หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ตีนหน้า’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - การอยู่เพียงลำพังนั้นไม่ง่าย กระทิงตัวนี้เมื่อได้กลิ่นผิดสังเกต มันต้องตรวจสอบให้แน่ใจ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ตีนหน้า’

 

“ก็เมียน่ะสิครับ ถามได้” คำตอบอย่างเสียงดังฟังชัดของเจริญ ชายไทยแท้จากอำเภอศรีสวัสดิ์ ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก ช่วงที่ผมทำงานในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก เขาเป็นสามีของสุวิวรรณ สาวงามชาวกะเหรี่ยง ในหมู่บ้านจะแก ตอบเมื่อ

ผมถามเขาว่า “ในบ้านใครคือผู้นำ”

เจริญตอบชัดเจน เช่นเดียวกับผู้ชายชาวหมู่บ้านจะแกทั้งหลาย

คนทำงานในป่าทุ่งใหญ่รู้ดีว่า ถ้ามีการประชุมในหมู่บ้าน แม้ว่าพวกผู้ชายจะนั่งอยู่ข้างหน้า และถ้ามีคำถามก่อนการประชุม หรือในวงเหล้าว่า “ในบ้านใครเป็นผู้นำ” จะได้คำตอบด้วยเสียงดังๆ ว่า “ก็เรานี่แหละ”

ถ้าถามต่อว่า “เวลามีปัญหา ทำอย่างไรล่ะ”

คำตอบที่ได้จะเป็น “ก็ถามเมียน่ะสิ”

เวลาประชุม ผู้ชายนั่งหน้าๆ ส่วนผู้หญิงอุ้มลูกเล็กนั่งด้านหลัง เหมือนไม่มีความเห็นอะไร แต่คนในทุ่งใหญ่รู้ดีว่า สุดท้ายแล้วหากต้องตัดสินใจหรือลงมติอะไร “ใคร” จะเป็นผู้ตัดสิน

คำตอบเสียงดังฟังชัดของเจริญ ทำให้ผมเห็น “ภาพ” ตีนหน้าชัดเจน…

 

จะแกเป็นหมู่บ้านใหญ่ ทุกครั้งที่ผมไปหา เจริญ สุวิวรรณ จะพาเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้าน เพื่อกินน้ำแข็งไส ซึ่งจะมีเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ที่การสัญจรที่ออกมาทางหมู่บ้านทิไล่ป้า ถึงสเนพ่อง จนถึงอำเภอสังขละ ทำได้ ในฤดูฝนนั้น เส้นทางถูกปิดโดยปริยาย ทางลื่นๆ ชันๆ ระดับน้ำในลำห้วยโลคี่ ซึ่งต้องข้ามไปข้ามมาหลายครั้ง สูงและไหลเชี่ยวเกินกว่ารถจะผ่านได้

ช่วงฤดูแล้ง ในหมู่บ้านจะแก จึงค่อนข้างอุดมสมบูรณ์

หมู่บ้านนี้อยู่มานับร้อยปี ก่อนพื้นที่จะถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์

ประชากรเป็นคนเชื้อชาติกะเหรี่ยง สัญชาติไทย ส่วนใหญ่ยังดำเนินชีวิตไปอย่างสมถะ ถึงวันนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายที่นี่ จะมีวัด โรงเรียนใหญ่ มีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์ มีจานรับสัญญาณ อินเตอร์เน็ต แต่เหล่าคน “รุ่นใหม่” จำนวนไม่น้อย ก็ไม่ละทิ้งประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน

การทำไร่หมุนเวียนที่ว่านั้นไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในที่หนึ่งแล้ว พวกเขาจะทิ้งให้ที่นั่นฟื้นตัวราว 7-8 ปี จึงจะกลับมาทำในที่นั้นๆ อีก

ไม่ล่าสัตว์ใหญ่ อาหารส่วนใหญ่คือปลา ไม่ทำนาตรงที่มีลำห้วยสองสายขนาบ และมีอะไรอีกมากมายอันทำให้เห็นถึงการใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ

คนรุ่นเก่ายังนับถือผี เมื่อถึงปีใหม่ จะมีงานเลี้ยงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยเรียกมาให้กินเลี้ยง ผมพบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนมานับถือ “พระเจ้า”

หลายสิ่งดำเนินไปตามวิถีเดิมๆ การมีลูกมากๆ ก็เป็นวิถีหนึ่ง

“ผมนี่เรียกว่าน้อยครับ ข้างบ้านมี 12 คน” เข่งลีเส็ง คนงานหน่วยพิทักษ์ป่า ผู้มีลูก 7 คน ออกตัว

“เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเยอะครับ” เจริญบอก “พวกดื้อๆ ก็มี ไม่ฟัง เข้าป่าหาเนื้อ เราก็ไล่จับกันไป” เจริญว่า

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือที่นี่ผู้หญิงอยู่ในสถานะ “เท้าหน้า”

 

บรรดาสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั้งหลายนั้น พวกมันจะมีตีนหน้าที่มีขนาดใหญ่กว่าตีนหลัง เหตุผลสำคัญประการหนึ่งเพราะตีนหน้าต้องรองรับน้ำหนักของไหล่และหัวที่ใหญ่โต

ตีนหน้าของนักล่าอย่างเสือนั้น ทรงพลัง มีเล็บที่ยืดออกและดึงเข้าไปเก็บได้ มีความยืดหยุ่น เดินเงียบกริบ

ตีนหน้าสำคัญ และดูเหมือนจะทำหน้าที่นำตีนหลังด้วย

 

ในสังคมสัตว์ป่า สัตว์ฝูง เกือบทุกชนิด ผู้ทำหน้าที่นำฝูงคือตัวเมีย

พวกตัวผู้ซึ่งท่าทางผึ่งผาย องอาจนั่น ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ถูกเลือกให้มาทำหน้าที่พ่อของลูกๆ เท่านั้น

เมื่อหมดภารกิจ ก็ต้องออกไปอยู่ข้างนอก

ทำได้แค่ตามฝูงมาห่างๆ

 

ในป่าทุ่งใหญ่ มีประชากรกระทิงมาก พวกมันทำหน้าที่บุกเบิกเส้นทางแทนช้าง ซึ่งไม่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างถาวร ในทุ่งระบัด มีโอกาสพบเห็นกระทิงฝูงละ 40-50 ตัวเสมอ

ในโป่ง ไม่ว่าจะมีขนาดใด เล็กๆ ในหุบ หรือค่อนข้างใหญ่

รวมทั้งเป็นโป่งเทียมที่คนทำขึ้น จะมีกระทิงเข้ามาใช้บริการ

 

ต้นฤดูฝนวันหนึ่งในโป่งเล็กๆ ซึ่งอยู่ในหุบ กระทิงตัวผู้ อาวุโส ให้โอกาสผมอยู่ใกล้ๆ กว่าหนึ่งสัปดาห์

เห็นใกล้ๆ ไหล่และหัวที่ใหญ่โต ทำให้เข้าใจว่า ตีนหน้าต้องรับน้ำหนักและสำคัญอย่างไร

มองผ่านเลนส์เทเลโฟโต 400 มิลลิเมตร แววตากระทิงแจ่มชัด

ผมกดชัตเตอร์ถ่ายรูปกระทิงตัวนั้นไว้ไม่มากหรอก

เวลาที่เหลือคือ นั่งมองด้วยตา

คงไม่ใช่อุปาทาน แม้ร่างกายยังคงองอาจ ผึ่งผาย แต่ในแววตากระทิงชรา ผมเห็นแววแห่งความว้าเหว่อย่างชัดเจน…