วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนก่อนและหลังโควิด-19

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เมื่อหลายสิบปีก่อน หลังจากที่จีนใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศมาได้ระยะหนึ่งแล้วก็ประกาศว่าจีนจะบรรลุสู่สังคมอยู่ดีกินดีให้ได้ใน ค.ศ.2020 ซึ่งก็คือปีนี้

คำว่า “อยู่ดีกินดี” นี้แปลโดยอนุโลมจากคำว่า เสี่ยวคัง คือไม่ใช่สังคมที่ทุกคนมั่งคั่งร่ำรวย แต่ก็ไม่มีใครยากจนจนถึงขั้นอดตาย

ส่วนที่ว่าอะไรคือเกณฑ์ชี้วัดที่แน่นอนของสังคมแบบนี้ยังไม่มีมติที่ชัดเจน ด้วยคนจีนเคยถกเถียงกันยกใหญ่เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนแล้วจบลงโดยหาข้อสรุปไม่ได้

หลายสิบปีผ่านไป จีนได้ทำให้โลกเห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาของตน และปีที่แล้วประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยังประกาศเหมือนเป็นพันธสัญญาว่า จีนจะลดจำนวนคนยากจนให้เหลือน้อยที่สุดที่ตัวเลขหลักไม่กี่สิบให้ได้ในปีนี้ ซึ่งจีนน่าจะทำได้สำเร็จ (ถึงแม้จะขึ้นอยู่กับว่าใช้เกณฑ์อะไรมาวัดความยากจนด้วยก็ตาม) และปีนี้จีนก็คงป่าวร้องได้ถึงความสำเร็จในเรื่องนี้

แต่แล้วใครจะไปนึกว่าจีนกลับต้องมาเผชิญกับโรคโควิด-19 เข้าอย่างจังแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

 

ตอนที่โรคนี้ระบาดอย่างหนักในปลายเดือนมกราคมนั้น สีจิ้นผิงได้ออกมากล่าวอวยพรชาวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนโดยมีใจความตอนหนึ่งที่ฟังแล้วหดหู่ว่าตรุษจีนปีนี้ช่างวังเวงยิ่งนัก ตอนที่ไทยเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ผมคิดถึงคำพูดนี้ของสีขึ้นมาว่าสงกรานต์ปีนี้ช่างวังเวงไม่ต่างกัน แต่ที่เพิ่มเติมคือของไทยไม่มีเหล้า-เบียร์ขาย

ซึ่งคงไม่มีอะไรที่จะ “เซ็ง” ยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน เทคโนโลยีของจีนเริ่มฉายให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ความก้าวหน้านี้เป็นผลจากยุคปฏิรูปที่เริ่มเมื่อ ค.ศ.1978 นับจากปีที่ว่านี้ไปอีกราวยี่สิบปี จีนอยู่ในช่วงของเรียนรู้เทคโนโลยีจากตะวันตก วิธีหนึ่งที่ได้มาซึ่งเทคโนโลยีก็คือ การใช้แรงจูงใจทางภาษีอากรมาแลกกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

โดยจีนลดภาษีให้กับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีนจนต่ำ หรือไม่ก็ไม่เก็บภาษีเลยในบางกรณี

แต่มีเงื่อนไขว่า การลงทุนของต่างชาติรายนั้นจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนด้วย

ตลอดราวยี่สิบปีที่ใช้วิธีนี้จีนได้สั่งสมและเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างชาติจนอยู่ตัว

ครั้นล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2000 ก็ถึงช่วงที่จีนเริ่มขยายผลและต่อยอดเทคโนโลยีที่ตนได้มา

จนทุกวันนี้เทคโนโลยีของจีนก็ล้ำหน้าไปไกลอย่างที่เห็น

ยิ่งล้ำหน้าชาวจีนก็ยิ่งตื่นเต้นและตื่นตัวไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

ชาวจีนบางกลุ่มก็ลิงโลดใจจนทำอะไรเกินพอดี โดยไม่ดูว่ายังมีอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ลิงโลดไปด้วยและวางตัวแบบพอดีพองาม

