เกษียร เตชะพีระ | ยอค่าการเมือง (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

(โจนาธาน ซัมพ์ชัน นักเขียน นักประวัติศาสตร์และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษแสดงปาฐกถารีธของบีบีซีประจำปี ค.ศ.2019 เรื่อง “กฎหมายกับความเสื่อมถอยของการเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของหลายประเทศรวมทั้งไทยเราด้วย ผมจึงใคร่ขอนำมาเรียบเรียงเสนอเป็นอนุสติทางวิชาการดังนี้)

ตอนที่สอง : ยอค่าการเมือง (ต่อ)

คราวนี้ลองเปลี่ยนย้ายมาดูกรณีสุดขั้วตรงข้ามกันในการประยุกต์ใช้หลักความชอบธรรมของศาลในการพิจารณาคดีต่างๆ บ้าง

พระราชบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนมีสิทธิขอดูเอกสารบางประเภทซึ่งองค์การมหาชนครอบครองอยู่ได้เว้นเสียแต่ว่ามีประโยชน์สำคัญกว่ามาลบล้างสิทธินั้นลงเพื่อจะปิดลับเอกสารดังกล่าวไว้ต่อไป

พระราชบัญญัตินั้นยังให้อำนาจศาลสั่งให้เปิดเผยเอกสารด้วย แต่ทว่านอกจากนี้มันยังให้อำนาจรัฐมนตรียับยั้งคำสั่งศาลไว้อีกต่างหากถ้ารัฐมนตรีรู้สึกว่าตนสามารถให้เหตุผลรองรับการยับยั้งนั้นได้โดยชอบในรัฐสภา

พูดอีกอย่างก็คือ มันให้อำนาจรัฐมนตรีที่จะกำหนดให้ไปหาทางออกกันในทางการเมืองแทนที่จะเป็นในทางกฎหมาย

ศาลชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าบรรดาจดหมายที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งแคว้นเวลส์เขียนถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ นั้นควรถูกเปิดเผยแก่นักหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ณ จังหวะนั้นอัยการสูงสุดจึงอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวออกใบรับรองลบล้างคำวินิจฉัยของศาลฯด้วยเหตุผลว่าการเปิดเผยจดหมายของเจ้าฟ้าชายไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ปรากฏว่าศาลฎีกากลับคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดที่ว่านี้ด้วยมติเสียงข้างมากห้าต่อสอง ไม่ว่าจะตบแต่งประดิดประดอยเหตุผลของบรรดา ตุลาการศาลฎีกาเสียงข้างมากอย่างไรก็ตามที เอาเข้าจริงมันก็คือว่าพวกเขาไม่เห็นชอบกับอำนาจที่ดูเหมือนรัฐสภาจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีนั่นเอง

สามในห้าของคณะตุลาการศาลฎีกาเสียงข้างมากเห็นว่ามันเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่าเสียจนกระทั่งไม่มีทางเป็นไปได้ที่รัฐสภาจะตั้งใจให้หมายความอย่างที่พระราชบัญญัติบ่งบอกออกมาซื่อๆ ส่วนตุลาการเสียงข้างมากอีกสองคนยอมรับว่ารัฐสภาคงต้องการให้หมายความอย่างนั้นจริงแต่อัยการสูงสุดไม่มีสิทธิ์เห็นแย้งศาลชำนัญพิเศษ

ส่วนตัวผมแล้ว ผมคิดว่าไม่มีเหตุผลใดที่ตัวบทกฎหมายจะไม่ควรระบุว่าในประเด็นทำนองนี้รัฐมนตรีผู้พร้อมรับผิดต่อรัฐสภาพึงเป็นผู้วินิจฉัยประโยชน์ส่วนรวมที่เหมาะสมกว่าศาล

ดังที่หนึ่งในสองตุลาการผู้เห็นต่างชี้แจงว่าหลักนิติธรรมไม่ใช่สิ่งเดียวกับกฎเกณฑ์ที่ว่าศาลต้องเป็นใหญ่เสมอมิว่าตัวบทกฎหมายจะบอกว่าเช่นใดก็ตาม ไม่มีคดีความอื่นใดในยุคสมัยใหม่ซึ่งเผยให้เห็นทรรศนะแบบแผ่ขยายหลักนิติธรรมของผู้พิพากษาชัดเจนขนาดนี้อีกแล้ว

ก็แลจดหมายของเจ้าชายแห่งแคว้นเวลส์ควรถูกเปิดเผยหรือไม่โดยตัวมันเองมิใช่ประเด็นสลักสำคัญสักเท่าใดนัก

แต่ทว่าเทคนิคเดียวกันนี้ได้ถูกประยุกต์ใช้อย่างระมัดระวังกว่าในประเด็นปัญหานโยบายทางสังคมที่อ่อนไหวต่างๆ ซึ่งสาธารณชนรู้สึกกับมันรุนแรงกว่านี้มาก

ตัวอย่างในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมามีอาทินโยบายด้านการศึกษา เงินอุดหนุนค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ สิทธิประโยชน์จากการประกันสังคม การใช้กองทุนพัฒนาโพ้นทะเล ระบบข้อต่อสู้คดีโดยบทบัญญัติของกฎหมายในคดีฆาตกรรม การจัดตั้งการไต่สวนสาธารณะ และอื่นๆ อีกมาก

