กรองกระแส / สถานการณ์ฉุกเฉิน ค้ำยัน รัฐราชการรวมศูนย์ เดิมพันทางการเมือง

กรองกระแส

 

สถานการณ์ฉุกเฉิน

ค้ำยัน รัฐราชการรวมศูนย์

เดิมพันทางการเมือง

 

สถานะของการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของเดือนพฤษภาคม กับของเดือนมีนาคม แตกต่างกันอย่างแน่นอน

แตกต่างทั้งด้วยเหตุผลและความจำเป็น

เมื่อเดือนมีนาคม สังคมให้การขานรับและมองเห็นความจำเป็นแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยว่าต้องถึงขั้นนำเอา พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้ก็ตาม

เพียงแค่ พ.ร.บ.ป้องกันโรคระบาดก็น่าจะเพียงพอ

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าสภาพการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับโลกได้ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความสะพรึงกลัวเป็นอย่างสูง จึงจำเป็นต้องยอมรับ ไม่แข็งขืน

แต่จากเดือนมีนาคมมาถึงเดือนพฤษภาคม สภาพการณ์เริ่มแปรเปลี่ยน

เมื่อสภาพการณ์อันเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แปรเปลี่ยน สภาพการณ์อื่นในทางสังคมก็แปรเปลี่ยนไปด้วย

ปัจจัยที่แปรเปลี่ยนนี่แหละคือสภาพที่ไม่ควรมองข้าม

 

โควิด-19 ผ่อนคลาย

เกิดปมเศรษฐกิจ

สภาพที่เกิดขึ้นนับแต่มีการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน นำไปสู่สถานการณ์ที่แม้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสจะสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง

แต่ผลสะเทือนจากมาตรการ “เข้ม” ก็กระทบในทาง “เศรษฐกิจ”

สภาพโกลาหลนับแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา ไม่ว่าจะในเรื่องความไม่ทั่วถึงในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ไม่ว่าจะในเรื่องของการปิดเมือง ปิดงาน

ล้วนประจานให้เห็นถึงความไม่พร้อมในเรื่องเยียวยา ช่วยเหลือ

ปรากฏการณ์ประชาชนเรือนพันไปออกันหน้ากระทรวงการคลัง ปรากฏการณ์คนเข้าแถวยาวเหยียดเป็นกิโลรอรับเงิน รอรับข้าวของ

เป็นสัญญาณอันเด่นชัดว่าบาดแผลจากมาตรการ “เข้ม” รุนแรง ลึกซึ้ง

ทั้งๆ ที่มองเห็นว่าทั้งหมดนี้คือผลสะเทือนจากมาตรการ “เข้ม” ของ พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่มีการยอมรับ

ตรงกันข้าม กลับมีการดำรงและยืดเวลาของสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป

 

เป้าหมายฉุกเฉิน

เป้าหมายการเมือง

สถานการณ์รำลึก 10 ปีของเหตุการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 สถานการณ์รำลึก 6 ปีของรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ฉายสะท้อนตัวตนของรัฐบาล ของสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อมีการเคลื่อนไหวในทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน กลับถูกสกัดขัดขวางจากตำรวจและทหาร

ภายใต้ข้ออ้างจาก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ทั้งๆ ที่การเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน กระทำบนพื้นฐานที่มิได้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเลย

จึงเด่นชัดว่าการคงไว้และยืดสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” เพื่ออะไร

ที่มีการวิเคราะห์และประเมินว่า เป็นความพยายามคงอำนาจเหมือนที่เคยมีหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเป็นความจริง

เท่ากับสถานการณ์ฉุกเฉินคือการคงไว้ของอำนาจจาก “รัฐประหาร”

 

เดิมพันรัฐบาล

สถานการณ์ฉุกเฉิน

การคงไว้และยืดเวลาประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้สภาพการณ์ทางสังคมของไทยได้หวนกลับไปสู่ยุคหลังรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

แม้จะผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มาแล้วก็ตาม

น่าสนใจก็ตรงที่ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนา ต่างเห็นด้วยกับแนวทางนี้

แม้จะผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มาแล้วก็ตาม

การคงไว้และยืดเวลาประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นเดิมพันทางการเมืองครั้งสำคัญอีกคำรบหนึ่ง

            เป็นการยืนยันสถานะและความเป็นจริงแห่ง “รัฐราชการรวมศูนย์”