เกษียร เตชะพีระ | เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : อาวุธป้องกันโรคระบาดคือจุดยืนสากลนิยมและเสรีภาพทางข่าวสารข้อมูล

เกษียร เตชะพีระ

เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : 4) อาวุธป้องกันโรคระบาดคือจุดยืนสากลนิยมและเสรีภาพทางข่าวสารข้อมูล

(คำสัมภาษณ์ของแฟรงก์ สโนว์เดน ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงาน Epidemics and Society : From the Black Death to the Present (โรคระบาดกับสังคม : จากกาฬมรณะถึงปัจจุบัน โดย Yale University Press, ค.ศ.2019) แก่สเตลลา เลอวันเทซี นักข่าวสำนัก Il manifesto global แห่งอิตาลีเมื่อ 11 เมษายนศกนี้ ในประเด็นปัญหาต่างๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโควิด-19 กับโลกาภิวัตน์)

สเตลลา เลอวันเทซี : ในหนังสือโรคระบาดกับสังคมของคุณ คุณยกตัวอย่างความสำเร็จของเกาะซาร์ดิเนียในการกำจัดโรคมาลาเรียเมื่อต้นปี ค.ศ.1900 เพื่อสาธิตให้เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือระหว่างประเทศซึ่งในกรณีนั้นมันเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้นแล้วเพื่อที่จะเอาชีวิตรอดจากการท้าทายของโรคระบาด มนุษยชาติจำต้องรับเอามุมมองแบบสากลนิยมมาใช้ใช่ไหมคะ? ฉันคิดว่ามันมีบทเรียนอยู่ตรงนี้ คุณคิดว่าไงบ้างคะ?

แฟรงก์ สโนว์เดน : ถูกเผงเลยครับ ผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่น่าวิตกที่สุดในโรคระบาดคราวนี้คือความคิดเหลวไหลที่ว่ากำแพงแบบทรัมป์อาจกลายมาเป็นอุปลักษณ์ที่ใช้บรรยายยุคสมัยที่เรากำลังอยู่นี้อย่างยืนนาน ขณะที่เราหันไปศรัทธาปสาทะในกำแพงและเส้นเขตแดนแห่งชาติและด่านขวางกั้นทั้งหลายให้ช่วย “ปกป้อง” เรา ความคิดนี้ชักนำทรัพยากรให้หันเหไปจากมาตรการเป็นจริงทั้งหลายที่ต้องดำเนินกัน และอย่างหนึ่งที่เรารู้ก็คือจุลชีพมันไม่เคารพยำเกรงชายแดนแห่งชาติและเส้นเขตแดนทางการเมืองห่าเหวอะไรเลย และฉะนั้น มาตรการพวกนี้มันใช้การไม่ได้หรอกครับ

ผมเชื่อถือมาตรการห้ามเดินทางบางอย่างที่กำหนดออกมาชั่วคราวอยู่ ที่หวังกันก็คือบรรดาประเทศที่กำหนดมาตรการห้ามเดินทางจะได้มีเวลาเตรียมการรับมือโรคระบาดสักสองสามสัปดาห์

ทว่าหลายประเทศกลับปล่อยเวลาที่ว่านั้นให้สิ้นเปลืองไปเปล่าๆ ปลี้ๆ คือวางข้อห้ามเดินทางไว้แล้วไม่ยักทำอะไรเลย ประเทศสหรัฐอเมริกาของผมเองเป็นตัวอย่างอันน่ามหัศจรรย์ใจของการปล่อยเวลานั้นให้สิ้นเปลืองไปเปล่าๆ

สำหรับสหภาพยุโรป ลักษณะอย่างหนึ่งที่น่าเศร้าจริงๆ ของมันก็คือ มันไม่สามารถพัฒนาและรับเอาแผนการเตรียมพร้อมที่มันกำหนดขึ้นได้มาใช้ในฐานะหน่วยหนึ่งเดียวกัน ให้เป็นการรับมือโรคร่วมกันในระดับภูมิภาค และฉะนั้น แต่ละประเทศของสหภาพยุโรปจึงดำเนินมาตรการของตนไปเองโดยไม่ประสานกันแต่อย่างใด ปล่อยให้สาธารณชนพากันสับสนเพราะไม่รู้แน่ว่าแนวทางไหนดีกว่ากัน