ในกรณีนโยบายอพยพเข้าเมืองและราชทัณฑ์นั้น เป็นเวลานานปีมาแล้วที่ศาลได้ประยุกต์ใช้คุณค่าของตนเองซึ่งผิดแปลกแตกต่างกับนโยบายอันแข็งกร้าวกว่าที่รัฐสภาและรัฐบาลชุดต่างๆ นำมาใช้สืบต่อกันโดยได้การสนับสนุนอย่างแรงกล้าจากสาธารณชน

เอาล่ะครับ ปฏิกิริยาของคนส่วนใหญ่ต่อคำวินิจฉัยทำนองนี้ย่อมขึ้นกับว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือไม่กับผลลัพธ์ แต่ทว่าเราควรกังวลสนใจว่าคำวินิจฉัยนั้นทำกันออกมาอย่างไรด้วย ไม่ใช่กังวลสนใจเพียงแค่ผลลัพธ์เท่านั้น

เราพึงถามว่าการฟ้องร้องคดีความเป็นวิธีที่ถูกต้องในการแก้ไขความแตกต่างทางความคิดเห็นในหมู่พลเมืองในเรื่องที่เอาเข้าจริงเป็นคำถามเชิงนโยบายหรือไม่

ผู้คนมากหลายปรบมือต้อนรับคำวินิจฉัยของศาลซึ่งขัดขาเจ้าหน้าที่ทางการจนสะดุดหัวทิ่ม

บางทีก็ถูกอยู่ล่ะครับที่พวกเขาปรบมือให้ แต่มันก็มีราคาที่ต้องจ่ายให้การแก้ไขประเด็นเชิงนโยบายที่โต้แย้งถกเถียงกันได้ด้วยวิธีการแบบนั้นเหมือนกัน

มันเป็นหน้าที่โดยชอบของศาลที่จะหยุดยั้งรัฐบาลไม่ให้ใช้อำนาจของตนเกินกว่าที่กฎหมายได้ให้ไว้หรือบิดเบือนฉวยใช้อำนาจตามกฎหมายนั้นไปในทางมิชอบ

ทว่าการปล่อยให้ผู้พิพากษาตุลาการอ้อมค้อมหลีกเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติโดยรัฐสภาหรือทบทวนคุณค่าความเหมาะสมของการตัดสินใจทางนโยบายซึ่งรัฐมนตรีย่อมต้องพร้อมรับผิดต่อรัฐสภาอยู่แล้วนั้น กลับเป็นการหยิบยกประเด็นปัญหาที่แตกต่างออกไปขึ้นมา

กล่าวคือ มันเป็นการมอบหมายอำนาจดุลพินิจอันกว้างไพศาลให้กับคณะบุคคลผู้ไม่ต้องพร้อมรับผิดต่อใครหน้าไหนในสิ่งที่ตนทำเลย

มันยังบ่อนทำลายข้อได้เปรียบอันใหญ่โตที่สุดเพียงหนึ่งเดียวของกระบวนการทางการเมืองลงไปด้วย

นั่นคือการที่กระบวนการทางการเมืองช่วยปรองดองรองรับบรรดาผลประโยชน์และความคิดเห็นที่แตกต่างแยกแย้งกันของพลเมืองทั้งหลายเอาไว้

จริงอยู่ว่าการเมืองหาได้ทำหน้าที่ที่ว่านั้นได้ดียิ่งเสมอไปไม่ แต่ผู้พิพากษาจะไม่มีวันสามารถทำมันได้เลย น้อยนักที่การฟ้องร้องคดีความจะสื่อผสานความแตกต่างเข้ากันได้ เพราะมันเป็นเกมได้หมดเสียหมด

กล่าวคือ ผู้ชนะคดีก็คว้ารางวัลไป ส่วนผู้แพ้ก็ต้องจ่าย

การฟ้องร้องคดีความไม่ใช่กระบวนการปรึกษาหารือหรือมีส่วนร่วม หากเป็นการอุทธรณ์ต่อกฎหมาย ก็แลกฎหมายนั้นย่อมกอปรด้วยเหตุผล กฎหมายย่อมเป็นปึกแผ่นเอกภาพ กฎหมายย่อมคงเส้นคงวาและเคร่งครัดรัดกุมในการวิเคราะห์

ทว่าในกิจการส่วนรวมนั้น ลักษณะดังกล่าวเหล่านี้ใช่จะเป็นคุณสมบัติเสมอไปไม่

ความคลุมเครือ ความไม่คงเส้นคงวาและการหยวนๆ กันอาจเป็นมลทินทางปัญญาซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำไมนักกฎหมายไม่ชอบมัน

แต่บ่อยครั้งมันแยกไม่ออกจากการประนีประนอมซึ่งเราต้องยอมทำในฐานะสังคมถ้าหากจะให้เราอยู่ด้วยกันอย่างสงบสันติ

ในปาฐกถาตอนถัดไปผมใคร่จะพิจารณาเรื่องที่กลายเป็นสมรภูมิหลักระหว่างกฎหมายกับการเมือง อันได้แก่ สิทธิมนุษยชนสากล

ขอบคุณครับ