ในประเทศ / ECO วิด ปัจจัยเศรษฐกิจ ชี้ขาดรัฐบาล ‘ตู่’

ในประเทศ

 

ECO วิด

ปัจจัยเศรษฐกิจ

ชี้ขาดรัฐบาล ‘ตู่’

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับเอง

ว่า สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ

คงจะมีผลกระทบไปอีกนานพอสมควร

ไม่ใช่แค่ 3 เดือน อาจถึง 6 เดือน 9 เดือน

สอดคล้องกับข้อมูลทางเศรษฐกิจจากฝ่ายต่างๆ

โดยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบภาวะเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้มในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2.8

ขณะที่นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รับว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 2.99%

หดตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เมษายน 2563 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 33.3 เทียบกับระดับ 37.5 ในเดือนก่อนหน้า

สะท้อนการขาดความเชื่อมั่นในทุกด้านสูงเพราะตัวเลขต่ำกว่าระดับปกติ 50

ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ฟันธงว่า สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 100 ปี

และคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัว -5% ถึง -8%

 

ถือเป็นภาวะที่หนักและเหนื่อยยิ่งสำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

แค่ 6-9 เดือนข้างหน้าที่เงินเยียวยาเฉพาะหน้าไม่มีแล้ว

หากปัญหายังไม่คลี่คลาย ก็น่าห่วงยิ่ง

ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบจึงต้องมีฐานแน่นๆ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะก้าวต่อไปได้

แต่ก็เกิดคำถาม แล้วรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างไร

แน่นอน ภาพที่เราเห็นที่กระทรวงการคลัง ที่ประชาชนแห่มาร้องขอสิทธิเยียวยา 5 พันบาทจากรัฐบาล

ซึ่งเป็นแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ก็ยังสะท้อนถึงจุดอ่อนมากมาย

ดังเสียง “วิงวอน” จากนางทองสา ดาหา ชาวบ้านจาก จ.กำแพงเพชร ที่กล่าวพร้อมน้ำตาและเสียงสะอื้น

“ตอนนี้จะอดตายอยู่แล้ว มันอยู่ไม่ได้จริงๆ ข้าวสารจะหมดแล้ว จะทำยังไง เรามันจนจริงๆ เงินก็ไม่มี ของก็ขายไม่ได้ จะให้ทำยังไง นี่ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ออกมาร้องเรียน และไม่เคยไปร่วมประท้วงที่ไหน แต่ตอนนี้กำลังจะอดตาย เลยต้องมา มันอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ได้จริงๆ”

 

แม้จะเป็นเสียงนกกระจิบกระจ้อย

เมื่อเทียบกับตัวเลขที่กระทรวงการคลังและรัฐบาลยืนยันว่า ได้ให้สิทธิรับเงินเยียวยาผู้เดือดร้อนไปแล้วที่ 16 ล้านคน เกษตรกร 10 ล้านคน แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้าน รวม 39 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 66.5 ล้านคน

แต่กระนั้น นางทองสาและคนอีกนับล้านก็ยังตกหล่น และเฝ้ารอที่จะได้รับการดูแลและเอาใจใส่ โดยมีประสิทธิภาพกว่านี้ ทั่วถึงกว่านี้

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาระยะปานกลาง และระยะยาว

ทั้งนี้ ทุกคนทราบดีว่า รัฐบาลได้อำนาจตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึง 1.9 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินก้อนมหึมา และเป็นหนี้ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมจ่าย

ดังนั้น การนำมาใช้จำเป็นจะต้องมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง โปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า รั่วไหล หรือเป็นประโยชน์ต่อพวกพ้อง หรือพรรค

ซึ่งตรงนี้เอง ทุกคนอยากได้ความเชื่อมั่นจากรัฐบาลอย่างยิ่ง

 

ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน และอยากให้รัฐบาลตอบสนอง

นั่นก็คือกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยสมาชิกพรรค ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามการตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤตการระบาดของโคโรนา 2019

เพื่อเป็นกลไกติดตามเรื่องสถานการณ์ความทุกข์ร้อนของประชาชน มาตรการเยียวยาประชาชน และการใช้งบประมาณของรัฐบาล

แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็ม โดยบรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ถูกโอนมาเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า นายกรัฐมนตรีจะกระทำการใดๆ โดยปราศจากการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ

มีความคาดหวังว่า รัฐบาลจะตอบสนองข้อเสนอนี้

แต่ไม่รู้ว่าจะรับลูกหรือไม่

 

ด้วยรัฐบาลมักจะอ้างว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเทน้ำหนักไปยังฝ่ายข้าราชการประจำ รวมถึงนักธุรกิจภาคเอกชน

อย่างกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

มีองค์ประกอบ คือ

1.เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน 2.ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการ 3.อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ 4.ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เป็นกรรมการ 5.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ

6.ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกรรมการ 7.ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 8.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 9.ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ 10.ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 11.ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นกรรมการ

12.ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 13.ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นกรรมการ 14.ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 15.นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ 16.นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 21/2563 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง มีองค์ประกอบ ดังนี้

นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน นายเทียนฉาย กีระนันทน์ รองประธาน ส่วนกรรมการมี นายแพทย์นิธิ มหานนท์ นายวุฒิสาร ตันไชย นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นายวรากรณ์ สามโกเศศ นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา นายบัณฑิต นิจถาวร นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นายวีระ ธีระภัทรานนท์ นายสมชัย จิตสุชน ขณะที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

จะเห็นว่า ที่ปรึกษาทั้งในส่วนรัฐบาลและ ศบค. ที่จะมาช่วยในการวางแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ล้วนเป็นข้าราชการ องค์กรธุรกิจ นักวิชาการ ที่มีวงเล็บต่อท้ายว่า บางคนเป็นฝ่ายฟากรัฐบาลแบบสุดตัว

ทำให้เกิดคำถามถึงความหลากหลาย และเกิดความไม่แน่ใจว่าจะมุ่งลงสู่ชาวบ้านรากหญ้าจริงหรือไม่

 

ขณะที่ชาวบ้านขาดความมั่นใจ กลไกที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ความเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เองก็ยังเพิ่มความไม่มั่นใจให้ชาวบ้านขึ้นไปอีก

เมื่อมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงหัวหน้าและเลขาธิการพรรค และมีสถานีสุดท้ายที่การปรับคณะรัฐมนตรี

โดยเป้าหมายอยู่ที่การโละ “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ด้วยการชี้ถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการไม่เอาใจใส่ ส.ส.ในพรรค

ซึ่งแน่นอน มันก็ได้ตอกย้ำแม้แต่ในพรรคเองว่ายังไม่ยอมรับการทำงานของทีมเศรษฐกิจ แล้วข้างนอกจะยอมรับได้อย่างไร

แต่กระนั้น กลุ่มที่จะเข้ามาใหม่ ไม่ว่านายวิรัช รัตนเศรษฐ นายสุชาติ เฮงสวัสดิ์ นายอนุชา นาคาศัย นายสันติ พร้อมพัฒน์ และรวมถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่จะเป็นมือเศรษฐกิจ อันมีความหวังแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น นายณัฏฐพลกำลังถูกกระแสตีกลับว่า เป็นเจ้าของไอเดียที่ไปผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ส่งจดหมายขอความช่วยเหลือจากเหล่าบรรดา “เจ้าสัว” เศรษฐีติดอันดับของเมืองไทยมากู้วิกฤตโควิด-19 ซึ่งแทนที่จะได้รับคำชม

กลับกลายเป็นถูกกระแสสังคมและฝ่ายค้านรุมกระหน่ำว่าเป็น “รัฐบาลขอทาน”

จนต้องแก้เกมว่าไม่ใช่ต้องการเงิน แต่ต้องการความคิดมาช่วยเหลือประเทศ ทำให้ความปรารถนาดีกลายเป็นร้าย ที่หวังผลบวกก็กลายเป็นลบ

จึงทำให้ทีมเศรษฐกิจทั้งชุดเก่าที่กำลังถูกขับไล่และกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาแทน มิได้สร้างความมั่นใจว่าจะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีความพร้อมและมีประสิทธิภาพในการรับมือกับ “มหาวิกฤตเศรษฐกิจ” ที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร

ตรงกันข้าม ปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่หรือไปเลยทีเดียว

         ฝีมือและผลงานจะพิสูจน์