จรัญ มะลูลีม : สายธารขบวนการดะอ์วะฮ์

จรัญ มะลูลีม

แม้ว่าขบวนการดะอ์วะฮ์ในปัจจุบันจะมีสองสายธารแห่งการเผยแผ่

คือสายหนึ่งเรียกว่าสายของสะอ๊าด (Saadi) แห่งนิซอมุดดีน กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

และสายธารของดะอ์วะฮ์โลกที่เรียกว่าสายอะลามี (Allami) ซึ่งมีฐานอยู่ในปากีสถาน

แต่วัตรปฏิบัติก็จะมีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่

ที่ผ่านมานักวิชาการทางด้านศาสนาที่มีชื่อเสียงของโลกมุสลิม ทั้งจากอินเดีย และปากีสถานก็เคยเข้าร่วมกับขบวนการดะอ์วะฮ์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอบุล อะลา เมาดูดีย์ ของปากีสถาน หรืออะบูหะซัน อะลีนัดวีย์ จากอินเดีย แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ร่วมกับขบวนการนี้ตลอดไปก็ตาม

เท่าที่ยังระลึกถึงได้ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในอินเดียทุกเช้าวันอาทิตย์จะมีผู้ที่อยู่ในขบวนการดะอ์วะฮ์จะมาเยือนหอพัก (Hostel) ของนักศึกษาต่างชาติแล้วก็เรียกร้องให้ไปฟังธรรมร่วมกันเวลา 10 โมงเช้าที่ญะมามัสญิด หรือมัสญิดที่ผู้คนมารวมกันมากที่สุด และเป็นศูนย์กลางของการรวมตัวกันของศรัทธาชนในเทศกาลสำคัญ เช่น การเฉลิมฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอด (อีดิลฟิฎริ) และพิธีฮัจญ์ (อีดิลอัฏฮา)

กลุ่มผู้เชิญชวนหลังจากสามารถนำศรัทธาชนมาฟังธรรมในตอนเช้าได้จนสิ้นสุดโปรแกรมราวหนึ่งชั่วโมงแล้ว พวกเขาก็จะพยายามโน้มน้าวให้ผู้มาฟังธรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยออกไปเผยแผ่คำสอนของศาสนาร่วมกับพวกเขา

ซึ่งมีตั้งแต่ออกไปเผยแผ่ 3 วัน 7 วัน 15 วัน และ 40 วัน ตามแต่โอกาส

 

นักศึกษาต่างชาติหรือนักศึกษาของอินเดียเองก็เหมือนกับผู้อยู่ในวัยหนุ่มสาวทั่วไป พอถึงวันอาทิตย์บางคนที่รู้ว่าจะมีกลุ่มก้อนของชาวดะอ์วะฮ์มาเชิญชวนไปฟังธรรม แม้ว่าพวกเขาไม่ปฏิเสธที่จะรับฟัง แต่บางคนก็เลือกที่จะออกไปดูหนังเช้าวันอาทิตย์ที่ในเมือง ซึ่งมีในทุกเช้าวันอาทิตย์ และเป็นหนังต่างชาติ รู้จักกันในชื่อ Morning Show อันเป็นช่วงเวลาที่นักเผยแผ่ศาสนาเดินทางมาเยือนที่หอพักนักศึกษาเช่นกัน

นักเผยแผ่จากขบวนการดะอ์วะฮ์เป็นผู้ได้รับการฝึกฝนในด้านกิริยามารยาทของนักเชิญชวนที่ดีเยี่ยม อาทิตย์แล้วอาทิตย์เล่าพวกเขาก็จะมาเยือน แม้จะได้พบกับนักศึกษาหรือไม่ก็ตาม

การเชิญชวนให้ออกไปเผยแผ่กับพวกเขาก็ไม่เคยหยุดลงแม้แต่ครั้งเดียวไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหนก็ตาม

สำหรับผมเองหลังจากได้รับการเชิญชวนต่อเนื่อง จึงได้ตัดสินใจออกเดินทางโดยเลือกที่จะร่วมกับนักเผยแผ่ไปยังเมืองที่มีความสวยงามและยังไม่เคยเดินทางไป โดยเฉพาะอยู่ในช่วงปีที่สองที่มาอยู่อินเดียเท่านั้น

