เกิดยุคไหนก็ไม่สนุก, โหด, ฮา เท่าหลังสงครามโลกสู่สงครามเย็น! | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนถึงการรำลึกถึง 75 ปีของการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปที่เรียกว่า VE (Victory in Europe) Day ในปีนี้

คนรุ่น Baby Boomer อย่างผมที่เกิดหลังจากนั้นก็มีเรื่องราวที่ต้องบันทึกเอาไว้มากมาย

จะไม่ให้คนยุคเบบี้ บูมเมอร์อ้างว่าช่วงชีวิตของพวกเขาและเธอน่าตื่นเต้นและมีสีสันที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกได้อย่างไรในเมื่อเป็นช่วงที่รัสเซียส่งดาวเทียมขึ้นอวกาศเป็นประเทศแรกจนเกิดศัพท์ใหม่วันนี้ที่เรียกว่า The Sputnik Moment

อเมริกาต้องกวดไล่ให้ทันด้วยการส่งมนุษย์บุกดวงจันทร์ครั้งแรก

การดีเบตการเมืองถ่ายทอดสดทางทีวีเป็นปฐมบทของโลก

หวิดเกิดสงครามขีปนาวุธระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตปี 1962 กรณีเผชิญหน้ากันที่คิวบา…เมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ และประธานาธิบดีนิกิต้า ครุสชอฟ เล่นเกมเสียว…ตาต่อตา ฟันต่อฟันกัน 13 วันก่อนจะถอยคนละก้าว

ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบสังหาร

ผู้นำผิวดำสหรัฐ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกลอบยิงตาย

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เหยียบแผ่นดินจีนจับมือเหมาเจ๋อตุง

ผู้นำสหรัฐต้องลาออกเพราะคดีอื้อฉาววอเตอร์เกต

สงครามเวียดนามยืดเยื้อ 20 ปี

สนามบินไทยถูกมะกันใช้เป็นฐานทัพถล่มเพื่อนบ้านเวียดนาม

ทหารจีไอมาเต็มบ้านเต็มเมืองไทย

จารชนซีไอเอมะกันและเคจีบีรัสเซียจิบเหล้าด้วยกันในแบมบูบาร์ของโรงแรมโอเรียนเต็ลริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าตาเฉย (เผลอๆ เมื่อเมาได้ที่อาจจะแลกเปลี่ยนข่าวกรองกันด้วยซ้ำ)

ยามนั้น ถนนเพชรบุรีตัดใหม่คือสัญลักษณ์ของโลก “โลกีย์, สงคราม, อาวุธเถื่อน และยาเสพติด” เกลื่อนบ้านท่วมเมือง

ถนนพัฒน์พงศ์คือแหล่งอบายมุข, บันเทิงและการแลกเปลี่ยนของปัญญาชนถกแถลงถึงความถูกต้อง, ผิดพลาดและหายนะแห่งสงคราม, สันติภาพและหุบเหวระหว่างกลางของสองทางเลือก

ไม่เพียงแต่เท่านั้น คนรุ่นผมยังเป็นพยานให้กับความผันแปรอันสำคัญของโลกอีกหลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เทียนอันเหมินที่ปักกิ่ง

เราเห็นนักศึกษาจีนรวมตัวเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1989 จากรัฐบาลจีนภายใต้การนำของ “เสือเตี้ย” เติ้งเสี่ยวผิง

แต่ยังไม่ทันจะตั้งตัวได้ทัน คนรุ่นใหม่ก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ

ในปีเดียวกันนั้นเอง อีกด้านหนึ่งของโลก เราเห็นการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ระหว่างสองค่ายใหญ่ของโลก

โดยมี “กำแพงอัปยศ” ตรงกลางเมืองหลักของเยอรมนีเป็นเดิมพัน

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นที่ทำให้นักวิเคราะห์ตะวันตกชื่อดัง Francis Fukuyama ประกาศว่า “ประวัติศาสตร์สิ้นสุดแล้ว” หรือ The End of History

ความหมายคือการต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์และโลกทุนนิยมเสรีได้ยุติลงแล้ว

