เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระหินทรายพะเยา” ไยจึงนิยมวัสดุศิลา มากกว่าสกุลช่างอื่นในล้านนา?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ทุกครั้งที่ดิฉันไปเมืองพะเยา ไม่ว่าจะแวะวัดพระเจ้าตนหลวง (ศรีโคมคำ) ก็ดี วัดลีก็ดี เวียงลอก็ดี หรืออยู่ในเวทีสัมมนาทางวิชาการใดๆ ก็ดี มักได้ยินคำถามเดิมๆ อันเป็นคำถามเดียวกัน ที่พุ่งตรงมาจากพระภิกษุและฆราวาสผู้ล้วนแต่เป็นปราชญ์ท้องถิ่นเมืองพะเยาว่า

“ทำไมพระหินทรายถึงได้มีเฉพาะที่เมืองพะเยาเท่านั้น?”

อันที่จริงเมืองอื่นในล้านนายุครุ่งเรืองระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-21 ก็พอมีงานแกะสลักพระพุทธรูปด้วยหินอยู่บ้างแต่น้อยนิดเหลือเกินเมื่อเทียบกับเมืองพะเยา และในขณะเดียวกันพุทธศิลป์พะเยาก็มีงานประเภทหล่อสำริดด้วยไม่น้อยแต่ก็ไม่มากเท่างานแกะสลักหิน

ดังนั้น ภาพรวมของงานพุทธศิลป์ล้านนาเมืองพะเยา ความโดดเด่นจึงหนีไม่พ้นคำว่า “หินทราย” ไปได้เลย

ดิฉันลองตั้งสมมุติฐานไว้หลายข้อ อาทิ หรือเป็นเพราะเมืองพะเยามีหินทรายคุณภาพดีเลิศกว่าที่อื่น?

หากหินทรายมีคุณภาพเยี่ยม แล้วช่างจำหลักหินนั้นล่ะก็จะต้องมีความช่ำชองด้วยเช่นกันใช่ไหม

ไปฝึกฝนมาจากไหน

เป็นช่างพื้นถิ่นชาติพันธุ์อะไร

หรืออิมพอร์ตใครมาจากที่ใด

มีเชื้อสายมอญหรือขอมโบราณไหม?

หรือจะเป็นการสืบทอดงานพุทธศิลป์ตกค้างจากสกุลช่างหริภุญไชยตอนปลายที่ย้ายฐานมาอยู่เมืองพะเยา?

หรือรูปแบบพุทธศิลป์ที่พิเศษเช่นนี้ เป็นเพราะการขึ้นมาของวีรบุรุษแห่งเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ที่ชื่อ “ยุทธิษเฐียร” จึงทำให้เกิดความนิยมใช้วัสดุแปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากการหล่อสำริดที่พบทั่วไปในล้านนา?

หรือ และหรือ…? บทความนี้ดิฉันขอเชิญให้ร่วมกันถามและตอบ เพื่อช่วยไขปริศนาไปพร้อมๆ กัน

 

พระหินทรายพะเยารุ่นเก่า
เป็นต้นแบบให้พระแก้วมรกต

ก่อนอื่นเราต้องปักหมุดให้ชัดลงไปว่า จุดเริ่มต้นและการสิ้นสุดแห่งการสร้างพระหินทรายที่เมืองพะเยามีขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษไหนถึงไหนกันแน่

ผู้ที่เปิดประเด็นเรื่องพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยารายแรกๆ ก็คือ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น.ณ ปากน้ำ ผ่านบทความ “ศิลปะสกุลช่างพะเยา” ในหนังสือ “ศิลปะโบราณในสยาม” โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ปี 2537

อาจารย์ยูรกำหนดอายุพระหินทรายเมืองพะเยาว่า “เก่าถึงพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะมีร่องรอยของศิลปะปาละจากอินเดียอย่างชัดเจน”

และสรุปว่า “เมืองพะเยาเป็นเมืองโบราณรุ่นก่อนเชียงใหม่ เชียงแสน และสุโขทัย ในภาคเหนือศิลปะที่เก่ากว่าพะเยาก็มีแต่หริภุญไชยเท่านั้น”

ปี 2532 ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (ต่อมาเป็นศาสตราจารย์ ดร. ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง “พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา” ได้ข้อสรุปว่า แม้ตำนานและพงศาวดารต่างๆ จะระบุว่าเมืองพะเยามีมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 ในยุคของขุนจอมธรรม (ประมาณ พ.ศ.1639)

