6 ปี คสช. ศึกขั้วอำนาจ ระหว่าง “ขนบเดิม” กับ “ปีศาจกาลเวลา”

เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นวาระครบรอบ 6 ปีที่ คสช.ครองอำนาจ แม้ประเทศไทยจะมี “รัฐบาลเลือกตั้ง” แล้วก็ตาม แต่ “บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยังได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ตามสถาปัตยกรรมทางการเมืองที่ออกแบบไว้

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำ เพื่อ “รักษาอำนาจ” ก็คือการเข้าไปเล่นเกม “ต่อสู้ระหว่างขั้วอำนาจ”

เริ่มต้นจาก “ขั้วอำนาจทหาร” กับ “ขั้วทักษิณ” หรือ “การเมืองอำมาตย์-ไพร่”

คสช.เองก็มีจุดกำเนิดจากการชุมนุมของกลุ่มนกหวีด กปปส. ที่ปูทางมาสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อล้ม “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ไม่ต่างจากยุค คมช. ที่นำโดย “บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีต ผบ.ทบ. ซึ่งทำรัฐประหารโค่น “รัฐบาลทักษิณ” โดยมีการปูทางด้วยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง

“ภาพฉายทางการเมือง” ที่เหมือนกันของ “สองพี่น้องตระกูลชินวัตร” คือต้องเผชิญหน้ากับ “คดีการเมือง” หลังรัฐประหาร จนสุดท้าย “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ไปเป็น “ผู้เล่นนอกสนาม” ที่คอยคุมพรรคจากต่างแดน

นี่เป็นสัญญาณแรกว่าหมดเวลาของ “ตระกูลชินวัตร” ในสนามการเมือง

แต่กระแสนิยมต่อพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือยังคงมีอยู่ แม้พรรคสืบทอดอำนาจอย่างพลังประชารัฐจะเจาะบางส่วนของพื้นที่ดังกล่าวได้สำเร็จ ผนวกด้วยระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้เพื่อไทยไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้เพียงคนเดียว

ทว่าถึงที่สุด พรรคของ “ทักษิณ” ก็ยังมีจำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง 2562 สิ่งนี้ตอกย้ำว่า “แบรนด์ทักษิณ” ซึ่งมีอายุยืนยงมาเกือบสองทศวรรษ ยังคงขายได้ในตลาดการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม กลับเป็นอดีตนายกฯ ที่เลือกจะเดินเกมให้ตัวเองกระอักและจุก หลัง “การทิ้งไพ่ใบใหญ่” กรณีพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งช่วยคอนเฟิร์มให้เห็นอีกครั้งว่า แม้ “ยี่ห้อทักษิณ” ยังมีมนต์ขลัง แต่ “ตัวทักษิณ” เองดูจะ “หลุด” จากกระดานการเมืองในประเทศไปมากพอสมควร

หมดจาก “ขั้วทักษิณ-เพื่อไทย” พล.อ.ประยุทธ์และคณะก็ต้องเผชิญ “วายร้ายตัวใหม่” ตามคำนิยามของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตแกนนำ กปปส. อันได้แก่ พรรคอนาคตใหม่

ด้วยภูมิหลังแนวคิดของทั้ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรค และ “พรรณิการ์ วานิช” อดีตโฆษกพรรค

ส่งผลให้เกมการเมืองที่พรรคการเมืองนี้เข้ามาเป็นหนึ่งในหมากตัวหลัก กลายสภาพเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ขั้วขนบเดิม” กับ “ขั้วขนบใหม่” ซึ่งสืบรากลงลึกไปถึง “วัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ”

การจุดกระแส “คนรุ่นใหม่” การเชี่ยวชาญการณIรงค์ทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย รวมถึงอุบัติเหตุของพรรคไทยรักษาชาติ ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่สร้างเซอร์ไพรส์กวาด ส.ส.ไปได้กว่า 80 เก้าอี้

ซึ่งแน่นอน สำหรับขั้วตรงข้ามแล้ว การปล่อยให้พรรคการเมืองหน้าใหม่ดำเนินกิจกรรมไปได้เรื่อยๆ ย่อมมีโอกาสจะกลายสภาพเป็น “เชื้อไฟที่ยากจะดับ” เช่นเดียวกับ “ทักษิณ”

แผนเผด็จศึกจึงเกิดขึ้นตามมาโดยต่อเนื่อง เริ่มต้นจาก “ธนาธร” ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพจากการเป็น ส.ส. ในคดีถือหุ้นสื่อ หลังเข้าสภาไปได้เพียงไม่กี่นาที

