E-DUANG : ประเมิน สถานะ ของ รัฐบาล 6 ปี “รัฐประหาร” พฤษภาคม

ภาพของตำรวจสันติบาล ภาพของตำรวจหน่วยปราบจลาจล ไม่ว่าที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าที่บริเวณหอศิลป์ กทม.

เป้าหมายอยู่ที่ 1 นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในวาระ 6 ปีรัฐประหารเมื่อปี 2557

1 อยู่ที่ “ป้ายผ้า”อันเป็นข้อความวิพากษ์และโจมตี

เด่นชัดยิ่งว่าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเฉียบขาดและประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการสกัดขัดขวาง กระทั่งการชูและแสดง”ป้ายผ้า”มิอาจดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน

เหมือนกับจะยืนยัน “รูปธรรม” แห่งปฏิบัติการ”รุก”ในทางการเมือง เหมือนกับจะยืนยัน”รูปธรรม”แห่งสภาวะ”ตั้งรับ”ในทาง การเมือง

คำถามอยู่ที่ว่า ฝ่ายใดอยู่ในสถานะ “รุก” ฝ่ายใดอยู่ในสถานะ “รับ”

 

หากมองในเชิงกายภาพ หากมองผ่านพื้นที่ บทบาทของตำรวจอันเป็นกลไกแห่งรัฐสามารถสำแดงออกอย่างเป็นฝ่ายกระทำอย่างเด่นชัด

จากเครื่องมืออันเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่ถามว่า “เครื่องมือ”นี้ได้มาอย่างไร

คำตอบก็คือ ได้มาจากการประกาศและบังคับใช้เพื่อต่อสู้กับ การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม อันส่งผลให้สถานะของรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2563 ดำรงอยู่เหมือนกับรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยพื้นฐาน

การแสดงปฏิกิริยาของ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนมีเป้าหมายอยู่ที่ 6 ปีของรัฐประหารเป็นหลัก

ความขึงขังอันมาจากพระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสั่งการโดยรัฐบาล และปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคือการให้คำตอบต่อปฏิกิริยา

ในทางการทหาร รัฐบาลอาจเป็นฝ่ายรุก แต่ในทางการเมืองเด่นชัดว่าตกอยู่ในสถานะ”ตั้งรับ”

 

ยิ่งเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลในชุดดำแสดงออกอย่างขึงขังมากเพียงใด ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจอันแข็งตัวของรัฐบาล

ทั้งๆที่ “รัฐประหาร”ผ่านมาแล้ว 6 ปีเต็ม

แต่รัฐบาลก็ยังใช้เครื่องมือและยังสำแดงออกเหมือนกับที่เคยกระทำหลังเดือนพฤษภาคม 2557

      นี่เท่ากับเป็นการ”ตั้งรับ”มิได้เป็นการ”รุก”แต่อย่างใด