แต่หลักฐานด้านโบราณวัตถุ ทั้งเครื่องปั้นดินเผา และพระพุทธรูปหินทราย พบว่าไม่มีชิ้นไหนเก่าเกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 ได้เลย

ดังนั้น ในแวดวงวิชาการจึงตรึงหมุดการกำหนดอายุพระหินทรายสกุลช่างพะเยาไว้ว่า องค์ที่เก่าสุดมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 (ระหว่าง พ.ศ.1801-1900) และพระหินทรายกลุ่มสุดท้ายทำขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 (ระหว่าง พ.ศ.2101-2200)

เพราะหลังจากนั้นแล้วล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอย่างยาวนาน แม้จะมีการฟื้นม่านในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการแกะสลักพระพุทธรูปหินทรายที่เมืองพะเยาอีกเลย

กล่าวให้ง่ายก็คือ การสร้างงานพุทธศิลป์ด้วยหินทรายที่เมืองพะเยา อยู่ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนาพอดี

วิทยานิพนธ์ของอาจารย์ศักดิ์ชัยเล่มนั้นได้ถูกนำไปขยายซ้ำในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมเมืองพะเยา” เมื่อปี 2538 โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการ

ได้มีการสรุปข้อมูลเกี่ยวกับพระหินทรายสกุลช่างพะเยาว่าสามารถแบ่งได้เป็น 5 หมวด (แต่ละหมวดยังมีการแบ่งแยกย่อยตามพุทธลักษณะได้เป็น 1 2 3…) ในที่นี้ดิฉันขอนำเสนอภาพรวมพอสังเขปดังนี้

หมวดที่ 1 พบพระหินทรายสกุลช่างพะเยาเพียงแค่ 2 องค์ มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ร่วมสมัยกับพระญางำเมืองพอดี หมวดนี้มีความคล้ายคลึงและร่วมสมัยกับพระเชียงแสนสิงห์ 1 เช่น พระองค์อวบอ้วน ชายสังฆาฏิสั้น ฯลฯ

แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างจากสิงห์ 1 ก็คือการที่มีเค้าของพระพุทธรูปหริภุญไชยหลายอย่างท้อนซับ

อาทิ การทำนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ปกติแล้วพระสิงห์ล้านนาจะทำนิ้วเสมอกันในรุ่นพระสิงห์ 3 โดยรับจากสุโขทัย แต่พระหินทรายพะเยาหมวดที่ 1 นี่ทำนิ้วเสมอตั้งแต่รุ่นแรก ทั้งๆ ที่อิทธิพลสุโขทัยยังขึ้นมาไม่ถึง เว้นแต่ว่ารับมาจากหริภุญไชยซึ่งทำนิ้วทั้ง 4 เสมอเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ลีลาท่านั่งขัดสมาธิเพชรของพระหินทรายกลุ่มแรกก็ค่อนไปทางหริภุญไชยมากกว่าพระเชียงแสนสิงห์ 1

หมวดที่ 2 น่าจะเรียกว่าหมวดคลาสสิคหรือยุคทอง มีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 21 รับอิทธิพลจากสุโขทัยมาหลายประการ เนื่องจากเป็นยุคที่พระญายุทธิษเฐียรจากสองแควได้รับไฟเขียวจากพระเจ้าติโลกราชให้ขึ้นมาปกครองพะเยาโดยตรง

ฉะนั้น พระหินทรายจึงนั่งขัดสมาธิราบ ชายสังฆาฏิยาว พระพักตร์รูปไข่ รัศมีเปลว ในส่วนพระเศียรมีทั้งแบบเรียบเกลี้ยงไม่ปรากฏเม็ดพระศก และแบบเม็ดพระศกกลมโต

พระหินทรายพะเยาหมวดที่ 2 กลุ่มไม่มีเม็ดพระศกนี่เอง ที่อาจารย์ศักดิ์ชัยเสนอว่า น่าจะส่งอิทธิพลให้แก่รูปแบบของ “พระแก้วมรกต” องค์สำคัญ ไม่ว่าพระเศียรเรียบเกลี้ยง พระขนง พระนาสิก พระโอษฐ์ พระกรรณ ที่คล้ายคลึงกับพระแก้วมรกตมาก

หมวดที่ 3 อายุสมัยยังตีคู่ขนานไปกับหมวดที่ 2 แต่พระพักตร์ออกเหลี่ยม ไม่หวาน โดยมากทำพระชงฆ์ตัดตรงคล้าย “พระเจ้าแข้งคม” เม็ดพระศกตีเป็นช่องตารางอย่างมีระเบียบ