เรื่องนี้ทำให้คิดถึงตอนที่กำลังเดินเล่นอยู่ที่เมืองเซินเจิ้นเมื่อต้นปีที่แล้วแล้วเกิดหิวน้ำขึ้นมา ผมจึงไปหาซื้อน้ำ แต่ซื้อไม่ได้เลยสักร้าน เพราะเขาซื้อ-ขายกันทางมือถือ ทั้งๆ ที่คนขายก็นั่งหัวโด่อยู่

ตอนที่รู้ว่าซื้อไม่ได้เพราะอะไรนั้นผมเกิดสงสัยว่า หรือคนจีนเดี๋ยวนี้เลือกเอาความภูมิใจในเทคโนโลยีล้ำๆ มากกว่าเลือกเงินเสียแล้ว

ซึ่งผิดวิสัยคนจีนที่เราเคยรู้จักกันมาแต่เดิม

 

ในที่สุดเทคโนโลยีที่กำลังล้ำหน้าอย่างคึกคะนองก็ทำให้เกิดความวิจล (disruption) ขึ้นมากับจีน เพราะมันล้ำอย่างก้าวกระโดดจนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเดิม

ตอนนั้นเองจีนจึงได้วางแผนเศรษฐกิจขึ้นมารองรับโดยเรียกแผนนั้นว่าวิถีเศรษฐกิจใหม่ (new normal economy) เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า จีนรู้จักกับวิถีใหม่หรือ new normal มาหลายปีแล้ว

แต่กับคำว่าวิถี หรือ normal นั้นจีนรู้จักมาตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นคอมมิวนิสต์เสียอีก

ซึ่งอาจเห็นได้จากชื่อมหาวิทยาลัยครูที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Normal University (บ้านเราเรียกวิทยาลัยครูว่า Teacher College)

คำว่า Normal นี้ไม่ได้หมายถึงปกติหรือธรรมดา ดังที่เราใช้กันเป็นส่วนใหญ่ แต่มีอีกความหมายหนึ่งว่า แบบอย่าง แบบแผน หรือต้นแบบ ในกรณีนี้จึงหมายถึงสถานศึกษาที่ผลิตบุคคลที่จะเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งก็คือครู

ขณะที่จีนกำลังก้าวสู่วิถีเศรษฐกิจใหม่อยู่นั้น เมื่อปลายปีที่แล้วผมได้ไปจีนและเจอเพื่อนเก่าจีนคนหนึ่งที่ไม่ได้เจอกันมานานหลายปี ตอนหนึ่งเพื่อนจีนพูดกับผมด้วยความภาคภูมิใจว่า ตอนนี้จีนกำลังจะไปสู่ 6 G ในอีกไม่ช้านี้

ผมฟังแล้วก็อดดีใจแทนเขาไม่ได้ และคิดว่าจะเฝ้าดูวิถีใหม่ของจีนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

โดยเฉพาะกับการตั้งรับความวิจลที่กำลังแผ่ไปทั่วโลกอย่างรู้เท่าทัน

 

แต่ใครจะไปนึกว่า พอขึ้นปีใหม่ ค.ศ.2020 เท่านั้นจีนก็ถูกโควิด-19 เล่นงาน ทั้งนี้ ยังไม่นับสงครามการค้ากับสหรัฐที่มีมาก่อนหน้านั้นอีกต่างหาก ทั้งสองเรื่องนี้กระทบต่อเศรษฐกิจจีนไม่น้อย และย่อมกระทบต่อวิถีเศรษฐกิจใหม่เช่นกัน

ตลอดต้นปีนี้จีนอุทิศเวลาให้กับการจัดการกับโควิด-19 เป็นหลัก

ลำพังการจัดการกับโรคร้ายนี้ว่าหนักอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนยังไม่หนักพอเมื่อจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้จากตะวันตก

ประเด็นนี้ต้องนับว่าจีนมีต้นทุนต่ำในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากระบบการเมืองของจีนเอง

ในที่นี้จะยกตัวอย่างสักสองสามเรื่องมาให้เห็น

 

เรื่องแรกคือ เรื่องที่ทางการท้องถิ่นไปว่ากล่าวตักเตือนนายแพทย์คนหนึ่งที่ออกมาพูดเรื่องโควิด-19 จนเชื่อกันว่าเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การตั้งรับการระบาดของโรคล่าช้าเกินไป

อีกเรื่องคือ จีนไปปรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ให้สูงขึ้นจากเดิมนับพันราย

ตัวอย่างทั้งสองนี้ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากถ้าหากจีนจะถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ

นอกจากนี้ ระหว่างที่โรคกำลังระบาดอย่างหนักอยู่นั้น สื่อมวลชนตะวันตกที่ประจำอยู่ในจีนก็ทำข่าวนี้กันเป็นปกติและพบว่าคนทำข่าวมักจะไปสัมภาษณ์คนจีนที่พูดถึงความทุกข์ของตนและการขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากทางการ อย่างหลังนี้ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของจีนไปในตัว

แต่ก็มีบางตัวอย่างที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจ กรณีนี้เป็นคลิปที่แสดงภาพเจ้าหน้าที่จีนที่อยู่ในชุดป้องกันโรคเต็มรูปแบบ กำลังเข้าไปยังห้องพักแห่งหนึ่งแล้วฉุดกระชากลากถูแม่บ้านคนหนึ่งเพื่อนำไปโรงพยาบาล เสียงบรรยายคลิปซึ่งเป็นภาษาไทยกล่าวในทำนองประณามจีนว่ากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

แม้จะเป็นความจริงที่เจ้าหน้าที่จีนกระทำเช่นนั้น แต่ถ้าใครฟังภาษาจีนรู้เรื่องก็จะรู้ว่า ที่แม่บ้านถูกกระชากลากถู (และสมาชิกในครอบครัวอีกจำนวนหนึ่ง) ต่างติดโรคร้ายนี้ แต่แม่บ้านคนนี้ไม่ยอมไปรักษา เจ้าหน้าที่พยายามพูดดีด้วยเหตุผลอย่างไรเธอก็ไม่ฟัง การฉุดกระชากลากถูจึงเกิดขึ้น

และที่ไม่ยอมไปก็ด้วยเหตุผลเดียวที่เรารู้ได้จากที่เธอร้องลั่นว่า ฉันขอตายอยู่ที่บ้าน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กรณีนี้เจ้าหน้าที่จีนจึงไม่ผิด แต่จะว่าแม่บ้านผิดก็คงไม่ถูกนัก แท้ที่จริงแล้วแม่บ้านผู้นี้คิดแบบวิถีเก่าว่า ถ้าจะตายก็ขอตายที่บ้าน โดยไม่คำนึงว่าโรคที่ตนเป็นอยู่จะระบาดไปให้ใครต่อใครบ้าง

 

พ้นไปจากตัวอย่างในช่วงโควิด-19 นี้แล้ว ก่อนหน้านั้นจีนก็มีความไม่น่าไว้วางใจในทางการเมืองมานาน เช่น เวลาจับกุมใครด้วยข้อหาทางการเมืองนั้น ญาติสนิทมิตรสหายของคนที่ถูกจับต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาได้ และยังไม่รู้ด้วยว่าผู้ต้องหาถูกอุ้มหายไปอยู่ที่ไหน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า สำหรับจีนแล้วแม้จะดูเหมือนว่าจะรู้เท่าทันความวิจลได้ดี อีกทั้งยังเตรียมตัวเตรียมใจกับวิถีใหม่มานานหลายปีก่อนหน้านี้ก็จริง แต่พอเกิดโควิด-19 ขึ้นมา โรคนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความวิจล และทำให้จีนต้องนำมันมาพิจารณาวิถีใหม่ของตนไปด้วย และการพิจารณานี้จีนจะตัดปฏิสัมพันธ์ที่มีกับประชาคมโลกไปไม่ได้

แต่พอจะมีปฏิสัมพันธ์ด้วย จีนก็มีปัญหาต้นทุนความน่าเชื่อถือขึ้นมาอีก

การเกิดขึ้นของโควิด-19 ในครั้งนี้จึงทำให้เราได้เห็นข้อดีและข้อจำกัดของจีนเพิ่มขึ้นจากที่เคยเห็น และแม้จะเชื่อว่าจีนน่าที่จะจัดการได้เหมือนกับที่จีนเคยจัดการได้ในหลายๆ เรื่อง

แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเฝ้าดูว่าชีวิตวิถีใหม่ของจีนจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อถึงปีหน้า (ค.ศ.2021) ที่จีนเตรียมเฉลิมฉลองวาระหนึ่งร้อยปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ซึ่งเป็นหนึ่งในความฝันของจีน (China Dream) ที่จีนจะไปให้ถึง