เพ็ญสุภา สุขคตะ : เปิดมุม “โฮจิมินห์” ในมิติสุนทรียะ วาระ 130 ปีชาตกาล

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2433 เป็นวันที่วีรบุรุษเวียดนาม “โฮจิมินห์” ลืมตาดูโลก ดังนั้น ในปีนี้จึงครบรอบ 130 ปีชาตกาลของเขา ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้จัดงานเชิดชูเกียรติรัฐบุรุษผู้นี้ตลอดทั้งปี

นอกเหนือไปจากที่ทุกปีต้องจัดงานรำลึกถึงเขาในวันชาติเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 2 กันยายน เนื่องจากเป็นทั้งวันที่เวียดนามปลดแอกจากฝรั่งเศสสำเร็จในปี 2488 และเป็นทั้งวันเสียชีวิตของโฮจิมินห์ในปี 2512

ในที่นี้ดิฉันขอนำเสนอบางหลืบมุมของ “ลุงโฮ” ผ่านภาพถ่ายและเอกสารจดหมายเหตุที่ค่อนข้าง “อันซีน” เน้นมิติที่ท่านให้ความสำคัญต่อด้านปรัชญา ศิลปะและอารยธรรม

มาร์ก คือภูเขา-เลนินคือกระแสน้ำ

ในยุคที่โลกตะวันตกยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ กล่าวคือ กลุ่มมหาอำนาจอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส ฮอลันดา ยังมีแนวคิดแบบจักรวรรดินิยม ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่รู้ทิศทางของคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง รู้แต่ว่าต้องคอยสนับสนุนระบอบทุนนิยมให้แก่ประเทศที่มีกษัตริย์ปกครอง

คำว่า “คอมมิวนิสต์” จึงเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองอันลึกล้ำที่มีความชอบธรรม เหมาะกับประเทศที่ประชากรถูกขูดรีดโดยระบอบเจ้าขุนมูลนายหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเหมาะกับประเทศที่กำลังถูกคุกคามอิสรภาพโดยลัทธิล่าอาณานิคม

เวียดนามก็เช่นกัน เป็นประเทศที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้สองระบอบทรราชในเวลาเดียวกัน ดังนั้น แนวคิดแบบ “คอมมิวนิสต์” จึงเป็นหนทางเดียวในเวลานั้น ที่จะช่วยปลดปล่อยประชาชนให้เห็นแสงสว่างและเป็นไทแก่ตนเอง

โฮจิมินห์ในวัยหนุ่มอันร้อนแรง เร่ร่อนแรมรอนจากเวียดนามสู่ฝรั่งเศส อเมริกา อังกฤษ รัสเซีย เขาศึกษาแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และเลนินอย่างทะลุปรุโปร่ง เมื่อกลับมากู้ชาติที่เวียดนามทางตอนเหนือ เขาได้สถาปนาแนวคิดแบบมาร์กซ์และเลนินให้แก่เพื่อนร่วมชาติและสหายร่วมรบ

ด้วยการนำธรรมชาติบนพื้นฐานเดิมที่คนเวียดนามเคารพตามคำสอนของขงจื๊อมาผสมผสานกับลัทธิอุดมคติใหม่ โฮจิมินห์เปรียบเปรยว่า “มาร์กซ์เสมือนภูเขา ส่วนเลนินคล้ายดั่งกระแสน้ำ”

ดังนั้น ณ หมู่บ้าน Pac Boเมือง Cao Bang ใกล้กระท่อมที่โฮจิมินห์ซุ่มวางแผนปลดแอกประเทศในปี 2484 เขาได้ทำการแกะสลักใบหน้าของคาร์ล มาร์กซ์ ด้วยมือของเขาเอง เรียกประติมากรรมชิ้นนั้นว่า “ภูเขาของมาร์กซ์” และกำหนดโขดหินกลางลำน้ำก้อนหนึ่งที่น้ำไหลเชี่ยววนคล้ายเกาะแก่ง เรียกมันว่า “กระแสน้ำของเลนิน”