เมืองที่ผมเลือกเดินทางไปกับพวกเขาคืออัครา (Agra) อันเป็นเมืองที่ตั้งของอนุสรณ์สถานรักบันลือโลก ทัชมาฮัล (Taj Mahal) อันเป็นอนุสรณ์สถานที่เป็นหลุมฝังศพของมหาราชา ชาฮ์ ยะฮัน กับพระนางมุมต๊าซ มาฮัล (Mumtaz Mahal) ผู้เลอโฉม

อนุสรณ์แห่งความรักแห่งนี้ได้กลายมาเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดของโลกยุคใหม่ที่มีสถาปัตยกรรมอันงดงาม ตามศิลปะของชาวเปอร์เซียเมื่อราชวงศ์มุคัลหรือโมกุลแห่งเปอร์เซียเข้าครองอินเดีย

 

วันเวลาของการเดินทางถูกกำหนดขึ้น ซึ่งตรงกับวันที่มหาวิทยาลัยปิด ผมกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย Aligash Muslim อีกจำนวนหนึ่งจะออกเดินทางด้วยความอยากรู้อยากเห็น และเป็นครั้งแรกที่จะได้ร่วมขบวนการดะอ์วะฮ์ที่เรียกว่าตับลีฆ ญะมาอัต หรือกลุ่มก้อนของผู้เผยแผ่

สำหรับผมใจหนึ่งของการเดินทางก็อยากเห็นอนุสรณ์รักบันลือโลก อีกใจหนึ่งก็อยากเรียนรู้วิถีของดะอ์วะฮ์ ความรู้สึกนี้ปะปนกันอยู่

ดังนั้น ช่วงว่างจากการอบรมและการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานและการตักเตือนกันและกันแล้ว ผมก็หาโอกาสไปเยือนทัชมาฮัลเป็นครั้งแรกเช่นกัน

ผมจึงได้ประสบการณ์ในสองรูปแบบทั้งจากความงามแห่งสถาปัตยกรรมเปอร์เซียอย่างทัช มาฮัล และวิถีของการเผยแผ่ของขบวนการดะอ์วะฮ์

และเรียนรู้ว่าพี่น้องดะอ์วะฮ์จะกินเมื่อความหิวมาเยือนเท่านั้น อาหารการกิน ผลไม้ของหวานจึงดูมีคุณค่าต่อชีวิตในยามหิว อย่างที่ได้รับรู้มาว่าความหิวทำให้ความอิ่มน่าอภิรมย์

 

ครูบาอาจารย์คือคนส่วนใหญ่ที่รวมอยู่ในขบวนการดะอ์วะฮ์ ก่อนการเดินทางจะมีการแต่งตั้งอมีร ตออาม (Amir Taam) หรือผู้ดูแลการหุงหาอาหาร

ทุกคนร่วมกันออกค่าเดินทาง ค่าอาหารซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมาก พวกเขาส่วนใหญ่ในทริปนี้ นอกเหนือจากผู้อยู่ในกลุ่มก้อนของนักเผยแผ่ทั่วไปที่มาจากหลากหลายอาชีพแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะเป็นอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์เป็นด้านหลัก

ดะอ์วะฮ์คือขบวนการเผยแผ่ศาสนาของผู้คนที่ไม่ต้องการชื่อเสียง

ไม่ต้องการการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใดๆ

ไม่มีการถ่ายรูป ไม่มีการเมือง

ไม่วิพากษ์องค์กรการเผยแผ่ศาสนาอิสลามอื่นๆ

ไม่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์นิกายที่ต่างกัน

แต่ที่เน้นมากที่สุดคือการซึมซับพจนารถของพระผู้เป็นเจ้าและคำสอนของศาสดามุฮัมมัดเป็นด้านหลัก

รวมทั้งการเผยแผ่ที่จำกัดวงอยู่เฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น

แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีผู้เปลี่ยนมาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเข้าร่วมด้วยก็ตาม

 

เมื่อเวลาละหมาดยามรุ่งอรุณใกล้จะมาถึงคณะผู้เดินทางที่ไปนอนอยู่ในมัสญิดร่วมกัน ซึ่งมัสญิดดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากทัชมาฮัลและแม่น้ำยมุนาอันงดงามมากนักนั้น

ผู้เผยแผ่ศาสนาที่ตื่นก่อนก็จะมาปลุกผู้คนที่ยังคงนอนอยู่ให้ลุกขึ้นมาภักดีพระผู้เป็นเจ้าด้วยการบีบเบาๆ ไปที่ตาตุ่มของผู้ที่ยังหลับอยู่อย่างนุ่มนวล

