มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / ศูนย์การค้าเสมือน

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ศูนย์การค้าเสมือน

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ออกแบบศูนย์การค้าและซูเปอร์สโตร์มาบ้าง จึงพอรู้รูปแบบ หน้าตาอาคาร แผนผังทางเดิน ร้านค้า รายละเอียด วัสดุ ป้ายชื่อ ฯลฯ ไปจนถึงภาพลักษณ์ของกิจการอะนาล็อกดังกล่าว

พอถึงยุคสมัยดิจิตอล เริ่มได้ยิน ได้ฟัง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ช้อปปิ้งออนไลน์ อย่าง Lazada หรือช้อปปี้ ที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขายขนาดใหญ่ ครอบคลุมไปทั่วโลก แต่ก็ไม่เคยเข้าไปสั่งซื้อเหมือนวัยรุ่นทั้งหลาย

จนมาถึงยุควิกฤตโควิด-19 ที่ต้องอยู่บ้าน ท่องเน็ตวันละหลายชั่วโมง นอกจากทำให้รู้สึกตัวเลขอายุน้อยลงแล้ว

ยังเริ่มเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

 

อย่างเรื่องอีคอมเมิร์ซ กระแสเฟซบุ๊ก ที่มีคนเปิดขึ้นมา เพื่อให้คนที่มีความสัมพันธ์กันทางใดทางหนึ่ง มีโอกาสรับรู้และช่วยเหลือกัน หรือติดต่อซื้อ-ขายสินค้ากัน

ดูเหมือนจะเริ่มต้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน (แทนการเมืองแบบเดิม) เป็นพื้นที่สำหรับศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้คนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาแลกเปลี่ยน ซื้อ-ขาย ทำกิจการรวมกันมากมาย แม้จะเป็นกลุ่มปิด แต่ก็มีสมาชิกสนใจหลักแสน

เมื่อมีธรรมศาสตร์ฝากร้าน ก็ต้องมีจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ตามด้วย Silpakorn Online Market

สำหรับ ชีวิตสั้น ฝากร้านกันยาวๆ ม.เชียงใหม่ ลูกช้างฝากฮ้าน และกาดนัดลูกช้าง ทั้งหมดนี้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แห่งเดียว

ยังมี KU ฝากร้าน ตลาดนัด มศว ม.กรุงเทพ มาร์เก็ตเพลส Bangmod Marketplace ม.มหิดลเปิดแผง หอการค้า มาร์เก็ตเพลส ไปจนถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็มี ฝากร้านของชาวลูกพ่อขุน

ตามข่าวที่ได้ยินมา ตลาดออนไลน์ทุกแห่งที่ว่ามาคึกคักยิ่งนัก มีสมาชิกร่วมด้วยช่วยกันหลักหมื่นหลักแสน ด้วยสถานการณ์ต้องอยู่กับบ้าน ยังมีเรื่องความรักผูกพันในสถาบันการศึกษา รวมไปถึงความห่วงใยเพื่อน คนเคยรู้จักกัน

สินค้า เริ่มจากอาหารทำเอง ผลไม้ในบ้าน ผลิตเย็บหน้ากากเอง ขยายเป็น หนังสือ ปากกา โต๊ะเขียนแบบ เก้าอี้โซฟา ของใช้ส่วนตัว ไปไกลจนถึงพระเครื่อง ปืน งาช้าง สร้อยคอ ยังมีบริการเสริมความงาม รับจ้างถ่ายรูป ออกแบบกราฟฟิก รวมทั้งให้เช่าหรือขาย บ้านและที่ดิน ที่พัก โรงแรม

ธุรกิจซื้อ-ขายดูจะดี แบบว่าสินค้าหมดสต๊อก ทุเรียนหมดสวน หรือทำอาหารจนหมดแรง ยังมีเรื่องสนุกอื่น เช่น คอนเสิร์ตออนไลน์ ส่งข่าวถึงเพื่อนที่หายไป คิดถึงคนขายผลไม้เจ้าเก่า เป็นต้น

 

แพลตฟอร์มฝากร้านนี้ ยังไม่ใช่ธุรกิจการค้าทำกำไรเหมือนที่อื่น จึงเป็นที่สนใจและมีผู้เข้าร่วมอย่างมากและรวดเร็ว บวกกับความสัมพันธ์ทางใจ คือ ความเป็นนิสิตร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน บวกกับอารมณ์ อยากช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมสถาบัน

ศูนย์การค้าอะนาล็อก ที่เคยเป็นกิจกรรมสำคัญของคนเมือง จึงแปรเปลี่ยนมาเป็นศูนย์การค้าดิจิตอลในยุคโควิด พื้นที่รวมจิตใจของผู้คน ที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดเป็นศูนย์การค้าเสมือน ที่ตอบสนองได้ทั้งฟังก์ชั่น function พาสชั่น passion และอีโมชั่น emotion

ต่อไปคงจะมีศูนย์การค้าแบบนี้อีกมากมาย จากมหาวิทยาลัย สู่วิทยาลัย โรงเรียนมัธยม ประถม ลงไปจนถึงอนุบาล จากจังหวัด ไปอำเภอ สู่ตำบล จากวิชาชีพหนึ่ง ไปอีกหลายวิชาชีพ จากชมรมร้องเพลง ไปเป็นนักปีนเขาได้เช่นกัน

คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซใช่จะง่าย เหมือนอย่างที่วัยรุ่นชอบทำกัน แล้วศูนย์การค้าเสมือนจะสำเร็จ เหมือนกับศูนย์การค้าจริงในอดีตหรือไม่