เพ็ญสุภา สุขคตะ / หลักหิน เสาเหลี่ยม เสาบัว : พัทธสีมากับชาติพันธุ์?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เราได้พบสิ่งที่เรียกว่า “ใบเสมา” อันหมายถึง “หลักปักเขตอุโบสถ” ในดินแดนหริภุญไชยและล้านนาหลากหลายรูปแบบ ล้วนแล้วแต่สร้างปริศนาให้แก่นักวิชาการด้านโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง

อย่างน้อยมีใบ “เสมา” หรือในที่นี้ดิฉันขอเรียกว่า “สีมา” สามรูปแบบที่จะขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่างในการถกประเด็น

อยากให้ทุกท่านลองช่วยกันวิเคราะห์ดูว่า สีมาหินรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ จะมีความเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ของผู้สร้างหรือไม่ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงการกำหนดอายุสมัยของตัววัตถุใบสีมา ว่าควรจะเก่าแก่กว่าอาคารพระอุโบสถหลังปัจจุบันด้วยไหม

 

หลักหินของชาวมอญโบราณ
หริภุญไชยสืบสานจากทวารวดี

เท่าที่ศึกษาเรื่องใบสีมาในภาคเหนือ ดิฉันได้พบ “หลักหิน” ยุคหริภุญไชยแบบธรรมชาติรุ่นเก่าสุด อยู่ตามวัดโบราณ 4-5 แห่งในจังหวัดลำพูน

แห่งแรกพบที่เวียงเกาะกลาง ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง (คือในภาพประกอบนี้) อีกสามแห่งพบในเขตเมืองเก่าหริภุญไชย ทั้งหมดอยู่ในอำเภอเมือง ได้แก่ วัดพระธาตุหริภุญชัย วัดกู่ละมัก และวัดร้างดอนแก้ว

การเรียกว่า “หลักหิน” ไม่เรียกว่าใบสีมา ก็เนื่องมาจากรูปทรงของสีมารุ่นโบราณเหล่านี้ยังคงใช้แท่งหินแบบธรรมชาตินำมาปักล้อมเขตอุโบสถแบบง่ายๆ แต่ละแท่งมีขนาดเท่ากันบ้างไม่เท่ากันบ้าง ปลายหลักหินก็ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องการสลักให้เป็นยอดแหลมหรือยอดมน

ยิ่งเมื่อผ่านกาลเวลา สภาพของหลักหินก็ยิ่งชำรุดผุกร่อน มองไม่เห็นเค้าโครงว่าเคยเป็นรูปเป็นร่างอย่างไรเหตุเพราะเมื่อแรกนำมาปักเขต คงไม่ได้สลักเสลาเกลากลึงขัดแต่งให้เห็นกรอบโครงรูปทรงที่เด่นชัดมากนัก

มีผู้ตั้งคำถามว่า หลักหินกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์มอญด้วยหรือไม่ เนื่องจากที่นี่ยังคงมีชุมชนชาวมอญอาศัย และมอญถือเป็นชาติพันธุ์เก่าแก่ที่อยู่คู่มากับนครหริภุญไชย ดิฉันเองยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ ได้แต่เก็บคำถามนั้นไว้ในใจก่อน

 

เสาแปดเหลี่ยม ชาวลัวะ
พัฒนาการจากเสาอินทขีล?

ใบสีมาหินรูปแบบที่สองน่าสนใจยิ่ง ทำเป็นแท่งเสาสูงทรงแปดเหลี่ยม มีลักษณะที่แตกต่างจากหลักหินโบราณที่เป็นแท่งหินธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด

เสาแปดเหลี่ยมเหล่านี้มีขนาดสูง พบการขัดแต่งเกลากลึงผิวรอบนอกให้เป็นเหลี่ยมเป็นสัน หากพิเคราะห์ทีละแท่งแบบเดี่ยวๆ ดูเผินๆ อาจมีความละม้ายคล้ายคลึงกับศิวลึงค์ของพวกพราหมณ์อยู่บ้าง เนื่องจากศิวลึงค์เองทำฐานล่างเป็นรูปแปดเหลี่ยม และยอดบนกลมมน

บางท่านตั้งคำถามว่า ฤๅเสาเหล่านี้เป็นพัฒนาการเรื่องวัฒนธรรม “หินตั้ง” ที่สืบมาจากลัทธิบูชา “เสาอินทขีล” หรือเสาสะก้าง (หมายถึงเสาหลักเมือง) ของชาวลัวะ?