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่จากคดีเงินกู้ พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรครายละ 10 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563

เบียดขับให้ทั้ง “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” ต้องเปลี่ยนบทบาทไปเป็น “ผู้เล่นนอกสนาม” ในนาม “คณะก้าวหน้า”

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็น “แกนนำขั้วขนบเดิม” แล้ว “บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผบ.ทบ. และนายทหารคนสำคัญ ก็ร่วมแสดงบทบาทไม่ต่างกัน เห็นได้จากออกมาสร้างวาทกรรมทางการเมืองที่ซัดไปยังพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะ “ธนาธร-ปิยบุตร” เช่น นักเรียนนอก ซ้ายจัดดัดจริต, ชอบอ้างเลข 2475 เป็นตัวชี้นำ, พวกฮ่องเต้ซินโดรม เป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นการต่อสู้ผ่านการ “ชำระประวัติศาสตร์” ชัดเจน คือการปรับปรุงอาคารรับรองของพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ที่ บก.ทบ. ที่เดิมเป็นอาคารสรรพาวุธของ ร.11 รอ. และ ร.1 รอ. ซึ่งความสำคัญอยู่ที่ชื่อห้องประชุม

โดยชั้นล่างชื่อห้อง “ศรีสิทธิสงคราม” มาจากนามของ “พระยาศรีสิทธิสงคราม” (ดิ่น ท่าราบ) ผู้มีศักดิ์เป็นคุณตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี

ส่วนชั้นบนชื่อห้อง “บวรเดช” ที่มาจากนามของ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช”

ทั้ง “พระยาศรีสิทธิสงคราม” และ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” ล้วนเป็นนายทหารที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ “คณะราษฎร”

โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ฝ่ายคณะราษฎรนำโดย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ได้เคลื่อนกำลังเข้าปราบปราม “คณะกู้บ้านเมือง” ของ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” และ “พระยาศรีสิทธิสงคราม” จนพ่ายแพ้ นำมาสู่ชื่อเรียกขาน “กบฏบวรเดช”

“กบฏบวรเดช” ถือเป็นกบฏแรกหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนผ่านจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย”

แต่ดูแล้ว เกมของ “คณะก้าวหน้า” จะเข้มข้นกว่าเดิม ในการเคลื่อนไหวนอกสนามผ่านแคมเปญล่าสุด คือการยิงเลเซอร์ “ตามหาความจริง”

ที่ย้อนอดีตถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่รัฐกระทำต่อประชาชน เช่น ถีบลงเขา เผาลงถังแดง สมัยการปราบปรามคอมมิวนิสต์, เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และการสลายการชุมนุม นปช. ช่วงพฤษภาคม 2553 โดยได้ร้อยเรื่องผูกโยงเข้ากับกองทัพ

อีกทั้งมีการพูดถึงบุคคลในอดีตหลายคน เริ่มจากเหตุสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งพุ่งเป้าไปที่อดีตนายทหาร

เช่น “3 ป. บูรพาพยัคฆ์” ซึ่งในขณะนั้น “บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็น รมว.กลาโหม ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอฉ. “บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เป็น ผบ.ทบ. ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรอง ผบ.ทบ.

รวมทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ ที่ขณะนั้นเป็นผู้การ ร.11 รอ. ซึ่งเป็นที่รู้จักกันผ่านปฏิบัติการยึดคืนสถานีดาวเทียมไทยคม จ.ปทุมธานี

ร่วมด้วย “บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” ที่ขณะนั้นเป็นรอง เสธ.ทบ. และ “บิ๊กโชย พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์” ที่ขณะนั้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ตลอดจน “เสธ.ไก่อู พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” ในฐานะโฆษก ศอฉ.

ทั้งยังพาดพิงไปถึง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะ ผอ.ศอฉ. และอดีตนายกฯ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

นี่ถือเป็นอีกกลยุทธ์ของ “คณะก้าวหน้า” ที่ส่งสารออกมาอย่างมีนัยยะสำคัญ เพื่อกระตุกต่อมสังคมและโซเชียลมีเดีย

ทั้งหมดนี้คือภาพครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม ที่ฉายให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่าง “ขั้วอำนาจ” ต่างๆ และความพยายามในการจัดการ “ดุลอำนาจ” ของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปะทะกันของภาพตัวแทนแห่ง “ขนบเดิม” และ “ปีศาจกาลเวลา”