นั่นน่ะเป็นสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้ความหลงเชื่อผิดๆ ความหวาดระแวงและทฤษฎีสมคบคิดวางแผนร้ายทั้งหลายแพร่สะพัด เอาเข้าจริงการปล่อยข่าวลวงแพร่ระบาดนี่แหละเป็นเชื้อเพลิงขับดันโรคระบาดทั่วทางชีววิทยาและช่วยให้มันลุกลามออกไป

สเตลลา เลอวันเทซี : ระหว่างกาฬโรคระบาดทั่วครั้งที่สามของยุโรป (the Third Plague Pandemic กาฬโรคระบาดครั้งนี้เริ่มขึ้นในมณฑลยูนนานของจีนเมื่อปี ค.ศ.1855 แล้วลุกลามไปถึงทุกทวีปที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ทำให้คนล้มตายถึง 12 ล้านคน – ผู้แปล) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในจีน มีแนวโน้มลัทธิเชื้อชาตินิยมและความปักใจเชื่อว่าโรคระบาดครั้งนั้นจะไม่ลุกลามพ้นชายแดนจีนออกมาในทำนอง “ภูมิคุ้มกันของคนผิวขาว” ฉันเห็นว่าพลวัตแบบนี้กำลังเกิดซ้ำอีกและดำรงอยู่เมื่อไวรัสโคโรนาเริ่มระบาดในจีนด้วยตอนที่ไวรัสตัวนี้ยังจำกัดอยู่ในอาณาเขตของจีน คุณคิดว่านี่เป็นเชื้อมูลอย่างหนึ่งที่ทำให้โลกตะวันตกประเมินความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับโรคระบาดนี้ต่ำเกินไปไหมคะ? ในทำนองความหลงผิดทางจิตวิทยาชนิดหนึ่ง คือมีมายาคติว่าโรคระบาดไวรัสโคโรนาจะไม่แพร่กระจายออกมานอกประเทศจีน ว่ามันจะไม่กระทบกระเทือนโลกตะวันตก?

แฟรงก์ สโนว์เดน : ผมคิดว่าที่คุณพูดมานั้นถูกเผงเลยครับและคุณก็พูดได้ในแบบที่ผมอยากพูดออกมาเองด้วยแหละ คุณเอ่ยถึงกาฬโรคระบาดทั่วครั้งที่สามและไอ้ความคิดที่ว่านั้นมันก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เมืองจีนแต่อย่างใด มันลุกลามตามโรคระบาดที่แพร่กระจายออกไปด้วย เราเห็นความคิดนี้ในอินเดียรวมทั้งบางที่ในโลกอุตสาหกรรมด้วยอย่างเมืองซานฟรานซิสโกที่ซึ่งกาฬโรคระบาดทั่วครั้งที่สามในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ประสบพบเห็นความเกลียดกลัวต่างชาติแพร่สะพัดลุกลาม ว่ามันเป็นโรคของไชน่าทาวน์ ฉะนั้น ข้อคิดที่ว่ากาฬโรคระบาดทั่วครั้งที่สามมีลักษณะสำแดงอาการเกลียดกลัวต่างชาติขึ้นสู่กระแสสูงด้วยนั้นมันจริงแท้แน่นอนเลยครับ

กระนั้นแล้วจะเป็นยังไงกันล่ะครับทีนี้?

เรื่องก็เป็นอย่างนี้คือมีความไม่ยินยอมพร้อมใจในหมู่ผู้นำการเมืองจำนวนมากที่จะเรียนรู้บทเรียนจากอดีต ผมตะลึงงันไปเลยตอนที่พรรครีพับลิกันในอเมริกายืนกรานที่จะเรียกไวรัสโคโรนาว่าไวรัสจีน คือหันไปใช้ความเกลียดกลัวต่างชาติเป็นวิธีจัดการกับวิกฤตครั้งนี้ และผมเชื่อว่าทำกันไปอย่างรู้เท่าทันด้วย

ที่ผมพูดอย่างนั้นเพราะนี่เป็นสิ่งเย้ายวนใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรคระบาดหลายต่อหลายครั้งไม่ว่ายุคไหนสมัยใด คือการที่ทางราชการมักหาทางกลบเกลื่อนโรคต่างๆ นานาที่มีอยู่เอาไว้เพราะมันทำให้บริหารปกครองได้ลำบากยากเย็น โรคพวกนี้ทำให้เศรษฐกิจลำบากยากเข็ญแสนสาหัสได้และเราก็พอเห็นได้ว่ามีแนวโน้มตอนเริ่มโรคระบาดทั่วรอบนี้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะพูดว่า “โอ๊ยนี่มันไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าไข้หวัดธรรมดาหรอก” เขาเลือกวิธีรับมือผิด และสาธารณสุขนั้นพึ่งพาอาศัยสัจจะความจริงครับ

สเตลลา เลอวันเทซี : แล้วอะไรถึงจะเป็นวิธีรับมือที่ถูกต้องล่ะคะ?

แฟรงก์ สโนว์เดน : ผมไม่มีพิมพ์เขียวสำหรับการเตรียมพร้อมหรอกครับ แต่ผมมีหลักการบางอย่างอยู่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นแก่นสารสำคัญยิ่งและเป็นฐานรองรับสาธารณสุขศาสตร์สมัยใหม่ และผมไม่ได้พูดเองเออเองนะครับ แต่เป็นชุมชนวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศที่พูด

นั่นคือสาธารณสุขในฐานที่เป็นศาสตร์สาขาวิชาหนึ่งย่อมพึ่งพาอาศัยวิทยาศาสตร์ และตัววิทยาศาสตร์เองก็ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยสัจจะความจริงและการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลอย่างเสรี

กล่าวคือ ไม่มีทางจะกำหนดนโยบายซึ่งมีประสิทธิผลและเป็นวิทยาศาสตร์ใดๆ ได้หากไม่มีข้อมูลข่าวสารอันถูกต้องเหมาะสมและไม่ดึงเอาสาธารณชนมาเข้าร่วมในฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของการรับมือ เราก็รู้กันอยู่แก่ใจว่าการโกหกต่อสาธารณชนย่อมทำลายนโยบายสาธารณสุขลง และผมก็เชื่อว่าแพทยศาสตร์เป็นส่วนสำคัญยิ่งของการปกป้องตัวเราจากโรคที่ว่านี้

ผมบอกคุณไม่ได้หมดหรอกครับว่า โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะได้ทำอะไรบ้าง แต่ผมบอกคุณได้ว่าเวลาเขาโกหกต่อสาธารณชนนั้น เขากำลังย่างก้าวไปในทิศทางที่ขัดฝืนอย่างลึกซึ้งกับการปกป้องประเทศและโลกจากโรคระบาดทั่วนี้ให้ดีตามหลักวิทยาศาสตร์

แต่ผมคิดว่าคงไม่มีใครอยากศึกษาประวัติศาสตร์โรคระบาดทั่วอย่างที่ผมทำมาร่วม 40 ปีหรอกครับ ถ้าหากอย่างเดียวที่พอพูดได้ตบท้ายงานชิ้นนั้นคือมันล้วนเป็นเรื่องของความพินาศฉิบหายและทำลายวายวอด ไม่มีความหวังใดๆ หลงเหลืออยู่เลย ถ้าเป็นแบบนั้น ป่านนี้ผมคงสติวิปลาสไปแล้ว

ก็อย่างที่ผมเคยบอกแหละครับ โรคระบาดน่ะเป็นกระจกส่องสะท้อนตัวเรา ทว่ามันไม่ได้สะท้อนแต่ด้านลบของธรรมชาติมนุษย์เท่านั้น มันสะท้อนด้านบวกด้วย และเราเห็นด้านบวกที่ว่านั่นได้ในรูปการปรากฏขึ้นของสาธารณสุข เราเห็นมันได้ในการเสียสละตนเองของหมอและคนงานด้านการแพทย์กับคนงานแนวหน้าทั้งหลายผู้ทำให้เรารอดชีวิตผ่านการท้าทายนี้มาได้