สรุปก็คือ โฮจิมินห์มองว่า คัมภีร์ของมาร์กซ์เปรียบได้ดั่งเสาหลักที่มั่นคง ส่วนเลนินเป็นผู้นำทฤษฎีไปปฏิบัติให้เป็นจริง คงไม่ต่างไปจากตัวเขาที่จักต้องทวนกระแสธาร พายเรือต้านอธรรมตามเลนินไปสู่ฝั่งเส้นชัยด้วยอีกคน

วิสัยทัศน์ผู้นำ อารยธรรมสำคัญยิ่ง

การต่อสู้ของโฮจิมินห์เพื่อปลดปล่อยเพื่อนร่วมชาติจากการกดขี่ของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสนั้น โฮจิมินห์ได้ประกาศชัดเจนว่า “เขาไม่ได้ทำเพราะความล้าหลังคลั่งชาติแบบคนชาตินิยม เขาไม่ได้ต่อต้านอารยธรรมตะวันตกของฝรั่งเศส เขาเพียงแต่ไม่ต้องการให้เวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวต่างชาติเท่านั้น”

ด้วยเหตุนี้ โฮจิมินห์จึงไม่ปฏิเสธ “อารยธรรม” ทั้งซีกโลกตะวันออกและตะวันตก เขาไม่รังเกียจชาวคาทอลิก เขาไม่เห็นว่าชาวตะวันตกในเวียดนามเป็นศัตรูตราบที่คุณไม่ถืออาวุธเข่นฆ่าประชาชน เขาไม่ใช่คนประเภท “เวียดนามอิสต์” ขึ้นสมอง ไม่เคยตั้งคำถามว่า “คุณเป็นคนเวียดนามหรือเปล่า?”

โฮจิมินห์ประกาศชัดว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการคือ “เอกราช อิสรภาพ เสรีภาพ และอารยธรรม”

สามคำแรกทุกคนเข้าใจได้ดีเพราะเป็นศัพท์ทางการเมือง แต่วลีสุดท้าย “อารยธรรม” เราคงไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยนักจากปากของผู้นำระดับชาติ เว้นแต่จะต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและต้องแฝงความเป็นปราชญ์อีกด้วย

โฮจิมินห์ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า “อารยธรรม” สำคัญมากเพียงไรหลังจากที่เขาต้องฟื้นฟูภารกิจกอบกู้ซากปรักหักพังที่เอาคืนมาจากฝรั่งเศสได้

อารยธรรมประการแรกที่โฮจิมินห์มองเห็นคือ ประชากรทุกคนต้องรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ ไม่ว่าชายหรือหญิง ไม่ว่าผู้ดีหรือไพร่ การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน ขอให้ทุกคนทำตัวเป็นครู พ่อสอนหนังสือให้ลูก สามีสอนหนังสือให้ภรรยา หัวหน้าหมู่บ้านสอนหนังสือให้ลูกบ้าน นี่คือสิ่งแรกสุดที่โฮจิมินห์ขอความร่วมมือ

อารยธรรมประการที่สองคือ การเคารพชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆ โฮจิมินห์เรียนรู้จากประสบการณ์ในสงครามที่เดียนเบียนฟู ชาวฝรั่งเศสใช้วิธีเกณฑ์ชาวเขาและชาวไทกลุ่มต่างๆ ในเวียดนามตอนเหนือมากกว่า 4 แสนชีวิต เข้าร่วมต่อสู้กับกองทัพ “เวียดมินห์” (ทหารคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินห์) เขาพยายามปรามทหารเวียดมินห์ว่าอย่าฆ่าพี่น้องที่เป็นชนเผ่า เพราะคนเหล่านั้นไม่รู้อีโหน่อีเหน่ถูกปั่นหัวจึงยอมรับใช้ฝรั่งเศส ควรหาทางเกลี้ยกล่อมให้พวกเขามาเป็นพวกเวียดมินห์ เลิกแบ่งแยก “ชาวเขา-ชาวเรา”

โฮจิมินห์ไม่ยอมปล่อยให้เกิดการ “เหยียดหยามชนกลุ่มน้อย” ขึ้นในเวียดนาม มีประจักษ์พยานสำคัญปรากฏอยู่ในบันทึกที่เขาเขียนไว้ว่า

