เกษียร เตชะพีระ : ‘ธเนศ-ization of Thailand’ เสรีภาพที่เรียวลงจากฝรั่งมาไทย

เกษียร เตชะพีระ

เบนจามิน กองสตองซ์ (Benjamin Constant, ค.ศ.1767-1830) นักการเมืองและนักเขียนเสรีนิยมชื่อดังช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ได้อธิบายจำแนกความแตกต่างระหว่างเสรีภาพของคนโบราณกับเสรีภาพของคนสมัยใหม่ไว้ว่า :

“คนโบราณมุ่งกระจายอำนาจออกไปในหมู่พลเมืองทั้งปวงของรัฐๆ หนึ่ง และพวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่าเสรีภาพ ทว่า สำหรับคนสมัยใหม่ เป้าหมายคือความมั่นคงแห่งสมบัติเอกชนที่ตนครอบครอง สำหรับพวกเขาแล้ว เสรีภาพหมายถึงหลักประกันความมั่นคงของสมบัติเหล่านี้ที่สถาบันทั้งหลายของพวกเขาจัดสนองให้ได้…

“ทุกวันนี้เราไม่สามารถเสพเสรีภาพของคนโบราณซึ่งอยู่ที่การได้เข้าร่วมในอำนาจรวมหมู่อย่างกระตือรือร้นและต่อเนื่องอีกต่อไปแล้ว เปรียบไปแล้วเสรีภาพของเราแตกต่างออกไปตรงมันต้องอยู่ที่การได้เสพความเป็นอิสระของเอกชนอย่างสงบสุข”

“De la libert? des anciens compar?e ? celle des modernes”

(“ว่าด้วยเสรีภาพของคนโบราณเปรียบกับของคนสมัยใหม่”, ค.ศ.1818)

กล่าวโดยสรุปในภาษาปัจจุบันก็คือ เสรีภาพของคนโบราณ (หมายถึงสมัยกรีกคลาสสิก) เป็นเรื่องของการเอาธุระกับส่วนรวม เข้าร่วมกิจการของบ้านเมือง ตั้งแต่ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจการเมืองสังคม อภิปรายขีดเขียนตีพิมพ์แสดงความคิดเห็นวิเคราะห์วิจารณ์ในประเด็นสาธารณะ ร่วมประชาพิจารณ์ ไปจนถึงการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ร่วมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง/ประชามติในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ไม่เพิกเฉยนิ่งดูดายอยู่แต่ในโลกส่วนตัว ฯลฯ

ซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังต่อพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เรียกร้องต้องการพลเมืองที่กัมมันตะหรือกัมมันตพลเมือง (active citizen)

ขณะที่เสรีภาพของคนสมัยใหม่กลับเป็นเรื่องของการดำเนินวิถีชีวิตได้โดยเสรีในโลกส่วนตัวที่ตั้งอยู่บนฐานทรัพย์สินเอกชนอันมั่นคงเป็นสำคัญ

 

ในบทที่ 9 ปัจเจกนิยมกับอินทรียนิยม ของหนังสือเสรีนิยมกับประชาธิปไตย (ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาอิตาเลียน ค.ศ.1988, ฉบับแปลเป็นไทย พ.ศ.2558) โดย นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ (ค.ศ.1909-2004) นักปรัชญาการเมือง นิติปรัชญาและประวัติศาสตร์ความคิดการเมืองชาวอิตาลีผู้มีจุดยืนการเมืองแบบสังคมนิยมเสรี (liberal socialism) เขาได้อรรถาธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งเสรีภาพแบบสมัยใหม่/เสรีนิยม เปรียบเทียบกับวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งเสรีภาพแบบโบราณ/ประชาธิปไตย ว่า :-

ปัจเจกบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งเสรีภาพแบบสมัยใหม่/เสรีนิยม :

1. ตัดขาดจากองคาพยพส่วนอื่นของสังคม เสมือนหนึ่งลอยคอต่อสู้เอาตัวรอดอยู่ในโลกที่แปลกหน้าและอันตราย

2. เสรีจากรัฐทั้งในแง่จิตวิญญาณและเศรษฐกิจ

3. เป็นผู้กระทำการนอกกรอบจำกัดของรัฐ

4. เน้นสมรรถภาพที่จะพัฒนาสร้างสรรค์ตนเองให้ก้าวหน้าสูงสุดทั้งทางปัญญาและศีลธรรมโดยปลอดข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งภายนอก

5. ห่วงใยด้านที่มองเข้ามาข้างในตัวปัจเจกเองเป็นหลัก

6. อุปมาอุปไมยดุจมือกระบี่เดียวดาย/นักร้องแยกวง

7. สู้กับกลุ่มครอบงำโดยกร่อนเซาะและปลีกตัวจากกลุ่มดังกล่าว มาสร้างพื้นที่เฉพาะตน

8. ส่งผลลดทอนอำนาจสาธารณะให้เหลือต่ำสุด

ปัจเจกบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งเสรีภาพแบบโบราณ/ประชาธิปไตย :

1. เชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ที่เหมือนตัวเองเพื่อสร้างสังคมขึ้นใหม่ให้เป็นสมาคมของปัจเจกบุคคลเสรี

2. รอมชอมเข้ากับสังคมที่เป็นผลผลิตของข้อตกลงระหว่างปัจเจกบุคคลทั้งหลาย

3. เป็นตัวเอกของรัฐชนิดใหม่ที่แตกต่างออกไป ซึ่งตัดสินใจรวมหมู่โดยปัจเจกบุคคลทั้งหลาย ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านผู้แทน

4. เน้นสมรรถภาพที่จะข้ามความโดดเดี่ยวไปสร้างกระบวนการให้เกิดสถาบันอำนาจร่วมกันที่ไม่เป็นทรราช

5. ห่วงใยด้านที่มองออกไปภายนอกตัวปัจเจก สู่สังคมวงกว้าง

6. อุปมาอุปไมยเหมือนชิ้นส่วนตัวต่อเลโก้

7. แยกสลายองค์รวมเก่าจากภายใน แล้วให้เชื้อมูลอิสระทั้งหลายมาก่อตัวเป็นองค์รวมใหม่ เพื่อดำเนินชีวิตต่อ

8. ประกอบส่วนสร้างอำนาจสาธารณะใหม่ขึ้นมาจากผลรวมของอำนาจเฉพาะทั้งหลาย

 

เผอิญว่าตัวอย่างการแสดงออกในสังคมไทยร่วมสมัยของนัยเสรีภาพที่แตกต่างกันทั้งสองแบบข้างต้นนั้น มาปรากฏในเพื่อนร่วมงานสองท่านของผมที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พอดี ดังต่อไปนี้ :

รองศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา (เสรีภาพแบบสมัยใหม่/เสรีนิยม) 

“คุณอย่าคิดอะไรมาก ประเทศนี้ไม่ใช่ของคุณ อยู่ๆ ไปเถอะ คิดซะว่าเช่าเค้า ทำงานหาเงินใช้ชีวิตให้มันมีความสุขไป สิ้นเดือนรับตังค์ แดกข้าว อยากไปเที่ยวไหนก็ไป ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก อยู่ๆ ไปเหอะ”

เทียบกับ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (เสรีภาพแบบโบราณ/ประชาธิปไตย)

“สุดท้ายนี้ ผมขออนุญาตยืนยันซ้ำว่าปรัชญาประชาธิปไตยนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่เห็นว่าสมาชิกของสังคมทุกผู้ทุกนามล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงมีเจตนารมณ์ที่มุ่งคัดค้านการเอารัดเอาเปรียบ การครอบงำทางความคิด และการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ เพื่อให้อุดมคติแห่งความเสมอภาคปรากฏเป็นจริง

“อย่างไรก็ตาม แค่ต่อต้านการกดขี่อย่างเดียวยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอสำหรับการสร้างระบอบประชาธิปไตย

“เพราะฉะนั้น ปรัชญาเดียวกันนี้จึงส่งเสริมให้ ประชาชนในฐานะรวมหมู่เป็นเจ้าของอำนาจในการปกครองตนเอง ขณะที่ประชาชนในฐานะปัจเจกมีสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตและการแสดงออกทางการเมือง

“กล่าวโดยสรุปรวมความคือ ประชาธิปไตยเป็นแนวคิดที่ทั้งปลดปล่อยและรวมพลังไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้จุดหมายและวิธีการของประชาธิปไตยจึงแยกออกจากกันไม่ได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวจึงจะเข้าถึงจุดหมายของเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม สังคมประชาธิปไตยไม่ใช่สังคมตัวใครตัวมัน หากเป็นสังคมที่อิสรภาพของบุคคลถูกนำมาเชื่อมร้อยด้วยพันธกิจที่มีต่อส่วนรวม”

