เกษียร เตชะพีระ | เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : ปกป้องคนอ่อนแอที่สุดคือเงื่อนไขในการปกป้องทุกคน

เกษียร เตชะพีระ

เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : 3) ปกป้องคนอ่อนแอที่สุดคือเงื่อนไขในการปกป้องทุกคน

(คำสัมภาษณ์ของแฟรงก์ สโนว์เดน ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงาน Epidemics and Society : From the Black Death to the Present (โรคระบาดกับสังคม : จากกาฬมรณะถึงปัจจุบัน โดย Yale University Press, ค.ศ.2019) แก่สเตลลา เลอวันเทซี นักข่าวสำนัก Il manifesto global แห่งอิตาลีเมื่อ 11 เมษายนศกนี้ ในประเด็นปัญหาต่างๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโควิด-19 กับโลกาภิวัตน์)

สเตลลา เลอวันเทซี : แล้วโรคระบาดทั่วในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาล่ะคะจะว่าไง? กระจกโควิด-19 ส่องให้เห็นอะไรในตัวเราบ้าง?

แฟรงก์ สโนว์เดน : นี่เป็นเรื่องที่ผมวิตกมากทีเดียว มีคนถามผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกว่า “อะไรทำให้คุณนอนตาค้างหลับไม่ลงตอนกลางคืนในวิกฤตครั้งนี้?”

และเขาก็ตอบว่า “สิ่งที่ทำให้ผมนอนไม่หลับก็คือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากเจ้าไวรัสตัวนี้มันแพร่กระจายเข้าไปในชาติต่างๆ ของโลกที่ขาดแคลนทรัพยากรซึ่งผมไม่รู้เลยว่ามันจะก่อให้เกิดความฉิบหายวายป่วงแบบที่นึกคิดไปไม่ถึงอะไรขึ้นได้บ้าง”

และตอนนี้ผมก็วิตกว่าขณะเรากำลังพูดคุยกันอยู่นี้เจ้าไวรัสมันกำลังเริ่มแพร่หลายขยายพันธุ์ในประเทศจำนวนหนึ่งในทวีปแอฟริกา ลาตินอเมริกาและเอเชียแล้ว และผมก็กลัวด้วยว่ามันอาจก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแบบที่นึกคิดไปไม่ถึงในพื้นที่เหล่านั้น

การเว้นระยะห่างทางสังคมและล้างมือของคุณคือวิธีการรับมือขั้นพื้นฐาน แน่ล่ะว่าในอิตาลีนี่นั่นแหละคือสิ่งที่ผู้คนถูกเรียกร้องให้ทำ แต่คำเรียกร้องนั้นมันจะมีความหมายอะไรในที่อย่างบริเวณสลัมในรัฐริโอเดจาเนโรของบราซิลหรือในเมืองเล็กๆ ของแอฟริกาใต้ที่ซึ่งคนอาศัยอยู่กันห้องละตั้ง 10 คน ในตึกอพาร์ตเมนต์ซึ่งคนอยู่กันแออัดหนาแน่นน่ะ มันกลายเป็นเรื่องล้อเล่นนะครับที่จะให้เว้นระยะห่างกันทางสังคม แล้วยังที่ต่างๆ เหล่านั้นซึ่งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยเลยล่ะ? การบอกให้คุณล้างมือไม่มีความหมายอะไรเลย

และดังนั้น ผมก็เลยอยากบอกคร่าวๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นความเปราะบางล่อแหลมอีกอย่างซึ่งสังคมโลกาภิวัตน์ของเราสะท้อนออกมา มันได้แก่ความเหลื่อมล้ำระดับโลก แม้แต่ในประเทศมั่งคั่งอย่างสหรัฐอเมริกา โรคโควิด-19 นี่ก็ทำให้ทุกคนเดือดร้อนได้ ทว่ามันมักก่อความเดือดร้อนให้คนยากจนยิ่งกว่าและมากเกินสัดส่วนกว่าในฐานะที่พวกเขาเป็นคนกลุ่มซึ่งเปราะบางล่อแหลมที่สุดในประเทศนั้น

เรากำลังจะได้เห็นสัจธรรมกันล่ะครับทีนี้ กล่าวคือ นี่เป็นยุคโลกาภิวัตน์จริงๆ และสิ่งที่ก่อความเดือดร้อนให้คนอ่อนแอที่สุดในหมู่พวกเราย่อมพลอยก่อความเดือดร้อนให้เราทุกคนในทุกหนแห่งด้วย ดังนั้น ผมก็เลยคิดว่านั่นคือเงาสะท้อนอย่างหนึ่งที่เรากำลังจะได้เห็นกันในกระจกโควิด-19 บานนี้ และมันไม่สวยเท่าไหร่

สเตลลา เลอวันเทซี : เห็นชัดว่าเราได้ทำผิดพลาดกันมา เรายังจะทำผิดพลาดแบบเดียวกันอยู่อีกไหมคะ?