“ข้าพเจ้าตระเวนไปทั่วโลก ตอนเรือของฝรั่งเศสผ่านทวีปแอฟริกา ข้าพเจ้าเห็นคนผิวขาวถีบและลากคอคนผิวดำประหนึ่งสัตว์ ข้าพเจ้าเคยอยู่ในคุกที่กวางสีและฮ่องกง คนผิวเหลืองด้วยกันก็กระทืบทุบตีข้าพเจ้าเยี่ยงทาส ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้สหายเพื่อนร่วมชาติรังแกคนที่ไม่มีทางสู้ ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติผิวสีใด”

ทุกวันนี้ประเทศเวียดนามประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่า 70 ชนเผ่า เป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์ด้านมานุษยวิทยาที่นำเสนอเรื่องราวของชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ได้น่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก

คือดวงตาศิลปิน คือวิญญาณของนักสู้

อารยธรรมประการที่สาม โฮจิมินห์สนใจในศิลปะและบทกวี เขาเป็นนักปฏิวัติที่มีอารมณ์สุนทรีย์ เป็นนักเขียน เป็นศิลปิน หลายครั้งที่ดิฉันมองดวงตาของเขาแล้วเห็นเงาของนายผี (อัศนี พลจันทร) จิตร ภูมิศักดิ์ ลาว คำหอม รวมไปถึงเช เกวารา

ไม่ว่าหน้ากลบพื้นกี่ครั้งครา ในสถานการณ์คับขันเพียงใด โฮจิมินห์ก็ยังกัดฟันกลั่นเลือดเขียนบทกวี ตอนที่เขาถูกจองจำปางตายในคุกที่ฮ่องกง เขาเขียนบทกวีแห่งความเจ็บปวด

ภาพถ่ายเก่าหลายภาพพบว่าเขาเป็นผู้ใฝ่รู้ทางวรรณคดี เขาพยายามอ่านลายแทงจากกลองมโหระทึก และวิเคราะห์จารึกอักขระโบราณ นี่คือผู้นำที่โลกศิวิไลซ์ปรารถนา

เขาร่ายบทกวี แต่งเพลง เล่นดนตรี เป็นอุปรากร ให้ความสำคัญต่องานนิทรรศการศิลปะ งานเขียนเซรามิก จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชาวเวียดนามจึงรัก “ลุงโฮผู้มีจิตใจละเอียดอ่อน” รู้สึกอบอุ่นเมื่ออยู่ใกล้เขา

ไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ก็พบว่าชาวเวียดนามแขวนรูปของเขากันทุกบ้าน โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องสร้างภาพ แต่ชาวเวียดนามรู้สึกได้เองถึงดวงตาที่อบอุ่น ถึงวิญญาณของนักสู้ ถึงความจริงใจที่ลุงโฮประสงค์จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวเวียดนามให้เป็นผู้มีอารยะอย่างแท้จริง

สองภาพสุดท้าย แถมให้ดูว่า ปี 2509 อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปเยี่ยมลุงโฮที่ฮานอย และเสรีไทยเองก็เคยให้การสนับสนุนอาวุธต่อกลุ่มเวียดมินห์รบกับฝรั่งเศสมาก่อนแล้ว

กับอีกภาพหลังจากที่ลุงโฮเสียชีวิตไปเพียงไม่กี่ปี “ฟิเดล คาสโตร” อดีตผู้นำคิวบาก็เคยเดินทางไปเยี่ยมชมบ้านและสถานที่ทำงานของโฮจิมินห์ที่ฮานอย โดยมีนายกรัฐมนตรี “ฟามวันดง” ให้การต้อนรับ

เวียดนามวันนี้ พัฒนาก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว ไม่ช้าไม่เร็วไม่ก้าวกระโดด แต่ก็เริ่มล้ำหน้าบางประเทศที่เคยประกาศว่าจะเป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” เรียบร้อยแล้ว

เวียดนามมีความเป็นประชาธิปไตยตามอัตภาพภายใต้ระบอบสังคมนิยม โดยไม่จำเป็นต้องหลอกลวงชาวโลกว่าเป็นประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตย ผิดกับเพื่อนบ้านบางประเทศของเขาที่โกหกตัวเองมาช้านาน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่