ศิลปินผู้ทลายกำแพงที่แบ่งแยกศิลปะออกจากชีวิต

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นวาระครบรอบอายุ 90 ปีของศิลปินคนสำคัญที่สุดของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า แจสเปอร์ จอห์นส์ (Jasper Johns)

ศิลปินชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นทั้งจิตรกร ประติมากร และศิลปินภาพพิมพ์ คอศิลปะหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับผลงานภาพวาดธงชาติอเมริกันและการใช้วัตถุหรือเรื่องราวในวิถีชีวิตประจำวันของคนอเมริกันของเขาเป็นอย่างดี

ผลงานของเขาส่งอิทธิพลและแรงบันดาลใจอย่างมากต่อกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแทบจะทุกรูปแบบ นับตั้งแต่ช่วงยุค 1950s จวบจนถึงปัจจุบัน

แจสเปอร์ จอห์นส์ ทำงานคาบเกี่ยวกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะสำคัญๆ อย่าง ดาดา (Dada), แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Abstract Expressionism) และป๊อปอาร์ต (Pop art)

ผลงานของแจสเปอร์ จอห์นส์ ลดทอนความสูงส่งจนเอื้อมไม่ถึงของศิลปะ ดึงประสบการณ์ทางสุนทรียะให้เข้าใกล้วิถีชีวิตของผู้คน และสร้างบทสนทนากับผู้ชมและบริบททางวัฒนธรรมของพวกเขา โดยใช้งานศิลปะสำรวจว่าพวกเขามองสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างไร ด้วยการหยิบเอาวัตถุข้าวของและเรื่องราวธรรมดาสามัญรอบตัวมาใช้ในการทำงานศิลปะ

เขาทลายกำแพงที่เคยแบ่งแยกศิลปะออกจากชีวิตประจำวันลงอย่างราบคาบ

แจสเปอร์ จอห์นส์ มักจะใช้ภาพหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเห็นจนคุ้นตา รู้จักและจดจำได้ทันทีที่เห็น อย่างเช่น ธงชาติ, แผนที่, เป้าปาลูกดอก, รอยประทับมือ, จดหมาย, สื่อสิ่งพิมพ์ และตัวเลข เป็นองค์ประกอบและหัวข้อหลักในผลงานของเขา

Flag (1954-55), ภาพจากhttps://nyti.ms/2zpjIB

เช่นเดียวกับศิลปินผู้พลิกโลกศิลปะอย่างมาร์แซล ดูชองป์, แจสเปอร์ จอห์นส์ บุกเบิกพรมแดนแห่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางความคิดและสุนทรียะ ผลงานของเขาวางรากฐานอันมั่นคงให้กับสุนทรียะรูปแบบใหม่ที่โอบรับวัฒนธรรมประชานิยม ด้วยการล้อเลียนเสียดสีตราสัญลักษณ์และผลิตภัณฑ์สินค้าอย่างสนุกสนาน อันเป็นลักษณะที่ปรากฏในศิลปะป๊อปอาร์ตในเวลาต่อมา

0 Through 9 (1960), ภาพจากhttps://bit.ly/2M2zGDO

การสำรวจความหมายและการรับรู้ของภาพในลักษณะต่างๆ ของเขา ยังวางรากฐานให้กับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่อย่างคอนเซ็ปช่วลอาร์ต รวมถึงกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะหัวก้าวหน้าอย่างฟลักซัส (Fluxus) การร่วมงานกับศิลปินต่างสาขาอย่างจอห์น เคจ (John Cage) และเมิร์ซ คันนิ่งแฮม (Merce Cunningham) เองก็ยังส่งอิทธิพลต่อกระแสเคลื่อนไหวศิลปะแสดงสด และบอดี้อาร์ต (Body art) ในช่วงยุค 1960s และ 1970s อย่างมาก

นอกจากนี้ เขายังหยิบเอาเศษหนังสือพิมพ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย วัตถุเก็บตกเหลือใช้ หรือแม้แต่สินค้าอุตสาหกรรมอย่างเบียร์หรือกาแฟกระป๋องมาใช้ทำงานศิลปะ เพื่อลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับวัฒนธรรมมวลชน

และเปิดเส้นทางของศิลปะออกไปสู่หนทางใหม่ๆ

Painted Bronze (1960), ภาพจากhttps://nyti.ms/2zpjIBd

ในช่วงกลางทศวรรษ 1950s เหล่าศิลปินในนิวยอร์กต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศิลปะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากความเบื่อหน่ายศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ที่ยึดครองโลกศิลปะมาอย่างยาวนาน หรือการต่อต้านแนวทางอันเคร่งครัดของศิลปะรูปแบบนิยมจากสถาบันศิลปะแบบโมเดิร์นนิสต์ทั้งหลาย

แจสเปอร์ จอห์นส์ กับศิลปินร่วมยุคสมัยอย่างโรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) และอลัน คาโพรว (Allan Kaprow) ต่างก็หันเหจากแนวทางการทำงานแบบเดิมๆ หันมาสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบอันแตกต่าง และร่วมกันผลักดันกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกกันว่า นีโอดาดา” ขึ้นมา

และแนวทางที่ว่านี้นี่เอง ที่กลายเป็นต้นธารของศิลปะป๊อปอาร์ตในเวลาต่อมา

ถึงแม้จะเป็นผู้ร่วมผลักดันกระแสเคลื่อนไหวนีโอดาดาที่ปฏิเสธแนวทางการทำงานแบบแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ แต่แจสเปอร์ จอห์นส์เองก็สร้างสะพานเชื่อมระหว่างสุนทรียะของแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์กับศิลปะ (ที่กำลังจะกลายเป็น) ป๊อปอาร์ต ด้วยการใช้ฝีแปรงอันรุนแรงและร่องรอยที่แฝงความเป็นนามธรรมแบบงานศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์สร้างความคลุมเครือทางความหมายให้แก่วัตถุและสัญลักษณ์สมัยนิยมเหล่านั้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมตีความและตั้งคำถามอย่างเสรี อันเป็นหัวใจสำคัญในผลงานศิลปะของเขา

ศิลปินป๊อปอาร์ตชื่อดังอย่างแอนดี้ วอร์ฮอล และเจมส์ โรเซนควิสต์ (James Rosenquist) ต่างก็ได้รับอานิสงส์จากการปฏิวัติทางความคิดของแจสเปอร์ จอห์นส์ ที่หยิบเอาวัตถุรอบๆ ตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันและสินค้าอุตสาหกรรมมาใช้เป็นหัวข้อในการทำงานศิลปะ

ตลอดอาชีพการทำงาน แจสเปอร์ จอห์นส์ ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล National Medal of Arts ในปี 1990 หรือรางวัล Presidential Medal of Freedom ในปี 2011, ในปี 2018 นิตยสารเดอะนิวยอร์กไทม์สยังเรียกเขาว่าเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาผู้ยังมีชีวิตอยู่

ปัจจุบัน แจสเปอร์ จอห์นส์ ในวัย 90 อาศัยอยู่ในเมืองออกัสตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา

Target (1961), ภาพจากhttps://bit.ly/2M2zGDO

“นีโอดาดา (Neo-Dada) เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กในช่วงยุค 1960s ที่มีการแสดงออกผ่านสื่ออันหลากหลายทั้งภาพ เสียง และงานวรรณกรรม และทำงานด้วยการใช้วัสดุสมัยใหม่ ภาพในวัฒนธรรมป๊อป ที่เน้นความเหลวไหลลักลั่น อันเป็นปฏิกิริยาที่ตอบโต้การใช้อารมณ์ความรู้สึกในการทำงานของศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ รวมถึงปฏิเสธขนบธรรมเนียม แนวคิดทางศิลปะและสุนทรียะแบบเดิมๆ

Map (1961), ภาพจากhttps://mo.ma/3d1jUF8

นีโอดาดาได้รับอิทธิพลจากขบวนการศิลปะดาดา (Dada หรือ Dadaism) ที่เริ่มต้นขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีสมาชิกคนสำคัญอย่างมาร์แซล ดูชองป์ ศิลปินกลุ่มดาดามีแนวคิดปฏิเสธความเป็นเหตุผลและจิตสำนึก ค่านิยม ตรรกะ รวมถึงต่อต้านนายทุน อุดมการณ์แบบชาตินิยม และลัทธิล่าอาณานิคมอย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่พาผู้คนไปสู่ความหายนะ โดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงละทิ้งเหตุผลทั้งมวล แต่ใช้สัญชาตญาณและความบังเอิญ

ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นอิสระและเสรีภาพ และใช้มันในการกระตุ้นผู้คนให้คิดถึงมุมมองและหนทางใหม่ๆ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่