มีสิ่งต่างๆ มากมายให้เราสำนึกตื้นตัน สาธารณสุขได้วิวัฒนาการมานับแต่กาฬโรคระบาดอย่างที่คุณก็คงทราบดี มาตรการทั้งหลายที่ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นมาในนครฟลอเรนซ์และเวนิสสมัยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นจุดเริ่มต้นของสาธารณสุข และเราก็ยังกำลังทำแบบเดียวกันบางอย่างอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

สเตลลา เลอวันเทซี : ในบางกรณีเหมือนอย่างไข้ทรพิษ ถ้าคุณติดโรคแล้วรอดชีวิตมาได้ ระบบร่างกายของคุณจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ตอนนี้ดูเหมือนว่ากับกรณีโรคโควิด-19 ยังไม่มีความแน่ใจในทางวิทยาศาสตร์ว่าจะมีภูมิคุ้มกัน ถ้าหากการรอดชีวิตจากโรคนี้ไม่จำต้องลงเอยด้วยการทำให้คุณมีภูมิคุ้มกันต่อมันโดยธรรมชาติแล้ว นี่ย่อมหมายความว่าจะเป็นผลให้การพัฒนาวัคซีนยุ่งยากซับซ้อนขึ้นใช่ไหมคะ?

แฟรงก์ สโนว์เดน : ใช่ครับ ข้อถกเถียงที่ว่าเราติดเชื้อได้หลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 ยังเป็นเรื่องที่ต้องสาธิตให้เห็นและสอบสวนกันต่อไป ถ้ามันจริง ก็จะส่งผลสืบเนื่องอย่างลึกซึ้งมากทีเดียว ลักษณะอย่างหนึ่งที่ทำให้พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษได้ง่ายขึ้นอยู่ตรงสิ่งที่เราต้องทำก็คือกระตุ้นให้ร่างกายทำบางอย่างซึ่งธรรมชาติทำอยู่แล้ว อันได้แก่ การสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมารับมือซึ่งเรารู้แล้วว่ามันมีอยู่

ลักษณะอีกอย่างของการกำจัดไข้ทรพิษให้หมดไปได้ก็คือมันไม่มีสัตว์ที่เป็นตัวกักเก็บเชื้อโรคไว้ และฉะนั้น ถ้าคุณต้องการจะยุติการแพร่กระจายของโรค คุณย่อมแน่ใจได้ว่ามันจะไม่หวนกลับมาโดยผ่านการกระฉอกหกอีก ไวรัสโคโรนาตอนนี้แตกต่างจากที่ว่ามานั้นอย่างยิ่งทีเดียวครับ

แต่ยังมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งซึ่งนำเรากลับไปสู่การสอบสวนระบบภูมิคุ้มกันของค้างคาว มันมีทั้งด้านลบกับด้านบวก

ด้านบวกก็คือค้างคาวอยู่ได้อย่างสุขสบายยิ่งกับเชื้อไวรัสโคโรนาตั้งหลายหลากมากมายซึ่งเรายังไม่ทันได้จำแนกประเภทมันด้วยซ้ำไป เราไม่รู้เรื่องของไวรัสเหล่านี้เอาเลย

และถ้าเราค้นพบความลับของระบบภูมิคุ้มกันของค้างคาวที่ทำให้มันอยู่กับไวรัสโคโรนาพวกนี้ได้แล้ว มันก็มีศักยภาพที่จะส่งผลสืบเนื่องอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนาภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต่อไวรัสจำพวกเดียวกันได้

กระนั้นก็ตาม ด้านลบก็คือยังมีไวรัสโคโรนาประดามีเหล่านี้อีกมากและเราได้พบเผชิญกับมันเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น แล้วไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ายังจะมีอะไรเกิดตามมาอีก

และนั่นเป็นลักษณะอีกอย่างที่น่ากังวลเกี่ยวกับการกระฉอกหกของเชื้อโรคจากสัตว์ ซึ่งโรคโควิด-19 ก็เริ่มขึ้นแบบนี้นี่เอง

(ต่อสัปดาห์หน้า)


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่