คนมองหนัง : ย้อนรำลึก “ทาวเวอร์เรคคอร์ดส์” จากประสบการณ์ผู้บริโภคคนหนึ่ง

คนมองหนัง

กลุ่ม Documentary Club กำลังนำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “All Things Must Pass : ทาวเวอร์เรคคอร์ดส์ ร้านเดิม…เพิ่มเติมคือคิดถึง” ผลงานการกำกับฯ ของ โคลิน แฮงก์ส เข้ามาฉายในบ้านเรา

โดยหนังจะบอกเล่าเรื่องราวของอดีตร้านจำหน่ายแผ่นเสียง/เทป/ซีดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง “ทาวเวอร์เรคคอร์ดส์” ซึ่งเริ่มก่อตั้งที่แคลิฟอร์เนียใน ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503)

จากนั้น จึงค่อยๆ ขยับขยายกิจการจนครอบคลุม 5 ทวีป ซึ่ง ณ จุดสูงสุด เคยมีสาขาถึง 200 แห่ง ใน 30 ประเทศ (รวมทั้งไทย)

ใน ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) ทาวเวอร์เรคคอร์ดส์เคยทำยอดขายทั่วโลกได้มากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทว่า หลังจากนั้นอีกแค่ 7 ปี ธุรกิจบันเทิงขนาดมหึมาเจ้านี้กลับถูกฟ้องล้มละลายและต้องปิดกิจการทั้งหมด ยกเว้นสาขาในญี่ปุ่น ซึ่งมีการแยกแบรนด์ออกเป็นอิสระไปก่อนหน้านั้น

เนื่องในโอกาสที่หนังสารคดีเรื่อง All Things Must Pass กำลังจะฉายภาพให้ผู้ชมคนไทยได้ย้อนเห็นถึงความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของทาวเวอร์เรคคอร์ดส์

ผู้เขียนอยากขออนุญาตเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย 5 เรื่อง จากมุมมองและประสบการณ์ของผู้บริโภคคนหนึ่ง ที่มีความผูกพันพอสมควรกับทาวเวอร์เรคคอร์ดส์ (ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น “ซีดีแวร์เฮาส์” และปิดกิจการในท้ายที่สุด) สาขาประเทศไทย

 

หนึ่ง จากประสบการณ์ตอนวัยรุ่น ผมมองทาวเวอร์เรคคอร์ดส์เป็นห้องสมุดเพลง ที่มีคุณภาพ “โอเคระดับหนึ่ง” หรือจริงๆ แล้ว คือ “ดี” เลย ตามมาตรฐานของบ้านเรา

ในช่วงวัย 14-17 ปี ประมาณ พ.ศ.2538-2541 ผมยังสามารถย้อนกลับไปค้นหางานเพลงเก่าๆ ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อต้นทศวรรษ 2530 จากทาวเวอร์เรคคอร์ดส์สาขาต่างๆ ได้

เช่น ครั้งหนึ่ง ผมได้อ่านนิตยสารสีสัน ฉบับที่มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 10 ประจำ พ.ศ.2540 (แสดงว่านิตยสารวางแผงตอนต้นปี 2541) ซึ่งนอกจากจะมีรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลประจำปีดังกล่าวแล้ว ยังมีการเผยแพร่รายชื่อศิลปินผู้ได้รับรางวัลในครั้งที่ 1-9 อีกด้วย

จากนั้น ผมก็มานั่งสำรวจตรวจสอบคลังเทปของตนเองว่ายังขาดงานที่ได้รางวัลสีสันชุดไหนอยู่บ้าง? แล้วจึงออกตระเวนตามหาผลงานที่ไม่มีไว้ในครอบครองจากทาวเวอร์เรคคอร์ดส์หลายๆ สาขา

เท่าที่จำความได้ อย่างน้อยที่สุด ผมก็สามารถหาซื้อซีดีชุด “ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า” ของวง “เฉลียง” ซึ่งออกวางจำหน่ายตั้งแต่ พ.ศ.2534 ได้จากทาวเวอร์เรคคอร์ดส์เมื่อตอนต้นทศวรรษ 2540

เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างผมกับวง “พราว” ซึ่งแม้อัลบั้มของพราวจะออกวางจำหน่ายตั้งแต่ พ.ศ.2538 แต่ผมเพิ่งมาเริ่มฟังงานของพวกเขาอย่างจริงจังตอนประมาณปี 2540 นี่เอง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านกระทู้ที่เขียนถึงพราว ในห้องเฉลิมไทย เว็บไซต์พันทิป

ผมจึงไปตามหาแผ่นซีดีของพราวจากทาวเวอร์เรคคอร์ดส์ (ไม่แน่ใจว่าสาขาไหนบ้าง) และได้มาทั้งซีดีอัลบั้มเต็ม และแผ่นอีพี “เธอคือความฝัน” เวอร์ชั่นมิวสิก บ็อกซ์


สอง ตอน ม.4 ผมไปซื้อเทปเพลงชุด “อย่าสัญญา (Don”t Promise)” ซึ่งเป็นงานเดี่ยวชุดแรกและชุดเดียวของ “ธาริณี ทิวารี” จากทาวเวอร์เรคคอร์ดส์ สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า แล้วใบเสร็จก็ตกค้างอยู่ในไม่กระเป๋านักเรียน ก็หนังสือเรียนนี่แหละ

ปรากฏว่ามีเพื่อนคนหนึ่งมาพบใบเสร็จดังกล่าวเข้า และพูดทำนองว่า “โห! มึงซื้อมาได้ไง อัลบั้มนี้ ไม่ได้เรื่องเลย เอาทำนองเพลง ดี๊ดาดี๊ ของ Maria Montell มาร้องเนี่ยนะ?”

แต่สุดท้าย ในระยะยาว คนฟังเพลงหลายรายก็ได้ตระหนักว่า อัลบั้มชุดนี้มีดีมากกว่านั้น

หรือในทางกลับกัน อาจกล่าวได้ว่า “จุดอ่อนเดียว” ในอัลบั้มของธาริณี ก็คือเพลงโปรโมตชื่อ “อย่างงั้นอย่างงี้ (Di Da Di)” นั่นเอง

 

สาม ตอน ม.4 (อีกแล้ว) น่าจะประมาณเทอมสอง ผมไปเดินทาวเวอร์เรคคอร์ดส์ สาขาปิ่นเกล้า แล้วอยู่ดีๆ ก็เจอเพื่อนเก่าสมัย ม.1 ชื่อต้น ซึ่งเดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษ หลังจบ ม.3

ผมกับต้นเคยทะเลาะเบาะแว้งกันหนักๆ อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไปๆ มาๆ เรากลับกลายเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันในเรื่องเพลง

ครั้งหนึ่ง ตอน ม.1 มันเคยร้องเพลงจากอัลบั้มชุดแรกๆ ของ “ใหม่ เจริญปุระ” แล้วโกหกผมว่าเป็นเพลงของวง “คาซอย”

สุดท้าย ผมก็ซื้อเทปชุด “ขวด ถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ” ของคาซอยมาจริงๆ (ไม่ได้ซื้อจากทาวเวอร์เรคคอร์ดส์)

ตามความทรงจำส่วนตัว (ซึ่งอาจจะ “จำถูก” หรือ “จำผิด” ก็ได้) ผมเข้าใจว่าตนเองไม่ได้ซื้อเทปวงคาซอยเพราะเพลงของใหม่ ที่ไอ้ต้นร้องหลอกๆ ให้ผมฟังหรอก

แต่เป็นเพราะผมชอบเพลง “คาซอย” และ “เด็กซอยสนิท” ที่มีมิวสิกวิดีโอออกอากาศทางช่อง 9 แทบทุกวันมากกว่า

นอกจากนี้ ผมกับต้นยังเป็นแฟนคลับตัวยงของ “โมเดิร์นด็อก” ตอนออกอัลบั้มชุดแรก และ “บอย โกสิยพงษ์” ตอนออกอีพี “รักคุณเข้าแล้ว” เหมือนๆ กัน

ต้นเป็นคนแนะนำให้ผมลองไปฟังเพลง “เธอ” (ซึ่งแอบอยู่ตรง “หน้าบี”) ของโมเดิร์นด็อก ในช่วงที่ผมยังคงบ้าคลั่งกับ “ก่อน” “บุษบา” และ “กะลา”

ส่วนตอน ม.2 ผมก็เป็นคนไปแจ้งข่าวให้มันรู้ว่า อัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ของบอย ออกวางจำหน่ายแล้ว