แล้วพวกเขาก็จะตื่นมาอาบน้ำเพื่อละหมาดต่อไป

บรรยากาศในยามเช้าซึ่งศรัทธาชนลุกขึ้นมาเข้าเฝ้าพระเจ้าเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ดูอบอุ่น และทุกคนก็ละหมาดอย่างพร้อมเพรียงกัน

ซึ่งหลังการละหมาดจบลง อิมาม (Imam) ซึ่งเป็นผู้นำละหมาดของท้องถิ่นและผู้นำในการเผยแผ่ที่เดินทางมาที่มัสญิดแห่งนี้ก็จะนั่งล้อมวงกันอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน

และบรรยายธรรมด้วยการกล่าวถึงจริยวัตรของท่านศาสดา ความยุติธรรม ความรักและความเข้าใจในศาสนธรรมและการอยู่ร่วมกัน

ยามเย็นก่อนการละหมาดช่วงสนธยา (มักริบ) นักเผยแผ่ศาสนาเหล่านี้จะออกไปตามหมู่บ้านและเชิญชวนชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ ให้มาฟังธรรม

ซึ่งโดยปกติผู้คนกลุ่มหนึ่งจะมาตามคำเรียกร้อง ส่วนอีกส่วนหนึ่งรับฟังการเชิญชวนแต่อาจจะติดภารกิจอื่นๆ จึงไม่ได้มาร่วมรับฟังการบรรยายธรรมที่มัสญิด

 

ผู้เผยแผ่เหล่านี้จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว และเนื่องจากอิสลามไม่มีข้อกำหนดในเรื่องการแต่งกายโดยเฉพาะเจาะจง หากแต่มีคำสอนสำคัญคือ สำหรับชายการปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่าเป็นเรื่องจำเป็น

สำหรับหญิงให้ปิดตลอดเรือนร่างยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ

แม้ว่าบางสำนักคิดจะมีความเห็นว่าสตรีเมื่อออกจากบ้านควรเอาบ้านไปกับตนด้วย จึงควรปกปิดใบหน้าของตน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีคำสอนจากโองการใดของคัมภีร์อัลกุรอานที่ให้สตรีปิดใบหน้าของตนเอง

ขบวนการดะอ์วะฮ์เรียบง่าย ใช้ไม้ข่อยเป็นแปรงสีฟัน กินอาหารร่วมกัน แต่ในการเดินทางครั้งนั้น ผมไม่เห็นผู้เผยแผ่เหล่านี้ที่กินอาหารร่วมกันจนต้องถึงกับดูดนิ้วตัวเองหรือเอานิ้วปาดถาดอาหารแล้วเอามาใส่ปากตัวเองเมื่อมีอาหารหลงเหลืออยู่แต่อย่างใด อย่างที่ผู้เผยแผ่บางกลุ่มทำอยู่

และโดยทั่วไป แม้อิสลามจะสอนไม่ให้กินอยู่อย่างฟุ่มเฟือยหรือเหลือทิ้ง

แต่การดูดนิ้วหรือเอานิ้วปาดที่ถาดหรือจานอาหารเพื่อให้อาหารหมดโดยไม่เหลือก็ไม่ใช่วิถีของคนมุสลิมส่วนใหญ่ที่จะทำเช่นนั้น

 

ชาวบ้านมุสลิมในชนบทจะมาร่วมรับฟังด้วยความตั้งใจ บางทีพวกเขาก็มีอาหารติดไม้ติดมือมาให้ผู้เผยแผ่เหล่านี้ด้วย ซึ่งจะมานอนที่มัสญิดของพวกเขา ก่อนที่วันถัดไปขบวนการดะอ์วะฮ์ก็จะเดินทางไปยังมัสญิดใกล้เคียงหรือตำบลใกล้เคียงอื่นๆ ต่อไป

ในการเดินทางทุกคนจะมีถุงนอนและอุปกรณ์ในการดูแลตัวเองทุกอย่าง แม้ว่าวันเวลาเหล่านี้จะผ่านมายาวนานถึง 42 ปี แล้วผมก็ยังจำการทำหน้าที่ดะอ์วะฮ์ของตัวเองได้ดี ภาพเหล่านี้ยังอยู่ในความทรงจำถึงชาวมุสลิมในอินเดียและชาวอินเดียทั้งหมดที่ผมเคยอยู่

และมีความสุขมาโดยตลอดเมื่อได้ระลึกถึงพวกเขาในดินแดนของเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายอย่างอินเดีย