หมวดที่ 4 และ หมวดที่ 5 รูปแบบพุทธศิลป์ก็เข้าสู่ล้านนาตอนปลายที่มีความปลีกย่อยมากยิ่งขึ้น ฝีมือเริ่มมีความเป็นท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ มีการผสมกับสกุลช่างล้านช้างบ้าง

สกุลช่างแพร่น่านบ้าง

 

ภูเขาเป็นใจหรือนัยทางการเมือง

คนที่เคยไปเมืองพะเยานั่งรถจากใต้ขึ้นเหนือ หากเราใช้เส้นทางหลวงสายหลักจากตัวกว๊านพะเยาผ่านอำเภอแม่ใจขึ้นสู่อำเภอพานของเชียงราย ย่อมมองเห็นเทือกเขาลูกหนึ่งพาดยาวเหยียดทางทิศตะวันออกของเมือง ยอดเขากร่อนรอนรานไปแล้ว ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า “ดอยด้วน” อันเป็นที่มาของคำว่า “ภูกามยาว” หรือ “ผายาว” ก่อนจักกลายมาเป็น “พยาว” และ “พะเยา” ในที่สุด

เทือกเขาเทือกนี้เองที่ช่างได้สกัดหินทรายคุณภาพดีมีทั้งหินทรายขาว อมเหลือง อมเทา และอมชมพู มาจำหลักเป็นงานพุทธศิลป์ ไม่เพียงแต่พระพุทธรูปเท่านั้น แต่ยังแกะสลักเป็นสถูปจำลอง เสาบัว ฐานพระที่มีช้างล้อม จวบปัจจุบันของฝากของที่ระลึกจากเมืองพะเยาสิ่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ “ครกศิลา”

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบวกกลับมาที่เดิมว่า “สรุปแล้วช่างที่แกะหินงานพุทธศิลป์ให้พะเยาในสมัยล้านนานั้น เป็นใคร มาจากไหน ทำไมจึงมีความสันทัดจัดเจน และทำกันเป็นล่ำเป็นสัน?”

การกระจายตัวของพระหินทรายพะเยาไม่ได้พบแค่ในแคว้นภูกามยาวเพียงเท่านั้น

แต่ยังพบในเขตรัศมีเมืองรายรอบที่อยู่ใกล้ศูนย์อำนาจเมืองพะเยามาก่อนอีกด้วย อาทิ เวียงเทิง เวียงเชียงของ เวียงล่อพราน (พาน) วังเหนือ ฯลฯ

คำตอบที่จะเชื่อมโยงไปยัง “ชาวมอญหริภุญไชยจากลำพูน” อาณาจักรที่มีงานแกะสลักหินมากพอสมควร เป็นอันต้องตัดทิ้งไปเลยไหม หรือควรเก็บไว้ก่อน ในเมื่อพระพุทธรูปรุ่นเก่าสุดของพะเยาเริ่มต้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เท่านั้น

แต่อย่าลืมว่าอาณาจักรหริภุญไชยก็ล่มสลายในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 พอดิบพอดี นั่นคือพระญามังรายตีลำพูนแตกในปี พ.ศ.1824 (ยึดตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หากยึดตามชินกาลมาลินีก็เป็นปี 1835)

เป็นไปได้หรือไม่ว่าชาวหริภุญไชย (อาจจะทั้งมอญและขอม เนื่องจากสมัยหริภุญไชยตอนปลายมีขอมขึ้นมาจากละโว้อีกหลายระลอก คลุกเคล้าผสมปนเปกับมอญหริภุญไชยดั้งเดิม) ส่วนหนึ่งได้หนีตายอพยพมาปักหลักอยู่แถวภูกามยาว

แม้ไม่มีหลักฐานด้านลายลักษณ์ระบุไว้ แต่ในพิพิธภัณฑ์ที่วัดลีและที่เวียงลอ ก็พบโบราณวัตถุรุ่นเก่าประเภทพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชยตอนปลายอยู่ประปราย อาจจะสวนทางกับความเชื่อของนักวิชาการที่สรุปไว้ว่า โบราณวัตถุในแหล่งโบราณคดีเมืองพะเยามีอายุไม่เก่าเกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 ไปบ้างก็ตาม

แต่มันก็สอดคล้องกับงานพุทธศิลป์หินทรายหมวดแรกสุดมิใช่หรือ ว่ามีร่องรอยของศิลปะหริภุญไชยแทรกปนอยู่ไม่น้อย

