กรองกระแส / ไวรัส การเมือง ภายใน พลังประชารัฐ การเมือง อำนาจ

กรองกระแส

 

ไวรัส การเมือง

ภายใน พลังประชารัฐ

การเมือง อำนาจ

 

อาการอันเกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐเป็นอาการซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว ทั้งในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้และยุคไกล

ไม่ว่าจะกับพรรคเสรีมนังคศิลาในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ไม่ว่าจะกับพรรคชาติสังคมในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่าจะกับพรรคสหประชาไทยในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

และล่าสุดก็คือกับพรรคสามัคคีธรรมในยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร

เป็นอาการที่นายชวน หลีกภัย เคยมีบทเรียน เป็นอาการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยมีบทเรียน เป็นอาการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็พอจะประเมินได้

เพียงแต่เป็นของใหม่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นเอง

 

โรคทางการเมือง

โรคนักรัฐประหาร

นักรัฐประหารไม่ว่ายุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ว่ายุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่ายุคจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่ายุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร แทบไม่แตกต่างกัน

เริ่มต้นจากเห็นความเลวร้ายของ “นักการเมือง”

กระนั้น เมื่อต้องการสืบทอดอำนาจทางการเมืองก็มีความจำเป็นต้องใช้บริการของ “นักการเมือง” มาเป็นนั่งร้าน มาเสริมความมั่นคง

จึงใช้ทั้งอำนาจ “การเมือง” ใช้ทั้งอำนาจ “เงิน” กวาดต้อน

กลยุทธ์ดำเนินไปบนพื้นฐานแห่งการข่มขู่ คุกคาม และใช้อามิสเป็นเหยื่อล่อ ใครที่มาเป็นพวกเดียวกับตนไม่เพียงแต่ได้รับการผ่อนปรน หากแต่ยังได้เงินจำนวนมหาศาล

นักการเมืองที่ได้ไปจึงมิได้เป็นนักการเมืองน้ำดี หากแต่เป็นนักการเมืองน้ำเน่า

 

ทรยศ หักหลัง

ตำแหน่ง เงินตรา

สภาพอันเกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐจึงมิได้เป็นสภาพการณ์ใหม่ ตรงกันข้าม เป็นสภาพและอาการที่อยู่ในความคาดหมายอยู่แล้ว

ทั้งมาจากธรรมชาติของนักรัฐประหารที่สืบทอดอำนาจ

ตัวอย่างจากยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีให้เห็น ตัวอย่างจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีให้เห็น ตัวอย่างจากยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ก็มีให้เห็น

การทรยศหักหลังกลายเป็นสภาพอันธรรมดาปรกติทางการเมือง

ตัวอย่างจากกรณีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 กำลังเป็นบทเรียนให้กับ “กลุ่ม 4 กุมาร” ในเดือนมิถุนายน 2563

ปฏิบัติการกดดันผ่านกระบวนการ 18 กรรมการบริหารลาออกคือตัวอย่าง

ตัวอย่างเหล่านี้มิได้มาจากการกระทบกระแทกจากฝ่ายตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล

ตรงกันข้าม เป็นการขัดแย้ง แตกแยก “ภายใน” ของพรรคพลังประชารัฐเอง

เป็นความต้องการที่จะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค เพื่อเป็นกระดานหกไปสู่การปรับ ครม. เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

บนพื้นฐานแห่งงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท

 

เป็นไปตามกฎ

ธรรมชาติการเมือง

อาการทางการเมืองที่เห็นและเป็นอยู่ในกรณีของพรรคพลังประชารัฐ เป็นผลและความต่อเนื่องมาจากกระสวนทางการเมืองแบบรัฐประหาร

เป็นอาการอันเนื่องแต่ความพยายามในการสืบทอดอำนาจ

เป็นโรคซึ่งรุมเร้ามาจากการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐที่ประกอบส่วนขึ้นจากมุ้งและกลุ่มมากมายหลายกลุ่ม

เมื่อมีพื้นฐานอยู่กับอำนาจ “การเมือง” อยู่กับอำนาจ “เงิน”

การขับเคลื่อนของพรรคพลังประชารัฐจึงเป็นการขับเคลื่อนด้วยอำนาจ “รัฐประหาร” จึงเป็นการขับเคลื่อนด้วยอำนาจแห่ง “ผลประโยชน์”

การทรยศ หักหลังจึงเป็น “เครื่องมือ” และ “อาวุธ” ในทางการเมือง

เพราะว่าการทรยศ หักหลัง ทำให้ได้มาซึ่ง “อำนาจ” ทำให้ได้มาซึ่ง “ผลประโยชน์” อันมหาศาลอย่างที่เห็นกันอย่างเด่นชัด

นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

       จึงสร้างค่านิยมให้กับทหารที่กระหายใน “อำนาจ” จึงเป็นแม่เหล็กแท่งใหญ่ดึงดูดนักการเมืองที่กระหายใน “ผลประโยชน์” เข้ามารวมกัน


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่