แต่ความที่เสาแปดเหลี่ยมเหล่านี้ถูกนำมาใช้ทำหน้าที่เป็น “ใบสีมา” ล้อมรอบเขตพระอุโบสถของวัดพุทธศาสนา ฉะนั้นแนวคิดที่ว่า เสาหินทรงสูงมีรากฐานที่เกี่ยวข้องกับชาวลัวะนั้น จะเป็นทฤษฎีที่สามารถยอมรับได้อย่างสนิทใจหรือไม่

อันที่จริงไม่ควรลืมว่าในวัฒนธรรมล้านนานั้นเอง ชาวพุทธกับผี (รวมทั้งพราหมณ์) ต่างอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนมายาวนาน มีการหยิบยืมความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เรื่องสิ่งที่มองไม่ห็นเข้ามาปะปนกับแนวคิดของพุทธลังกาวงศ์แบบ (ที่ชอบกล่าวกันว่า) บริสุทธิ์ในชีวิตประจำวัน อย่างชนิดที่แยกกันไม่ออกหลายกรณี

สถานที่ที่พบใบสีมาแท่งเสาแปดเหลี่ยมทรงสูงได้แก่ วัดร้างพระเจ้าหูยาน ที่เวียงรัตนา ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง ลำพูน เป็นวัดเก่าแก่ของชุมชนชาวลัวะที่มีมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชยอายุนับพันปี ก่อนการสร้างอาณาจักรล้านนา

กับอีกสองวัดที่โดดเด่นมากในเชียงใหม่คือที่วัดพระสิงห์กับวัดเจดีย์หลวง ทั้งสองวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยล้านนา น่าคิดทีเดียวว่าใบสีมาแท่งเสาทรงสูงของวัดสมัยล้านนานี้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นการย้ายเสาสีมามาจากที่อื่นใดในวัฒนธรรมหริภุญไชยดั้งเดิมที่ชาวลัวะอาศัยอยู่หรือไม่ หรือว่าสร้างพร้อมกับตัวพระอุโบสถ?

อุโบสถสองสงฆ์หลังเดิมของวัดพระสิงห์ (หลังปัจจุบันบูรณะใหม่โดยครูบาเจ้าศรีวิชัย พ.ศ.2470) สร้างระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-21 ในสมัยล้านนา

ส่วนวัดเจ็ดยอดนั้นค่อนข้างแน่นอนว่าสร้างปี 2020 โดยพระเจ้าติโลกราช แต่ในส่วนของอุโบสถที่ประดิษฐานพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ ซึ่งมีใบสีมาแท่งเสาหินสูงนี้สร้างในสมัยพระเมืองแก้วหลังจากนั้นอีก 30-50 ปี

บรรพชนของชาวไทโยน (ประชากรหลักของอาณาจักรล้านนายุคก่อน) ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเป็นชาวลัวะ และก่อนที่ลัวะจะมาเข้ารีตกลายเป็นพุทธศาสนิกชน ผสมกลมกลืนกับชาวไทโยน ก็เคยนับถือผีและบูชาเสาอินทขีลมาก่อน

นำไปสู่คำถามที่ว่า การพบใบสีมารูปแท่งเสาทรงแปดเหลี่ยมค่อนข้างสูงเช่นนี้ มีความตั้งใจจะทิ้งร่องรอยของการบูชาเสาอินทขีลของชาวลัวะมาก่อน ใช่หรือไม่?

ทำไมกษัตริย์ล้านนาจึงไม่ใช้รูปแบบ “ใบสีมา” แบนๆ ที่เป็นแท่งหินธรรมชาติ ดังที่นักวิชาการเรียกว่า “หลักหิน” ตามอย่างวัดเกาะกลาง หรือวัดพระธาตุหริภุญชัยของชาวมอญหริภุญไชย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาก่อนแล้ว

หรือเป็นเพราะต้องการแบ่งแยกให้เห็นว่า “เราเป็นคนละเผ่าพันธุ์กัน” คุณเป็นมอญสายเจ้าแม่จามเทวี แต่ฉันเป็นลัวะสายขุนหลวงวิลังคะ ทำให้ใบสีมาแบบแท่งเสาแปดเหลี่ยมทรงสูงรูปทรงคล้ายเสาอินทขีล ซึ่งเคยมีการทำมาก่อนแล้วแถววัดพระเจ้าหูยานโดยชาวลัวะลำพูนริมแม่ระมิงค์ ได้รับการหยิบยกมาเป็นต้นแบบอีกครั้งที่วัดพระสิงห์และวัดเจ็ดยอด

นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และคำถามเบื้องต้นของดิฉันกับเพื่อนนักวิชาการหลายคน ซึ่งยังไม่สามารถฟันธงคำตอบได้ ต้องรอผู้รู้จากหลากหลายศาสตร์มาช่วยคลี่คลายปริศนากันอย่างมาก

 

เสาบัวคู่ลายใบผักกูดประยุกต์
ไฉนคล้ายเสานางจรัลของขอม

มีเสาทรงสูงอีกประเภทหนึ่งที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ทำจากหินทรายสีแดง พบทั้งหมด (ณ ตอนนี้) ประมาณ 8 ชิ้น แต่ละชิ้นมีขนาดสูงต่ำไม่เท่ากัน ฐานเสาโดยรวมคว้านโค้งเป็นเส้นคมทรง 6 เหลี่ยม ยอดบนสลักเป็นดอกบัวตูมกลีบซ้อน ภายในกลีบบัวนั้นจำหลักเป็นรูปลายเส้นยาวขนานกันล้อมรอบลายใบผักกูด

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับกลุ่มเสาเหล่านี้ อาทิ นี่ก็เป็นใบสีมาอีกประเภทหนึ่งใช่หรือไม่ เสาบัวเหล่านี้สร้างในสมัยหริภุญไชยหรือล้านนา ทำไมรูปทรงโดยรวมจึงคล้ายเสานางเรียงหรือเสานางจรัลของวัฒนธรรมเขมร?

ก่อนจะตอบคำถามทั้งหมดนี้ ต้องทราบแหล่งที่พบเสาบัวเหล่านี้เสียก่อน จากการสัมภาษณ์สิบเอกสุวิช ศรีวิราช ปราชญ์ชาวยองย่านสบทา ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณคือ วัฒนธรรมอำเภอป่าซางและวัฒนธรรมอำเภอลี้ ผู้ทำการศึกษาถึงที่มาของเสาบัวอย่างละเอียด ได้อธิบายแก่ดิฉันว่า

“ชาวยองลำพูนพื้นเมืองเรียกเสาบัวเหล่านี้ว่า “บัวจุ๋ม” หรือ “จุ๋มดอกบัว” ไม่ได้เรียกว่าใบเสมาหรือสีมาแต่อย่างใด เหตุที่บัวจุ๋มทั้ง 8 หลักนี้ ก่อนที่จะถูกย้ายเข้าไปเก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย 6 หลัก กับนำไปปักที่ฐานเพื่อบูชาพระธาตุหริภุญไชยในวัดอีก 2 หลักนั้น ทั้งหมดเคยจมอยู่ที่กู่เจ้าออมแก้ว หรือวัดป่าแดงร้างริมน้ำกวงมาก่อน…

“สมัยผมเด็กๆ กระโดดดำน้ำเล่นแถวหน้าวัดเจ้าออมแก้ว ได้เห็นบัวจุ๋มนอนแอ้งแม้งที่ก้นน้ำกวงหลายแท่ง น่าจะมากกว่า 8 แท่ง กระทั่งทางกรมศิลปากรทราบข่าว จึงได้ให้คนมางมเก็บขึ้นไปรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ตอนแรกยังไม่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยของกรมศิลปากร จึงเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์หลังเดิมของวัดพระธาตุหริภุญชัยก่อน ต่อมาจึงแบ่งกัน…

คนที่มาเห็นบัวจุ๋ม 2 แท่งปักที่ฐานพระธาตุหริภุญไชย ก็พลอยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเสาบัวที่อยู่คู่กับพระธาตุหริภุญไชยมาเนิ่นนาน บ้างก็ว่าเป็นหลักสีมาของอุโบสถวัดพระธาตุหริภุญชัย ผมยืนยันว่า เป็นการย้ายมาจากวัดร้างป่าแดง หรือกู่เจ้าออมแก้วริมน้ำกวง”

จากการที่ความสูงของเสาบัวจุ๋มมีขนาดไม่เท่ากัน (แต่มีข้อน่าสังเกตว่า หากจัดเป็นคู่ๆ แล้ว แต่ละคู่จะสูงเท่ากัน) บางคู่สูงมากเกิน 1 เมตรครึ่ง บางคู่สูง 1 เมตร บางคู่สูงครึ่งเมตร ส่วนคู่ที่ปักบริเวณฐานวัดพระธาตุหริภุญไชยนั้น ถูกตัดเสาให้สั้นลงเหลือแค่ยอดบัว