(“เจตนารมณ์ 14 ตุลาคือประชาธิปไตย”

ปาฐกถาในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา, 13 ตุลาคม 2556)

ข้อที่น่าสนใจคือนอกเหนือจากความแตกต่างกระทั่งปีนเกลียวกันระหว่างเสรีภาพแบบสมัยใหม่/เสรีนิยม vs. เสรีภาพแบบโบราณ/ประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ในมุมกลับ มันก็มีด้านที่เสรีภาพทั้งสองแบบต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน มาถ่วงดุลและปรับแต่งบำบัด/บรรเทาจุดอ่อนข้อบกพร่องของกันและกันด้วย ดังที่อาจารย์เสกสรรค์กล่าวไว้ในอีกตอนหนึ่งของปาฐกถาชิ้นเดียวกันว่า :

“ถ้าเรายอมรับว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นงานสร้างระบอบ และการขยายพลังประชาธิปไตยหมายถึงการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า เราก็คงต้องยอมรับว่าบรรยากาศที่ห้อมล้อมระบอบการเมืองจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากบรรยากาศเสรีนิยม

“อันที่จริงเสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกันในทางปรัชญา แต่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันจึงจะเกิดผลดี

“เสรีภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดและมีความแตกต่างทางด้านผลประโยชน์ แต่เสรีนิยมอย่างเดียวก็ไม่อาจรวมพลังผู้คนหรือยึดโยงสังคมไว้ได้ กระทั่งหมิ่นเหม่ต่อสภาวะแตกกระจายตัวใครตัวมัน

“ส่วนประชาธิปไตยนั้นมีจุดแข็งอยู่ที่กระบวนการสร้างฉันทามติและการรวมพลังของคนจำนวนมากเพื่อบรรลุเป้าหมายของส่วนรวม แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ความแข็งกระด้างในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนส่วนใหญ่กับปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มประชาชนที่เป็นเสียงข้างน้อย กระทั่งบางครั้งอาจจะลื่นไถลไปถึงขั้นลิดรอนสิทธิ์หรือล่วงเกินประชาชนได้

“ด้วยเหตุดังนี้ วิวัฒนาการของประชาธิปไตยในโลกที่เจริญแล้วจึงดำเนินควบคู่มากับลัทธิเสรีนิยมทางการเมืองมาโดยตลอด และในเรื่องนี้ ผมคิดว่าประเทศไทยก็คงต้องเดินหนทางเดียวกัน”

กล่าวสำหรับปัจจุบัน ภายใต้รัฐบาล คสช. ผมคิดว่าภาพที่ปรากฏดูเหมือนไม่ใช่การเดินคู่กันและพึ่งพาอาศัยขัดเกลาเสริมเติมกันไประหว่างเสรีภาพแบบสมัยใหม่/เสรีนิยม กับ เสรีภาพแบบโบราณ/ประชาธิปไตยอย่างที่อาจารย์เสกสรรค์เอ่ยถึงข้างต้น

แต่กลับกลายเป็นการดีลใหม่แบบได้อย่างเสียอย่าง (เอ็งไม่ได้ทั้งสองอย่างหรอกว่ะ ต้องเลือกเอาอย่างเดียว) ด้วยข้อตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (the unwritten pact or trade-off) คือให้สังคมโดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองยอมสละทิ้งซึ่งเสรีภาพแบบโบราณ/ประชาธิปไตยหรือนัยหนึ่ง “เสรีภาพสาธารณะ” (public freedoms) ที่จะเข้าร่วมกิจการส่วนรวมของบ้านเมือง

แลกกับการรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพแบบสมัยใหม่/เสรีนิยม หรือนัยหนึ่ง “เสรีภาพเอกชน” (private freedoms) ที่จะทำมาหาเงินและเสพสุขบริโภคนิยมจากทรัพย์สินของตัว

เหมือนดังที่ จอห์น แคพเนอร์ ปัญญาชนสาธารณะชั้นนำของอังกฤษวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง John Kampfner, Freedom for Sale : How We Made Money and Lost Our Liberty (ค.ศ.2009 หรือนัยหนึ่ง ขายเสรีภาพ : เราทำมาหาเงินและสูญเสียเสรีภาพไปได้อย่างไร) นั่นเอง

ธเนศ-ization of Thailand จึงมีด้วยประการฉะนี้ หุๆ