งานแกะสลักหินไม่ใช่ของง่าย ต่อให้คุณมีภูเขาหินทรายคุณภาพดีเลิศวิเศษสุดอยู่เบื้องหน้าเพียงไรก็ตามที หากช่างไม่สันทัดจัดเจนมาก่อน ก็ยากที่จะจับสิ่วตอกลิ่มบนแท่งหินนั้นได้ถนัดถนี่

น่าประหลาดใจตรงที่เมืองอื่นๆ ในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-22 ตอนต้น กำลังสนุกกับการหล่อประติมากรรมสำริด การทำปูนปั้นที่ต่อยอดจากยุคหริภุญไชยจนบรรลุขั้นสูงสุดที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เวียงเกาะกลาง ป่าซาง และวัดเจ็ดยอดเชียงใหม่ การทำเครื่องถ้วยของกลุ่มเตาสันกำแพง แม่ออน และเตาเวียงกาหลง เวียงป่าเป้า แต่ทำไมที่พะเยายังพอใจกับการนั่งแกะสลักหินทราย?

หรือเป็นเพราะสถานะของเมืองถูกลดบทบาทจากแคว้นอิสระที่พระญางำเมืองเคยปกครองในช่วงสั้นๆ สิ้นพระญางำเมืองเพียงไม่กี่รัชกาล ต้องกลายมาเป็นหัวเมืองระดับพันนาเมืองหนึ่งของล้านนาเชียงใหม่ ที่เจ้าเมืองมีศักดิ์เป็นแค่ “เจ้าสี่หมื่น” (ไม่ถึงแสน) ทำให้ไม่สามารถที่จะเสาะหาวัสดุมีค่าประเภทโลหะทองสำริดมาสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ได้อย่างรุ่มรวย มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการไปแข่งบารมีกับกษัตริย์ของวังหลวงเชียงใหม่

หรือว่าเป็นเพราะบุคคลผู้นี้ “ยุทธิษเฐียร” ผู้ที่ได้รับการประกาศให้มีสถานะเป็น “โอรส” (ตามวาระทางการเมือง) ของพระเจ้าติโลกราช เมื่อขึ้นมายังดินแดนล้านนาได้รับสิทธิ์ปกครองภูกามยาว ยุทธิษเฐียรได้ขนช่างชาวสุโขทัย ชาวพิษณุโลก บ้างมีเชื้อสายอยุธยาขึ้นมาด้วยเรือนหมื่น

ศิลปกรรมอยุธยาต้น (สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ตรงกับพระเจ้าติโลกราช) ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาขึ้นมาจนถึงน้ำยมและน้ำน่าน ก็มีความนิยมในการทำพระพุทธรูปหินทรายเป็นอย่างมาก ยิ่งกว่าในเขตเชียงใหม่ เชียงแสน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า จุดเปลี่ยนอีกครั้งที่ผลักดันให้เกิดความนิยมเรื่องการจำหลักพระพุทธรูปหินทรายในล้านนาอาจมีขึ้นในยุคนี้

พระญายุทธิษเฐียรประกาศตนในจารึกหลักหนึ่งว่าตนคือ “พระเจ้าอโศกธรรมราชา” คือต้องการเทียบบารมีแข่งความเป็น “พุทธราชา” หรือ “ธรรมิกราชา” กับพระเจ้าติโลกราช ในเมื่อความต้องการที่จะสร้างพระพุทธรูปของยุทธิษเฐียรนั้นมีมากเกินพิกัด ศักยภาพของช่างต่างถิ่นแต่ละคนนั้นก็เหลือเฟือเกินกว่าจำนวนวัสดุอันจำกัด

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้ต้องหันไปมองวัสดุประเภทหินทรายแทนที่งานโลหกรรม ด้วยสามารถตัดมันมาใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ยิ่งพบว่าประชากรที่นี่มีพื้นฐานเดิมในการสลักหินอยู่บ้างแล้ว พระหินทรายจึงได้รับการสนับสนุนให้จัดทำอย่างเอิกเกริก เพราะโดยเนื้อวัสดุแล้วสลักมากแค่ไหนก็ไม่ระคายหรือถูกเขม่น

ถึงบรรทัดนี้ ดิฉันก็ยังไม่มีคำตอบให้แก่ชาวพะเยาในเรื่องนี้อยู่ดี มีแต่เพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น หวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเราพบหลักฐานอะไรมากขึ้น คงได้รับคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่านี้

แต่อย่างน้อยก็ได้โยนก้อนหินถามทางเรื่องพระหินทรายพะเยาแล้ว

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่