จากข้อมูลเบื้องต้นของพ่อครูสุวิช ทำให้มีคำถามตามมามากมายว่า หากเป็นใบสีมาจริง วัดร้างป่าแดงหรือกู่เจ้าออมแก้วแห่งนี้ก็น่าจะมีสภาพเป็น “อุโบสถ” กลางน้ำใช่หรือไม่ จึงมีการสร้างใบสีมากลางลำน้ำกวง

การสร้างเสาบัวจุ๋มเป็นคู่ๆ ประมาณ 4 คู่ (หรือมากกว่านั้น) ขนาดสูงต่ำไม่เท่ากัน แสดงว่าต้องปักแท่งเสาในลักษณะที่ลดหลั่นกันไป จากบกไปหาน้ำใช่หรือไม่ หมายความว่าเสาบัวจุ๋มต้นที่สูงมากที่สุด ต้องอยู่กลางน้ำกวงชั้นล่างสุด และคู่ที่เตี้ยที่สุดย่อมต้องอยู่ข้างบนใกล้ทางเข้าอุโบสถ มิเช่นนั้นแล้วจะทำเสาบัวจุ๋มขนาดลดหลั่นกันไปเพื่ออะไร

จริงอยู่ที่ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า เสาบัวเหล่านี้มองเผินๆ มีลักษณะที่ชวนให้นึกถึงเสานางเรียงหรือเสานางจรัลในวัฒนธรรมขอมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเสาที่ตั้งเรียงรายเป็นจุดๆ เพื่อนำศาสนิกเข้าไปสู่สถานที่สำคัญตอนใน เรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างเสาบัวจุ๋มกับเสานางจรัลของเขมรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันยังคาใจ แม้ว่าการสลักลวดลายกลีบบัวของที่ลำพูนนั้นวิจิตรบรรจงมากกว่าเสานางจรัลในภาคอีสานหรือในกัมพูชามากมายนัก

มาสู่คำถามที่ว่า สมมติว่าเสาบัวจุ๋มทั้งหมดนี้เป็นใบสีมาจริง และเป็นใบสีมาของโบสถ์กลางน้ำ ก็จะต้องถามต่อว่า ตกลงแล้วบัวจุ๋มเหล่านี้สร้างขึ้นยุคหริภุญไชยหรือล้านนากันแน่

พิจารณาจากเนื้อหินทรายมีลักษณะเหมือนกันกับเนื้อหินทรายที่นำไปทำศิลาจารึกอักษรมอญโบราณยุคหริภุญไชยอย่างมาก แต่ว่าลายกระหนกนั้นดูประยุกต์ไปจากลวดลายกระหนกผักกูดยุคทวารวดี-หริภุญไชยเช่นกัน มองมุมหนึ่งลายใบผักกูดนี้ก็คล้ายลวดลายศิลปะล้านนาที่รับอิทธิพลมาจากลายโบตั๋นของจีน

ประเด็นชื่อของวัดที่พบบัวจุ๋มชื่อ “ป่าแดง” ก็เป็นอีกปมเงื่อนหนึ่ง ที่ชวนให้คิดว่าวัดแห่งนี้ควรเป็นวัดของนิกายป่าแดงที่พระเจ้าติโลกราชยุคล้านนาอุปถัมภ์ด้วยหรือไม่ ถ้าใช่วัดของพระองค์ ทำไมจึงทำใบสีมาเสียวิลิศมาหราเช่นนี้ แตกต่างไปจากวัดเจ็ดยอดซึ่งเป็นนิกายป่าแดงเช่นเดียวกัน

เว้นเสียแต่ว่าจะมีการใช้พื้นที่เดิมของวัดร้างในสมัยหริภุญไชยตอนปลายๆ มาแปลงเป็นวัดป่าแดงภายหลัง?

เรื่องปริศนาใบสีมาสามรูปแบบนี้ยังไม่มีข้อยุติ ดิฉันได้แต่โยนก้อนหินถามทางไว้ให้ผู้สนใจนำไปศึกษาต่อ ขอสารภาพว่าเรื่องหลักหิน เสาเหลี่ยม เสาบัวนี้เป็นอะไรที่ท้าทาย ปราบเซียนนักโบราณคดีจริงๆ