เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | อโคโรนา ปรมาลาภา

ภาษิตว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” แปลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ มีผู้แผลงให้เข้าสถานการณ์ว่า “อโคโรนา ปรมาลาภา” แปลว่า ความไม่มีโคโรนาเป็นลาภอันประเสริฐ

ลาภอันประเสริฐ ก็คือความคิดใหม่ สังคมใหม่และโลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิม

ความคิดใหม่ คือหลักคิดในมาตรฐานใหม่ หมายถึงการปรับมาตรฐานใหม่ให้ชีวิต โดยการจัดระเบียบใหม่ด้วยหลักคิดเดิม

หลักคิดเดิมในที่นี้ก็คือหลักศีลธรรมซึ่งมีอยู่แล้วในทุกศาสนา เพียงนำมาลำดับใหม่เพื่อเผชิญกับทุกสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

เป้าหมายของความคิดใหม่ คือการรู้จักตัวเองที่แท้จริงเป็นหลัก

รู้จักตัวเอง คือตัวที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ตัวที่คนอื่นเขาให้เป็น หรือตัวที่เรานึกเอาคิดเอาเองว่าเราเป็นโน่นนี่

เมื่อรู้จักตัวเองก็จะได้รู้ถึงศักยภาพหรือความสามารถของตัวเราเองจริงๆ ไม่ใช่นึกว่า คาดว่า หวังว่า

ตัวเราจริงๆ นี่แหละ เราอยู่กับมันแต่ก็น้อยนักที่เราจะรู้จักมัน บางคนจนตายก็ยังไม่รู้จักมันเลยทั้งๆ อยู่กับมันตลอดเวลา ส่องกระจกก็นึกว่า “เห็น” มัน

ซึ่งแท้จริงไม่เคย “เห็น” มันจริงๆ เลย

เจ้าโควิดปลิดชีพนี่แหละที่มันมากระตุ้นเตือนให้เราตื่น ให้เราตระหนก เริ่มเป็นห่วง เริ่มเกิดความรู้สึก “รักตัวกลัวตาย” ขึ้นมา

แต่ก็ให้รู้สึกเคว้งคว้างอ้างว้างเหมือนหาตัวเองไม่เจอ…ไม่ทันไร…เอ๊ะ จะตายจริงๆ แล้วหรือนี่

สังคมและโลกที่เป็นมามีแต่จะพาเราให้เตลิดลอย เพริดไปกับสิ่งที่นำเราให้ห่างออกไปจากตัวเราเองจริงๆ มากขึ้นทุกที และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “ความสุข”

หรือเรียกว่า “มายาการ” คือสิ่งลวง

การกลับคืนสู่ตัวเองเพื่อรู้ตัวและจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องด้วยตัวเองนั้น

ธรรมะในพุทธศาสนาเรียกว่า การ “เจริญสติ”

หมายถึงการฝึกให้ระลึกอยู่กับจิตทุกขณะ

คำว่า “ขณะ” หมายถึงตลอดเวลา เหมือนเข็มวินาทีของหน้าปัดนาฬิกา ซึ่งเคลื่อนไปไม่หยุดเลย

ขณะจิตก็เป็นเช่นนี้ มันเคลื่อนไปตลอดเวลา แต่เราสามารถทำให้มันหยุดเคลื่อนได้เมื่อมี “สมาธิ”

เพราะฉะนั้น การ “เจริญสติ” คือการฝึกจับจิตไม่ให้แว่บหรือเพริดเตลิดไปกับความรู้สึกนึกคิดที่มักพาเราไปไหนต่อไหนตลอดเวลา

จิตที่มีสติและสมาธินี่แหละจะทำให้เราได้ “เห็น” สรรพสิ่งตามเป็นจริง คือตามที่มันเป็นมันอยู่ตามนั้นของมันจริงๆ

