จรัญ พงษ์จีน : “โควิด-19” กับความเป็นอนิจจัง

จรัญ พงษ์จีน

“มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์” 8 ประการนี้ เป็นสิ่งไม่เที่ยงในหมู่มนุษย์ ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน ทุกอย่างดำเนินตามกฎ “อนิจจัง”

“อำนาจ” เสพเข้ามากๆ นานๆ แรกๆ “เมา” อีกสักพัก “หลง” สุดท้ายก็ “หมด” มัน “อจินไตย” คิดไม่ได้ คาดการณ์ไม่ถูก มองไม่เห็น

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็เหมือนปุถุชนทั่วไป ไม่ได้รับการยกเว้น เปลี่ยนโชคชะตาฟ้าลิขิต ตามกฎข้อบังคับเหล่านี้ไม่ได้ “มาแล้วต้องไป”

ต้องยอมรับว่า หลังโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” อ่อนตัว ช่วงเข้าสู่ขั้นตอน “ฟื้นฟู” เศรษฐกิจประเทศไทย ในไตรมาส 2-3 จะเผชิญกับวิบากกรรมสารพัด จะตกต่ำดำดิ่ง หนักกว่าสมัย “ต้มยำกุ้ง”

ไหนยังมีเรื่องของศาสตร์แห่งโหร ดาวมฤตยูโคจรมาทับดวงเมือง บ้านเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในช่วง 5-6 เดือนหลัง

“บิ๊กตู่” คนดวงแข็งแค่ไหน ก็หนีไม่พ้นหลักความเสื่อมเหล่านี้

กรณีที่ว่า หาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ถึงคราอัสดงไปตามกาลเวลา ก้าวลงจาก “หลังเสือ” จะด้วยเหตุผลหรือกลวิธีใด และไม่มีใครสามารถด่วนสรุปได้ล่วงหน้าว่า จะโดน “เสือกัด” หรือไม่

รู้แต่ว่า หาก “บิ๊กตู่” หลุดจากสนามแม่เหล็ก ถ้าไม่ชิงลงมือยุบสภา ปล่อยให้ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560

ตามไฟต์บังคับ ต้องเริ่มนับหนึ่งจาก “มาตรา 159” ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม

“และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งดังกล่าว ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำการลงคะแนนอย่างเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

กติกาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดเพียง “สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ” แต่ไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรี “ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550

ทำให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อชิงนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ใน “บัญชีชื่อพรรคการเมือง” ที่แสดงไว้ต่อประชาชน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกพรรคการเมืองจะเสนอชื่อในที่ประชุมรัฐสภาหลังเลือกตั้งทุกพรรค ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข พรรคการเมืองนั้นได้รับคะแนนเสียงตามรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ คือร้อยละห้า หรือ “จะต้องมี ส.ส.ในสภาอย่างน้อย 25 เสียง”

“พรรคการเมือง” ที่อยู่ในข่ายตามบทบัญญัตินี้ กรอบแคบลง จึงเหลือแค่ 1. “พรรคพลังประชารัฐ” 2. “เพื่อไทย” 3. “อนาคตใหม่” 4. “ประชาธิปัตย์” และ 5. “ภูมิใจไทย”

 

ถอดลายแทงรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อชิงนายกรัฐมนตรีไว้ 1.พปชร. แรกทีเดียวจะเสนอ 3 รายชื่อ คือ 1. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แล้วยังมี 2. “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และ 3. “นายอุตตม สาวนายน” กัน 2 คนหลังไว้เป็นอะไหล่เสริม หรือ “นายกฯ สำรอง”

แต่มีแรงกดดันอะไรลึกๆ มีใครบางคนอารมณ์บ่จอย ออกอาการนอยด์นิดหน่อย ทาง “สมคิด-อุตตม” เลยถอนสมอ

ด้วยประการดังกล่าว หาก “บิ๊กตู่” เกิดมีอันเป็นไปจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม “พลังประชารัฐ” หมดไพ่เล่นไปโดยอัตโนมัติ