ตอน ม.2 เช่นกัน เมื่อ “ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” ออกมินิอัลบั้ม (พื้นปกสีแดงเพลิง) ซึ่งมีเพลงขายช้าๆ เพราะๆ อย่าง “ร่ำลา” และ “ทางแสนไกล” ผมกับต้นต่างชื่นชอบเทปชุดนั้นเป็นอย่างมาก

แต่พอธรรพ์ณธรออกอัลบั้มเต็มชุดแรก (พื้นปกสีน้ำเงิน) ตอนเราเรียน ม.3 ผมกับต้นกลับมีความเห็นสวนทางกัน คือ ผมยังชอบงานอัลบั้มเต็มอยู่ ทว่า ต้นดันไม่ชอบอัลบั้มชุดนั้นเอาเลย เพราะมันมีเพลงช้าๆ เพราะๆ น้อยเกินไป ตามความเห็นของเขา

 

สี่ ผมไปซื้อซีดีอัลบั้มชุด “Demo Tracks” (1) ซึ่งเป็นงานรวมเดโมของศิลปินหน้าใหม่จากค่ายไมล์สโตน เรคคอร์ดส์ โดย มาโนช พุฒตาล ที่ทาวเวอร์เรคคอร์ดส์ สาขาปิ่นเกล้า

เพราะก่อนหน้านั้น ได้ซื้อเทปไปฟัง และมีเพลงที่ชอบหลายๆ เพลง อาทิ เพลงของไวลด์ซี้ด-ชุมพล เอกสมญา, เอ้-รงค์ สุภารัตน์, The Wanderers และ Eleven (ที่มี หมู มูซู เป็นสมาชิก)

ในอัลบั้มชุดนั้น ยังมีเพลง “นรกในใจ (มึงก็เลว กูก็เลว)” ของ “เอ๋ อีโบล่า” ซึ่งผมชอบชื่อเพลงมาก แต่ตัวเพลงกลับไม่ต้องตรงกับรสนิยมของตนเองสักเท่าไหร่

ตอนหยิบซีดีไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ มีพี่พนักงานคนหนึ่งเอ่ยทักขึ้นว่า “น้อง พี่เอ๋เค้าทำงานที่นี่ด้วยนะ ถ้าแกมาเห็นคนซื้อซีดีชุดนี้ คงดีใจแย่”

น่าเสียดายที่เวลานั้น เอ๋ อีโบล่า ไม่อยู่ในร้าน ผมจึงอดได้ลายเซ็นของเขาไปตามระเบียบ

 

ห้า ในช่วงท้ายๆ ก่อนเลิกกิจการอย่างถาวร ร้านซีดีแวร์เฮาส์ (ที่เข้ามารับช่วงต่อการดำเนินธุรกิจของทาวเวอร์เรคคอร์ดส์) สาขา ดิ เอ็มโพเรียม มีนโยบายรับซื้อซีดีเก่าจากลูกค้า

ผมเองก็เคยหอบซีดีเพลงเป็นสิบแผ่นไปขายที่นั่น โดยหนึ่งในซีดีซึ่งถูกนำไปเลหลัง คืออัลบั้มชุด “ออกไปข้างนอก” ของ “เพนกวิน วิลล่า” เพราะผมรู้สึกว่าเสียงร้องมันง้องแง้งน่ารำคาญยังไงไม่รู้

แต่ครั้นพอมีเพลงของ เพนกวิน วิลล่า ปรากฏอยู่ใน “หนังอภิชาติพงศ์” ครั้นพอได้ฟังเพลง “กลับไปที่โลก” เวอร์ชั่นที่คัฟเวอร์โดย “เก่ง ธชย” ผมก็เริ่มมารู้สึกนึกเสียดายย้อนหลัง ที่เผลอนำเอาอัลบั้มชุดนี้ไปขาย

อย่างไรก็ดี ผมนำซีดีใช้แล้วไปขายให้ซีดีแวร์เฮาส์แค่ครั้งเดียว เพราะ (1) เงินตอบแทนซึ่งได้รับกลับคืนมานั้น มีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร

และ (2) พอจะรวบรวมซีดีไปขายอีกครั้ง ร้านก็ปิดกิจการเสียแล้ว