ธงทอง จันทรางศุ | อันสืบเนื่อง จาก “ป้ามล” และลอร์ดหลุยส์เมาท์แบตแตนท์

ธงทอง จันทรางศุ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

พอผมขึ้นต้นอย่างนี้ก็หมายความว่า เรื่องที่จะเล่านี้ถอยหลังไปเกือบ 20 ปีครับ ระหว่างพุทธศักราช 2544 ถึง 2551 เป็นเวลาเจ็ดปีเต็ม ผมรับราชการอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ในตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องเข้า-ออกเรือนจำและสถานพินิจฯ อยู่เป็นประจำ

คำว่าสถานพินิจฯ ในที่นี้ย่อมาจากคำเต็มว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเป็นหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด และศาลส่งให้มาอยู่ในความดูแลของเรา ก่อนที่เด็กจำนวนนี้จะกลับคืนสู่สังคมภายนอก ด้วยความหวังของทุกคนว่าเขาจะเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไป

ในบรรดาสถานพินิจฯ ที่มีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ ผมติดอกติดใจสถานพินิจฯ แห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อโดยเฉพาะว่า “ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก” มีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

เวลาเดินทางไปจากกรุงเทพฯ ต้องผ่านมหาวิทยาลัยมหิดลไปเสียก่อนแล้ววิ่งรถเข้าไปกลางทุ่งอีกประมาณเกือบครึ่งชั่วโมงจึงถึงบ้านที่ว่า

บ้านหลังนี้มีผู้อำนวยการชื่อ ทิชา ณ นคร แต่ใครๆ ต่างเรียกชื่อเธอว่าป้ามล

ป้ามลไม่ใช่ข้าราชการที่เติบโตมาในสายงานนี้

หากแต่เป็นบุคคลภายนอกที่กระทรวงคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

ป้ามลมีความคิดเกี่ยวกับบ้านกาญจนาภิเษกที่ไม่เหมือนกับสถานพินิจฯ แห่งอื่น ถ้าจะเล่าให้ครบทุกประเด็นก็ต้องเขียนเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มต่างหาก

เฉพาะเรื่องที่ผมขอนำมาเล่าวันนี้คือเรื่องวิธีการฝึกให้เด็กคิด

เราต้องไม่ลืมนะครับว่า เด็กที่อยู่ในความดูแลของป้ามลทุกคนล้วนมีบาดแผลติดตัวมาทั้งนั้น

การที่จะก่ออาชญากรรมกระทำความผิดอะไรสักเรื่องหนึ่ง ถ้าศึกษาดูให้ลึกและรอบด้านแล้ว จะพบว่ามีปัจจัยหรือตัวแปรที่ต้องรวมมาคิดคำนวณอีกหลายอย่าง

เช่น พื้นฐานทางครอบครัว การศึกษาอบรม การคบหาสมาคมกับเพื่อน ทางเลือกในชีวิต ฐานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

วิธีทำงานของป้ามลอย่างหนึ่งคือ การจัดให้เด็กในบ้านกาญจนาภิเษกได้ชมภาพยนตร์ร่วมกันเป็นประจำสัปดาห์ละหนึ่งหรือสองครั้ง

ภาพยนตร์ที่ว่านี้ป้ามลและเด็กอีกจำนวนหนึ่งช่วยกันคัดเลือกจากวิดีโอที่มีเผยแพร่อยู่ทั่วไป

ภาพยนตร์หรือที่คนทั่วไปเรียกย่อว่าหนัง ที่จะสอบผ่านการคัดเลือกมาให้เด็กๆ ได้ดูส่วนใหญ่เป็นหนังชีวิต บางทีก็เป็นหนังอาชญากรรม ซ่อนเงื่อนซ่อนปม

นอกจากความบันเทิงที่จะได้ชมภาพยนตร์แล้ว ดูหนังจบแล้ว เด็กๆ ยังต้องมีการบ้านต้องทำต่อ

นั่นคือการมานั่งคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า ตัวละครแต่ละตัวในความเห็นของเด็กซึ่งเป็นผู้ชม เป็นอย่างไรบ้าง ทำไมถึงทำอย่างที่ปรากฏเรื่องราวในหนัง ตัวละครตัวนั้นมีทางเลือกที่จะทำตัวเป็นอย่างอื่นหรือไม่

การนั่งคุยกันนี้ป้ามลจะเป็นผู้นั่งร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย และคอย “หยอด” ประเด็นให้เด็กได้คิด

แต่ไม่ใช่บทบาทการเป็นผู้นำการสนทนานะครับ สุดท้ายแล้วเด็กแต่ละคนจะได้ข้อสรุปอะไรกลับไปอยู่ในใจในสมองของเขาก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน

ไม่มีคำตอบที่เป็นมาตรฐานเพียงคำตอบเดียว

ป้ามลบอกกับผมว่า ภาพยนตร์แต่ละเรื่องสามารถใช้เป็นบทเรียนในการสร้างความคิดให้เกิดขึ้นกับผู้ชมได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการสรุปเหตุการณ์โดยสังเขปมาไว้ในเวลาจำกัด มีทั้งโจทย์ที่แก้ยากและมีทั้งตัวอย่างของความพยายามที่แก้โจทย์เหล่านั้นด้วย

แก้โจทย์แล้วจะได้คะแนนมากหรือน้อยไม่มีใครบอกได้

อาจจะเป็นด้วยเหตุผลนี้เหตุผลหนึ่งกระมัง ที่ทำให้ระหว่างช่วงเวลาที่ผมทำหน้าที่อยู่ในกระทรวงยุติธรรมผมชอบแวะไปที่บ้านกาญจนาภิเษกเพื่อไปดูโน่นดูนี่อยู่เสมอ

แต่ปีนี้ผมเกษียณอายุมาเกือบห้าปีบริบูรณ์แล้ว ไม่มีเหตุใดที่จะต้องย้อนกลับไปบ้านกาญจนาภิเษกอีกต่อไป

แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นยังอยู่ในใจผม และสองสามวันที่ผ่านมานี้เอง

ผมก็ได้พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ผมฉุกคิดใจได้คิดกับเรื่องราวความหลังเหล่านั้น

เรื่องมีอยู่ว่า ผมเพิ่งสมัครเป็นสมาชิกของ Netflix คราวนี้ก็เดือดร้อนสิครับ

วันหนึ่งๆ ไม่ต้องทำอะไร นั่งจ้องอยู่หน้าจอโทรทัศน์วันละหลายชั่วโมง

หนังชุดที่น่าสนใจและผมใช้เวลาพากเพียรหลายวันติดต่อกันรวม 30 ชั่วโมง ดูตั้งแต่ต้นจนตอนสุดท้ายคือหนังเรื่อง The Crown

เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองของประเทศอังกฤษ

ในหนังชุดดังกล่าวผมสนใจเหตุการณ์ตอนหนึ่งเป็นพิเศษ

เป็นเรื่องราวเมื่อครั้งที่ลอร์ดหลุยส์เมาท์แบตแตนท์ ผู้เป็นวีรบุรุษสุดยอดของอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แถมยังเป็นพระมาตุลาหรือเป็นน้าของเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ

ทรงหงุดหงิดกับเหตุการณ์บ้านเมือง ที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษเวลานั้นบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้สมดังพระทัย

จนถึงขนาดมีพระดำริจะก่อการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ

แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองไม่ทรงเห็นด้วยและทรงคัดค้านอย่างรุนแรง เรื่องจึงสงบลงไปได้

ภาพจาก Netflix

ในภาพยนตร์มีบทตอนหนึ่งที่ลอร์ดหลุยส์เมาท์แบตแตนท์ เสด็จไปเฝ้าพระขนิษฐา คือ เจ้าหญิงอลิซ พระชนนีของเจ้าชายฟิลิป ซึ่งมีพระชนมายุมากแล้ว ทรงบวชเป็นรูปชีมานานปี

เจ้าหญิงอลิซทรงรำพึงว่า ตั้งแต่อายุได้ 70 ปีมาแล้วก็ทำพระทัยได้มากขึ้น ว่าหมดเวลาที่คนรุ่นของเราจะมีบทบาทเหมือนอย่างเวลาที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว

ทุกอย่างเป็นเรื่องของคนยุคปัจจุบันเขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาต่อไป

เราทำได้ก็เพียงเฝ้าดูและคอยเอาใจช่วยเท่านั้น

ฟังแล้วก็สะอึกไปเหมือนกัน

ในโลกแห่งความเป็นจริง มีทั้งคนที่คิดแบบเจ้าหญิงอลิซ

เวลาเดียวกันก็มีลอร์ดหลุยส์เมาท์แบตแตนท์ อยู่ผสมปนเปกันเป็นจำนวนมาก

ถ้าจะตั้งวงแข่งโต้วาทีกันก็คงมีกองเชียร์ทั้งสองข้างเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย

และเอาเข้าจริงแล้ว หัวข้อนี้ก็เป็นปัญหาโลกแตกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น จนกระทั่งหลายประเทศเข้าสู่ฐานะการเป็น Aging Society ไปแล้ว

คนแก่ที่มีอายุยืน (เช่นผม) ก็ไม่ยอมขยับขยายสูญหายไปเสียที เด็ก (ซึ่งอันที่จริงไม่เด็กแล้ว) ที่เข้าแถวรอต่อคิวอยู่ข้างหลังก็ไม่สามารถขยับมาอยู่ข้างหน้าได้ แบบนี้เรื่องก็ยุ่งสิครับ

อันนี้ผมไม่ได้พูดถึงประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ

ส่วนท่านไหนจะนึกชื่อประเทศใดออกมาเฉพาะเจาะจงสักชื่อหนึ่ง ผมไม่รับผิดชอบนะครับ ฮา!

เดือนมิถุนายนที่จะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ผมจะมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว ต้องยอมรับสภาพตัวเองครับว่าร่างกายถดถอย จะให้กระปรี้กระเปร่าเหมือนตอนอายุสี่สิบห้าสิบไม่ได้เป็นอันขาด

อาการหลงลืมก็มีมากขึ้น แต่ละวันจะคิดทำอะไรก็ต้องประเมินกำลังของตัวเองว่ามีกำลังทำได้จริงหรือเปล่า

เช่น การสอนหนังสือก็ต้องผ่อนจำนวนชั่วโมงให้น้อยลง เพราะมีอาจารย์รุ่นน้องหรือรุ่นลูกศิษย์ที่เขาพร้อมจะมาทำหน้าที่แทนเราซึ่งสอนวิชาใดวิชาหนึ่งมาตั้งสี่สิบปีแล้ว

ถ้าเราไม่ถอยออกมา ใครจะมาแทนที่ได้ เขาย่อมเกรงใจเราซึ่งเป็นครู เป็นพี่ของเขาเป็นธรรมดา

คิดดังนี้แล้วผมก็ได้แจ้งกับคณะนิติศาสตร์ไปอย่างเป็นทางการ ท่านคณบดีก็กรุณาตกลงตามที่ว่า

เปิดภาคเรียนเดือนสิงหาคมนี้ วิชาประวัติศาสตร์กฎหมายที่ผมเคยสอนมานมนานก็จะไม่มีชื่อผมเป็นอาจารย์ประจำวิชาอีกต่อไปแล้ว แบบนี้ผมจะสามารถปลดเปลื้องภาระในการสอนหนังสือภาคเรียนละ 16 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง และเมื่อถึงเวลาปลายภาคก็ต้องออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบออกไปจากตัวได้

ถ้าอาจารย์ประจำวิชาคนใหม่อยากจะเชิญให้ผมไปพูดเรื่องอะไรเป็นพิเศษสักครั้งสองครั้ง ผมก็จะยินดีรับคำเชิญนั้นโดยดุษณีภาพ

สักวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าเขาไม่เชิญก็ไม่เป็นไรครับ ผมเชื่อแน่ว่าเขาต้องมีเหตุผลที่ดีสนับสนุน และการจะเชิญใครหรือไม่เชิญใครก็เป็นความรับผิดชอบของเขา

เหมือนอย่างที่ผมได้ตัดสินใจและรับผิดชอบมาเป็นเวลานานตลอดเวลา 40 ปี

คนเราเมื่อหมดหน้าที่แล้ว ก็ต้องทำใจให้ได้ครับ ตอนนี้เป็นหน้าที่ของคนอื่น ไม่ใช่ธุระของเรา

อย่าไปมัวอาลัยอาวรณ์ อ่านข่าวฟังข่าวอะไรก็วิตกวิจารณ์ไปหมดว่าทำไมเขาไม่ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ในเมื่อเวลาที่เราอยู่ในตำแหน่งเราได้ทำทุกอย่างมาจนเต็มอิ่มแล้ว ถึงเวลานี้ก็ปล่อยให้คนอื่นเขาทำบ้างเถิด

คนเราต้องรู้จัก “พอ” และหาทางลงจากภาระหนักหน่วงทั้งหลายด้วยท่าทางที่สวยงาม อย่าได้ล้มคว่ำคะมำหงายลงมาเป็นอันขาด

นี่เป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมมีความสุขกับชีวิต และขอนำความลับข้อนี้มาแบ่งปันกันบ้าง

เหลืออยู่อย่างเดียวที่ยังไม่ได้ทำ คือยังไม่ได้บวชเป็นรูปชีอย่างเจ้าหญิงอลิซเท่านั้น

ข้อนี้ยังทำใจไม่ได้ครับ

ชีวิตผมหมดกิเลสแล้ว เหลือแต่ตัณหาอย่างเดียว ลำบากจริงๆ นะ จะบอกให้