เป็นการสิ้นสุดของสงครามเย็น (1945-1991) ที่โลกคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ให้แก่ทุนนิยมโดยสิ้นเชิง

เพราะสหภาพโซเวียตล่มสลาย (1991)

และจีนเริ่มเข้าสู่ยุคแห่ง “สังคมนิยมแบบการตลาดที่มีอัตลักษณ์แบบจีน”

แต่คำทำนายนั้นกลายเป็นหมัน

เพราะประวัติศาสตร์ฉากใหม่ก็ปรากฏตัวขึ้นโดยพลัน…มังกรจีนเริ่มสยายปีก และอินทรีอเมริกาทำท่าจะเข้าสู่โหมด “ขาลง”

ต้องมีการเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ที่กำลังจะพลิกโฉมโลกอีกวาระหนึ่ง

ยิ่งมาเจอกับการระบาดของโควิด-19 ยิ่งเกิดคำถามใหญ่กว่าเดิมว่า

ตกลงระบอบการปกครองแบบไหนที่สามารถปราบไวรัสวายร้ายได้ดีกว่ากัน

หรือประเด็นอาจไม่ใช่เรื่องระบอบการเมือง

หากอยู่ที่วัฒนธรรมสังคมที่แตกต่างจึงทำให้จีนสามารถจัดการกับโควิดได้แจ่มชัดและรวดเร็วกว่าสหรัฐและโลกตะวันตก

มันเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” มากน้อยเพียงใด

ยังเป็นคำถามที่รอการพิสูจน์กันในอีกหนึ่งเจเนอเรชั่นหรือไม่

แต่สำหรับคนรุ่นเบบี้ บูมเมอร์อย่างผม 75 ที่ผ่านมาเป็นช่วงจังหวะที่เจอประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจชนิดที่ให้เลือกเกิดยุคสมัยอื่นก็คงจะลังเลเป็นพิเศษ

เบบี้ บูมเมอร์โตมาพร้อมกับเครื่องพิมพ์ดีดและโทรศัพท์ตั้งโต๊ะพร้อมกับ “ตู้โทรศัพท์สาธารณะ”

คนรุ่นผมผ่านจากระบบ analog สู่ digital อย่างครบถ้วนกระบวนความ

จนก่อนจะกลายเป็น “ผู้อาวุโส” ที่คนรุ่นต่อมามองว่าตามเทคโนโลยีไม่ทัน เบบี้ บูมเมอร์ก็ยังมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์”

Artificial Intellligence (AI) ทำอะไรได้มากมายจนคนรุ่นผมที่สนุกกับการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพื่อช่วยทำอะไรได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และ “ฉลาด” ขึ้น อยากจะมีชีวิตอยู่ให้ครบอย่างน้อย 100 เพื่อจะได้จากลาไปอย่างสบายใจว่า

“ไม่เสียชาติเกิด”

และ “ไม่ได้หายใจทิ้งไปเฉยๆ”

หากแต่ยังสั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่ทุกอย่างยังเดินหน้าทีละก้าว จากหลังไปหน้า จากซ้ายไปขวา แบบที่เรียกว่า linear

มาเป็นลักษณะทวีคูณไม่จำกัดทิศทางและไร้เงื่อนไขที่เรียกว่า exponential หรือการก้าวกระโดดไร้ขีดจำกัด

จนเกิดความรู้สึกว่าจะเสียดายอย่างยิ่งถ้าหากไม่มีลมหายใจยาวนานพอที่จะเห็น quantum technology ทำให้มนุษย์กระโจนเข้าสู่ยุคที่ทำให้ค่าเลขฐานสองคือ 0 กับ 1 ถูกประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ไปได้พร้อมๆ กัน

เบบี้ บูมเมอร์ไม่ได้เข้าใจทุกอย่างที่ได้รับรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีหรอก

แต่คนรุ่นผมมีความกลัวฝังหัวอยู่ประการหนึ่งคือ “กลัวโง่” จึงต้องใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา

พอมีคนมาให้คำนิยามเรื่อง Quantum Technology แม้จะไม่เข้าใจทุกถ้อยกระทงความแต่ก็รู้ว่ามันมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนโลกครั้งใหญ่อีกรอบ จึงต้องเอาข้อความนี้แปะไว้ข้างฝา

มันอ่านได้ความว่า

“เทคโนโลยีควอนตัม” คือการพัฒนาระดับโมเลกุลที่ทำให้หน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ทำงานเร็วขึ้น ต่างจากคอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่ใช้การประมวลผลจากการอ่านค่าเลขฐานสองคือ 0 กับ 1 แต่ควอนตัมคอมพิวเตอร์นั้นจะประมวลผลทั้ง 0 และ 1 ไปพร้อมๆ กัน นอกจากจะย่นระยะเวลาประมวลผลแล้ว คอมพิวเตอร์ยังเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและฉลาดกว่าเดิมหลายร้อยหลายพันเท่า!

เท่านั้นก็ทำให้ตัดสินใจบอกตัวเองว่าจะต้องหายใจไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้เห็นโลกในวันที่เจ้า “ควอนตัม” มันมาถึงหน้าบ้าน

แต่จะมีอะไรน่าเร้าใจให้กับคนรุ่นผมได้เท่ากับความชัดเจนที่ว่าในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า มนุษย์จะไปพิชิตดาวอังคารได้จริง

อะไรจะทำให้ตื่นตะลึงได้เท่ากับการที่พบด้วยตนเองว่าหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์หรือ sci-fi ที่แอบอ่านในห้องเรียนนั้นมันกลายเป็นความจริงได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ผมถามนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ว่าหนังเรื่อง The Martian ที่มนุษย์ขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคารด้วยวิธีการพิเศษอย่างนั้นมันเป็นไปได้ตามหลักวิทยาศาสตร์จริงหรือ

คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญหลายสายเห็นพ้องกันว่ามันมีเค้าแห่งความจริงถึง 95%

เมื่อผมถามเยาวชนวัย 16 ที่สนใจดาราศาสตร์อย่างจริงจังคนหนึ่งว่าเขาคิดว่าในช่วงชีวิตเขา มนุษย์พิชิตดาวอังคารสำเร็จไหม เขาตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า

“แน่นอนครับ อีก 15-20 ปี มนุษย์ก็ไปดาวอังคารได้แล้วครับ คุณลุงสงสัยอะไรหรือครับ”

ผมได้แต่พยักหน้า เงียบงันไปครู่ใหญ่ และบอกฝากเด็กรุ่นหลานให้ดูแลโลกให้อยู่ในสภาพที่มนุษย์จะอยู่ไปได้นานพอที่จะไม่ต้องพึ่งพาดาวอังคารเป็น “อาณานิคม” ที่จะมาทดแทนโลกมนุษย์วันนี้เท่านั้น

เพราะสำหรับคนรุ่นผม เพียงแค่ได้เห็นภาพมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 และได้ฟังเสียงมนุษย์อวกาศ Neil Armstrong เอ่ยเอื้อนประโยคขณะเหยียบพื้นผิวพระจันทร์ว่า

That’s one small step for a man, one giant leap for mankind.

หนึ่งก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คือหนึ่งก้าวกระโดดยักษ์ของมนุษยชาติ

ผมก็ขนลุกเต็มตัวอยู่หลายวัน

เพราะไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าในช่วงชีวิตของคนจะได้เห็นการผจญภัยของมนุษย์ที่สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์บนดวงจันทร์ได้เช่นนี้

กระนั้น วันที่ “ศัตรูที่มองไม่เห็น” ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อ Covid-19 อาละวาดไปทั่วโลกทำให้คนติดเชื้อ 4-5 ล้านคนและล้มตายหลายแสนคนเหมือนใบไม้ร่วง

เบบี้ บูมเมอร์ก็คงได้แต่รำพึงรำพันกับตัวเองด้วยความทึ่งในความก้าวหน้าของมนุษย์ยุคนี้ว่า

“นึกว่าแน่แค่ไหน”