เช่น เห็นก้อนหินที่ไม่ใช่ก้อนหิน

ไม่ใช่เล่นโวหาร แต่เห็นมันตามสภาพนั้นๆ ไม่ใช่เห็นตามคำนิยามว่า “ก้อนหิน” ดังที่รู้ที่เรียกกันอยู่นั้น

สติและสมาธิเพื่อ “เห็น” สิ่งเป็นจริงนี้

เห็น “เรา” เป็นเราจริงๆ ไม่ใช่เราที่เป็นชื่อเป็นยศศักดิ์ตำแหน่งใดๆ หรือเราตามที่นึกที่คิดว่าเราเป็นแต่อย่างใด

นี่เรียกว่า “เห็น” ถูก ซึ่งต่างกับ “ความเห็น” เป็นถูก-เป็นผิด เพ่งเฉพาะเห็นตามเป็นจริงเท่านั้น

อีกขั้นคือ “เจริญวิปัสสนา” คือการยกระดับจิตจากการ “เห็น” สู่การ “รู้” ในที่นี้คือ รู้สภาพเป็นไปตามปกติของสิ่งที่ได้ “เห็น” อยู่นั้น

เช่น เห็น (ก้อนหิน) ด้วยสติและสมาธิ จากนี้เลื่อนเป็น “รู้” ว่าสิ่งนี้สมมุติเรียกว่า “ก้อนหิน” ด้วยวิปัสสนา พร้อมทั้งรู้ถึงเหตุปัจจัยของหินก้อนนี้ตามสภาพและสถานะของมัน และอาจรู้ไปถึงประโยชน์ที่เป็นทั้งคุณและโทษ รวมไปถึงการจัดการกับมัน (หินก้อนนี้) ตามที่ควรจะเป็นด้วย

จากหินมาใช้กับตัวเราบ้าง

สติ สมาธิ ทำให้ “เห็น” ตัวเราเองจริงๆ

วิปัสสนา ทำให้ “รู้” ตัวเราพร้อมศักยภาพเพื่อไม่ใช้ประโยชน์ได้อย่างไรหรือไม่

สถานการณ์โควิดต้องการคนที่มีความคิดใหม่ คือการรู้จักตัวเอง เพื่อช่วยตัวเอง ดูแลตัวเอง และคนอื่น รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องหลอมคนเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อเป็นพลังสู้วิบัติภัยได้จริง

ดังตัวอย่างที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้ได้เห็นพลังของความคิดใหม่ นี้เองเอาชนะสถานการณ์ร้ายได้

สังคมใหม่ ก็คือหลักการเดียวกันกับความคิดใหม่ คือสังคมที่ “เห็น” ความเป็นตัวของตัวเอง และได้ “รู้” ถึงศักยภาพของตัวเอง รวมถึงการดูแลจัดการอย่างถูกต้องด้วย

เช่น สังคมไทย ต้องเริ่มทบทวนถึงความเป็นตัวเอง ศักยภาพและการจัดการในสามด้านหลัก คือ

เศรษฐกิจ เราคือสังคมเกษตรที่ควรจัดการเรื่องทำมาหากินเป็นหลัก ทำมาค้าขายเป็นรอง ใช่หรือไม่

สังคมต้องมีพื้นฐานความรู้ที่เท่าเทียมเรื่องการรู้จักตัวเองจริงๆ ตามหลักความคิดใหม่ข้างต้นนั้นสมหลัก “สิกขา” ที่หมายถึง “ดูตัวเองด้วยตัวเอง” อันเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรม ที่นำไปสู่อารยธรรมที่แท้

การเมือง ถึงเวลาต้องทบทวนวิถีใหม่ระหว่างระบอบพรรคประชาชนแบบจีน กับระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตก แบบใดจะเหมาะสมกับประเทศไทยเรา

ถ้าทุกประเทศทั่วโลกผ่านวิกฤตโควิด-19 ได้ โลกจะเปลี่ยนเป็นโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แน่นอน