ่นจัดงานประชุม ABC 3

เงื่อนไขที่ตกลงกันในการทำงานระหว่าง ABC นานาชาติ กับ ABC ท้องถิ่นคือ ABC นานาชาติจะดูแลเรื่องโปรแกรมการประชุม และจะรับผิดชอบในการสนับสนุนค่าเดินทางให้ผู้เข้าร่วมเสนองานจากอย่างน้อย 10 ประเทศ

ที่ชัดเจนคือ ABC ท้องถิ่น คืออินโดนีเซีย จะรับผิดชอบกับค่าลงทะเบียนและรายรับทั้งปวงอันจะเกิดขึ้นจากการประชุมนั้น

เรื่องการเงิน จะเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งความบาดหมางใจกันได้ง่าย ดังภาษิตที่ว่า “เงินทองเป็นของบาดใจ” การทำงานข้ามชาติในลักษณะนี้ ภิกษุณีธัมมนันทาจะเน้นเรื่องความโปร่งใสเพื่อรักษาความถูกต้องและชื่อเสียงของภิกษุณีสงฆ์ด้วย

การทำงานร่วมกับกลุ่มสตรีชาวอินโดนีเซียและสังฆะอากุงอินโดนีเซียเป็นไปด้วยดี ราบรื่นทุกประการ

งานประชุมออกมาได้ผลเป็นที่น่าประทับใจ ผู้เข้าร่วมจากเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียมาร่วมให้กำลังใจ บางช่วง เนื่องจากมีผู้เสนอผลงานมาก ต้องแยกห้องประชุมเป็นสองห้อง จัดประชุมเสนอผลงานไปพร้อมๆ กัน

พระภิกษุผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานมีทั้งพระอาจารย์สรณังกร พระภิกษุชาวศรีลังกาที่เป็นประธานสงฆ์สายเถรวาทในมาเลเซียจะให้ความสำคัญและมาร่วมงานด้วยเสมอ

 

ในวันสุดท้าย เจ้าภาพจัดงานปิดประชุมที่วัดของหลวงปู่ชินรักขิตตะ ซึ่งเป็นปฐมาจารย์ของสังฆะอากุง วัดนี้อยู่ชานเมือง ต้องเดินทางออกไปประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นบรรยากาศที่ดี ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น

นอกจากจะมีการมอบของที่ระลึกแก่ผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติแล้ว ยังมีการมอบธง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการส่งผ่าน ABC 3 ไปสู่ ABC 4 ที่ประเทศเนปาล โดยที่คุณราเชศ ประธานของอักเษศวรมหาวิหารที่ประเทศเนปาลซึ่งรับจะเป็นเจ้าภาพ ขึ้นมารับมอบธง ABC จากมาดามลูซี่ เจ้าภาพ ABC 3 อินโดนีเซีย เป็นการส่งผ่านที่งดงาม น่าประทับใจ

การทำงานร่วมกันของชาวพุทธเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการประชุมที่อินโดนีเซียในครั้งนั้น โดยที่มีภิกษุณีสายเถรวาทและชาวพุทธในเอเชียเป็นเส้นสายยึดเกาะกันอยู่ด้วยสามัคคีธรรม

การก้าวย่างเช่นนี้ เป็นตัวอย่างอันดีที่พุทธบริษัททั้งสี่ต่างเข้ามาเสริมงานซึ่งกันและกันให้พระพุทธศาสนาได้เจริญวัฒนาถาวรไปในกาลภายหน้า

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่