แฟรงก์ สโนว์เดน : ตอนนี้ที่น่ากังวลคือพอโรคระบาดรอบนี้ผ่านไป เราก็จะไม่ทำอะไรกันเลยน่ะซีครับ เอาแต่ลงเอยความจำเสื่อมกันหมด ความหวังคือแทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราจะตระหนักว่าตัวเองเปราะบาง ล่อแหลมอย่างลึกซึ้งแค่ไหน ว่ามันหลีกเลี่ยงไม่พ้นหรอกที่การท้าทายจากจุลชีพตัวอื่นที่อย่างน้อยก็ร้ายกาจพอๆ กับตัวนี้จะเกิดซ้ำอีก

ตอนนี้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทุกคนบอกคุณได้เลยว่านี่เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ที่เราได้สร้างขึ้นมากับธรรมชาติ การกระฉอกหกของเชื้อโรคจากสัตว์กำลังจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

อันที่จริงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตั้งคำถามที่บีบคั้นก่อกวนจิตใจที่สุดเกี่ยวกับโรคระบาดครั้งนี้ไว้ นั่นคือ “ใครจะไปรู้ตัวล่วงหน้าได้?”

แต่ที่ผมอยากบอกก็คือ ทุกคนควรรู้ตัวล่วงหน้าได้ต่างหาก ตั้งแต่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาดเมื่อปี ค.ศ.1997 เป็นต้นมา พวกนักระบาดวิทยาได้บอกแล้วว่าการท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่โลกเผชิญได้แก่การท้าทายจากไวรัสปอดทั้งหลาย เราเปราะบาง ล่อแหลมต่อมันมากกว่า และเราต้องเตรียมพร้อมไว้ แต่ปรากฏว่าเรากลับถูกอีโบลาเล่นงานแบบไม่ได้ตั้งตัวเลย

หมอแอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐให้การต่อสภาคองเกรสอเมริกันเมื่อปี ค.ศ.2005 ว่าถ้าคุณคุยกับใครสักคนที่อยู่แถบหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน คุณบอกเขาได้ว่าวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศทำนายว่าพายุเฮอร์ริเคนจะพัดกระหน่ำใส่หมู่เกาะทะเลแคริบเบียนแน่ๆ อย่างไม่มีทางเลี่ยง และฉะนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญขั้นใจกลางเลยที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือมัน วิทยาศาสตร์บอกไม่ได้หรอกครับว่ามันจะพัดกระหน่ำมาเมื่อไหร่หรือจะแรงแค่ไหน แต่มันกำลังมาแน่ และไม่มีทางหนีมันพ้นด้วย

ในทำนองเดียวกัน เฟาซีพูดต่อว่าเราบอกโลกว่าโรคไวรัสระบาดทั่วครั้งใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไวรัสปอดกำลังจะมา พวกเขาบอกคุณไม่ได้หรอกว่ามันจะมาเมื่อไหร่หรือรุนแรงแค่ไหน ว่ามันจะเลวร้ายกว่าไข้หวัดใหญ่สเปนหรือเบากว่า แต่มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น และดังนั้น เราต้องเตรียมพร้อมไว้หรือไม่เราก็จะเจอกับโรคระบาดทั่ว

แต่แล้วก็เป็นอันว่าเราไม่ได้เตรียมพร้อมไว้นะครับ และผมไม่อยากติเตียนว่ามีแต่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้เตรียมพร้อมถึงแม้จะเห็นชัดว่าสหรัฐไม่ได้เตรียมพร้อมจริงๆ ก็ตาม เราพูดถึงประเทศอื่นได้ด้วยเช่นกัน อิตาลีก็ใช่ว่าจะไม่มีที่ติ

ช่วงหลายปีก่อนโรคระบาดทั่วครั้งนี้มีการตัดทอนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และปรับลดค่าใช้จ่ายด้านระบบสาธารณสุขกันเป็นนิจศีล เคราะห์ดีที่อิตาลีมีระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาลรัฐซึ่งจัดอยู่ในบรรดาดีที่สุดของโลก แม้ว่าจุดอ่อนจะอยู่ตรงที่พวกเขาขาดสมรรถภาพในการตรวจหาตัวผู้ป่วยและขาดเครื่องเวชภัณฑ์กับอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับคนงานด้านดูแลรักษาสุขภาพก็ตาม

ผู้คนล้มตายเพราะโควิด19 ในเอกวาดอร์มากมายจนโลงศพไมพอ ต้องใช้กล่องกระดาษแทน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังจะต้องประสบโรคภัยหนักหนาสาหัสกว่านี้อีกเพราะสหรัฐไม่มีสิ่งที่อิตาลีมี อันได้แก่ระบบดูแลรักษาสุขภาพถ้วนหน้า วิธีการสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่จะต้องเตรียมไว้ในอนาคตก็คือประกันให้ทุกคนบนโลกใบนี้เข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาลฟรี

เพราะถ้าหากใครสักคนเกิดป่วยติดเชื้อไวรัสปอดขึ้นมา มันก็จะทำให้ทุกคนในโลกเดือดร้อนได้ และฉะนั้น ถ้าหากจะให้ใครสักคนปลอดจากโรคระบาดแล้ว เราก็ต้องคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกคนนั่นแหละ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่