เหลือ 2 ชอยส์ให้เลือกคือ หันไปใช้บริการพรรคร่วม เริ่มจาก “ประชาธิปัตย์” ที่อยู่อันดับ 2 โดยเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เข้าประกวด แต่หลังแพ้เลือกตั้งแบบป่าราบ “อภิสิทธิ์” ประกาศไขก๊อกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อไปโดยพลัน แต่ตาม “ช่องทางที่ 1” แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีสิทธิ์ที่จะเป็นเชนคัมแบ็กได้ แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ตาม

แต่โอกาสค่อนข้างยากถึง “ยากมาก” ถ้า “พปชร.” ยังเป็นแกนนำ

เหลือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเพียงหนึ่งเดียว

ช่วง “ประยุทธ์ 2/1” ฟอร์มรัฐบาลใหม่ กระแส “เสี่ยหนู” จะเป็นนายกรัฐมนตรีเชียงกง สำรอง ค่อนข้างสูงมาก เพราะมีองค์ประกอบดีเยี่ยมหลายจุด ประสานสิบทิศได้ทุกเครือข่าย มีสายสัมพันธ์ จิ๊กซอว์ดีกับทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคร่วมหรือฝ่ายค้าน

แต่นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 เป็นต้นมา “เสี่ยหนู” มิทราบว่าไป “กินยาผิดซอง” ที่ไหนมา เหยียบเปลือกกล้วยหกล้ม สคริปต์ผิดติดต่อกัน 2-3 จุด กระแสวูบหายไปอย่างน่าเสียดาย แต่ยังพอมีโอกาสแก้มือ กู้ชื่อชั้นให้กลับคืนมาได้ เพราะตามเงื่อนไข “ช่องทางที่ 1” ยังได้เปรียบกว่าใครเขาเพื่อนอยู่

หันดูว่าที่นายกรัฐมนตรีจาก “พรรคฝ่ายค้านร่วม” เข้าหลักเกณฑ์ตามเงื่อนไข “รธน.2560” แห่งมาตรา 159 และ 88 มีอยู่ 2 พรรคคือ เพื่อไทย กับ “อนาคตใหม่”

ตัดชื่อ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” กับพรรคอนาคตใหม่ทิ้ง แม้องค์ประกอบครบ แต่หัวหน้าพรรคที่มีชื่อเป็นผู้ท้าชิงนายกฯ ได้ถูกเว้นวรรค และต้นสังกัดถูกยุบ เปลี่ยนชื่อเป็น “ก้าวไกล”

เหลือ 3 ใบเถาจากพรรคเพื่อไทย ที่เสนอชื่อไว้ตอนเลือกตั้งจำนวน 3 คน คือ 1. “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” 2. “นายชัยเกษม นิติสิริ” และ 3. “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

3 ตัวชิงจากเพื่อไทย มีดีมีด้อยกันคนละอย่าง “คุณหญิงหน่อย” ประสบการณ์โชกโชน จัดเจนเวที ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองเหนือกว่าใครเขาเพื่อน “ชัยเกษม” อดีตอัยการสูงสุดเก่า มีความรู้ ความสามารถด้านกฎหมาย เหมาะด้วยประการทั้งปวงกับเพื่อไทย ที่โดนของมาตลอด

ขณะที่ “ชัชชาติ” แม้กระดูกทางการเมืองยังอ่อนปวกเปียก แต่เล่นกับกระแสได้ทุกรูปแบบ “ป๊อปปูลาร์” ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ว่าจะโดดเด่นหรือแรงฤทธิ์สักปานใด พะยี่ห้อ มีเครื่องหมายทางการค้า “เพื่อไทย” ถูกรุมกินโต๊ะหนักและมักโดนจับแพ้ฟาวล์มาตลอด

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องก้าวลงจากหลังเสือ จะด้วยอาการเบื่อจนอ้วก …มีเหตุหรือปัจจัยใดๆ บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ “ช่องทางที่ 1”

ดูเหมือนจะหา “จุดลงตัว” ยากอย่างยิ่ง ริบๆ หรี่ๆ

อาทิตย์หน้า จะพาไปดู “ช่องทางที่ 2” ซึ่งดูไปแล้วก็ยากอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน