ครม.ไฟเขียวปรับโครงสร้างสีกากี ยุบ ศชต.รวมภาค 9-ผุด บช.ท่องเที่ยว จับตากรมปทุมวันจัดทัพใหม่

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอ

สาระสำคัญคือแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 มาตรา 4 และมาตรา 5 จัดตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว โดยยกฐานะจากกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว (บก.ทท.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และกำหนดหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

ตลอดจนยุบรวมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เข้ากับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (บช.ภ.9)

ขณะที่ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … แก้ไข ให้แบ่งแยกกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกเป็น 2 กองกำกับการ มีกองกำกับการสุนัขตำรวจ และกองบังคับการม้าตำรวจ

ตลอดจนมติ ครม. ให้ยุบเลิกกองกำกับการ ในกองบังคับการอำนวยการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ให้เหลือฝ่ายอำนวยการ 1-7 สำหรับในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค (บช.ภ.) 1-8 จากเดิมประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ 1-9 และ บช.ภ.9 จากเดิมประกอบด้วยฝ่ายอำนวยการ 1-10 ให้คงเหลือประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ 1-6

รวมถึงให้จัดตั้งและแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่กองบังคับการ กองกำกับการในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อรองรับการยุบรวม ศชต. เข้ากับ บช.ภ.9

ขณะเดียวกันให้จัดตั้งฝ่ายบัญชี ส่วนราชการระดับกองกำกับการ ในสังกัดกองบังคับการอำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ

เป็นมติ ครม. ที่ไฟเขียวอนุมัติเห็นชอบตามหลักการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่ต้นสังกัดเสนอเมื่อ 6 เดือนก่อน โดยคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดย พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะทำงานในขณะนั้น

โฟกัสจุดใหญ่คือ ยุบ ศชต. รวมกับ บช.ภ.9 และขยาย บก.ทท. ยกระดับเป็นกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

กรณีการยุบรวม ศชต. เข้าเป็น บช.ภ.9 เหมือนโครงสร้างเดิมเมื่อ 8 ปีก่อน ครั้งนั้นการคลอดกองบัญชาการใหม่ ศชต. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 จัดตั้งส่วนราชการ ระดับกองบังคับการในสังกัด “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 โดยแยก บก.ภ.จว.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ออกจาก บช.ภ.9

ทั้งนี้ มีเหตุผลการตั้ง ศชต. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารสั่งการหน่วย รองรับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี การยุบ ศชต. รวมเข้าเป็น บช.ภ.9 อีกครั้ง หัวหน้าคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างเคยแจกแจงในการประชุมว่า

“บช.ภ.9 ที่ปรับใหม่ จะรับผิดชอบพื้นที่ 7จังหวัด มีหน่วยงานระดับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (บก.ภ.จว.) คือ จ.สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในความรับผิดชอบ กองบังคับการอำนวยการ (บก.อก.) โดยมีกองบังคับการสืบสวนสอบสวน 1 (บก.สส.1) รับผิดชอบ จ.สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง และ บก.สส.2 รับผิดชอบ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ศูนย์ฝึกอบรม (ศฝร.) และมีหน่วยงานระดั กองกำกับการ (กก.) ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการ (บช.) คือ กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ (กก.ปพ.) เป็น กก.ปพ.ศชต.เดิม จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า (ศปก.ภ.9 สน.) เพื่อให้รับผิดชอบภารกิจด้านความมั่นคง โดยมีระดับรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (รอง ผบช.ภ.9) จำนวน 1 คน เป็นหัวหน้า”

“การปรับปรุงโครงสร้างครั้งนี้ จะไม่มีการปรับเพิ่มหรือลดตำแหน่งแต่อย่างใด แต่จะใช้การปรับเกลี่ยตำแหน่งต่างๆ ไปให้กับส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยจะยุบหน่วยงานระดับกองบังคับการไป 1 หน่วยงาน คือ บก.อก.ศชต. ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ยังคงไว้เหมือนเดิม”

จึงมีความชัดเจน การปรับโครงสร้างใหม่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยยุบรวม-ขยายหน่วยงาน จะกระทบกับเก้าอี้นายพลหลายตำแหน่ง รวมถึงหน่วยงานในสังกัดหลายเก้าอี้ โดยเฉพาะเก้าอี้ ผบช.ศชต. รอง ผบช.ศชต. ที่ต้องถูกยุบและปรับเกลี่ยไปโดยปริยาย

ขณะที่มีการเพิ่มเก้าอี้ ผบช.ท่องเที่ยว รอง ผบช.ท่องเที่ยว และอื่นๆ ตามโครงสร้างใหม่ในคราวเดียวกัน

โดยหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบหลักการแล้ว ขั้นตอนจากนี้จะมีการตรวจสอบและร่างพระราชกฤษฎีกา จากนั้นจะส่งเรื่องกลับมาให้ ครม. ตรวจสอบเพื่อรับหลักการ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนจะร่างเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้เข้าสู่โครงสร้างใหม่ในวันที่ 31 กรกฎาคม

“ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องเตรียมการในเรื่องการปรับเกลี่ยตำแหน่งรอไว้ เพื่อให้สอดรับเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ การตัดโอนตำแหน่งต้องมีผลวันเดียวกัน เพื่อให้มีการแต่งตั้งได้ทัน ต้องแต่งตั้งอย่างไรก็ได้ให้มีผลวันที่ 31 กรกฎาคม เพราะในวันนั้น ศชต. จะถูกควบรวมไปอยู่กับ บช.ภ.9 และ บก.ทท. ถูกยกเป็นกองบัญชาการ (บช.)”

“ดังนั้น ในวันที่ 31 กรกฎาคม จะเป็นการเข้าสู่โครงสร้างใหม่ กฎหมายมีขั้นตอนการดำเนินการไปตามระบบ แต่ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรีบดำเนินการในเรื่องการปรับเกลี่ย เนื่องจากยังมีขั้นตอนนำเรื่องเข้าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ส่วนการเปิดตำแหน่งข้าราชการตำรวจระดับนายพล ยังต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) รวมถึงการปรับโอนตำแหน่งใน ศชต. และยังต้องหารืออีกว่าจะเอาตำแหน่งเหล่านั้นไปไว้ที่ไหน คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมน่าจะจบในประเด็นการปรับโอนตำแหน่ง” พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. เผย

จึงมีความชัดเจนว่าในเวลาอันใกล้นี้ กรมปทุมวันจะมีการจัดทัพแต่งตั้งโยกย้ายลงในโครงสร้างใหม่!!