วิเคราะห์ | ส.ส.พรรคร่วมงัดข้อ 3 พ.ร.ก.กู้ ใช้บทบาทนิติบัญญัติขับเคลื่อน ท้าทายอำนาจรวมศูนย์ “บิ๊กตู่”

ตั้งแต่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบังคับใช้กฎหมาย ตีกรอบการเคลื่อนย้าย รวมกลุ่มของประชาชน สั่งปิดทุกกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วบริหารสถานการณ์ โดยผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเป็น ผอ.เอง และกรรมการประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการสำคัญ และปลัดกระทรวงต่างๆ

โดยมองข้ามรัฐมนตรีจากพรรคร่วมต่างๆ รวมศูนย์สั่งการข้าราชการประจำ มีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่ 22.00-04.00 น. เพื่อยกระดับการควบคุมสถานการณ์ ก่อนแจ้งเพื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบภายหลัง

วันเวลาผ่านไป ความวิตกกังวลเรื่องการแพร่เชื้อโรค กลับถูกแทนที่ด้วยภาพของคนตกงานอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

แม้รัฐบาลจะมีโครงการเราไม่ทิ้งกันเพื่อเยียวยาเป็นเงิน 5,000 บาท นาน 3 เดือน ให้แก่ประชาชนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

แต่ก็มีจำนวนไม่เพียงพอต่อคนที่ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิกว่า 27 ล้านคน

ภาพความไม่พร้อมในการบริหารจัดการโครงการที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบหลักได้ทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาลนี้อย่างหนักหน่วง เพราะไม่ได้มีแค่ฐานข้อมูลประชากรของรัฐเท่านั้นที่เป็นปัญหาสำคัญในการคัดกรองคุณสมบัติของประชาชน

แต่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีส่วนอย่างมหันต์ทำให้โครงการอันมีเจตนาที่ดีในการช่วยเหลือประชาชนกลายเป็นผลลบอยู่หลายครั้งหลายคราว

ชาวบ้านไม่เชื่อมั่น หันมาพึ่งตัวเอง เมื่องานไม่มี ภาพการออกมาเข้าแถวต่อคิวเพื่อรอรับเงิน สิ่งของบริจาค ปรากฏขึ้นในทุกพื้นที่

จนเกิดเป็นกระแสมุมกลับตั้งคำถามถึงคำสั่งการรวมศูนย์การใช้อำนาจในช่วงวิกฤต สวนทางกับสถานะของรัฐบาลที่ประกอบสร้างผสมกันด้วยพรรคการเมืองมากถึง 18 พรรค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำถามของเหล่าผู้แทนฯ ที่จำเป็นต้องทำหน้าที่ของตัวเอง หลังได้รับเสียงบ่น ล้วนเป็นความหงุดหงิดเคลือบแคลงของชาวบ้านที่มีต่อมาตรการต่างๆ ของรัฐ

จึงไม่แปลกเลยที่ไม่ใช่เพียงแค่ ส.ส.ซีกฝ่ายค้านเท่านั้นที่ตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง

แต่คราวนี้กลายเป็นนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.จากค่ายประชาธิปัตย์คนเดิม ที่เพิ่มเติมมีเพื่อน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถึง 3 พรรคมาร่วมด้วย

นำโดย นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ นายธนยศ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย นายอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี พรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา เป็นต้น

มาในนามกลุ่ม 15 ส.ส.ซีกรัฐบาลเข้ายื่นถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เร่งชี้แจงรายละเอียดแผนการกู้เงินและการใช้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ รวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูประเทศและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด

จี้ขอทราบรายละเอียด ทั้งๆ ที่เป็น ส.ส.ซีกรัฐบาลเองก็ยังไม่รู้

“ยืนยันว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้คัดค้านกับการกู้เงินดังกล่าว แต่รัฐบาลควรชี้แจงหลักเกณฑ์การเยียวยาประชาชนให้ชัดเจน ควรนำการเยียวยาเงิน 5,000 บาทที่ยังเป็นปัญหา นำมาเป็นบทเรียน” นายภราดรให้เหตุผล

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจเลือกใช้ พ.ร.ก.ระดมเงินกว่า 1.9 ล้านล้าน โดยแบ่งไว้ใช้ใน 3 ส่วน สำหรับเพื่อเยียวยา และดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้สำหรับดูแลภาคธุรกิจ พิจารณาทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 5 แสนล้าน และอีก 4 แสนล้านสำหรับเข้าซื้อตราสารหนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินนั้น จะเป็นอำนาจของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ และมีเสียงตอบรับสนับสนุน

แต่อีกด้านหนึ่งที่ไม่คำนึงถึงไม่ได้เลย นั่นคือ เสียงเรียกร้องถึงรายละเอียดวิธีการใช้ และการนำไปกระจายให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ โดยเสมอหน้าตามลำดับความสำคัญของสถานการณ์ อย่างที่ 15 ส.ส.ซีกรัฐบาลต้องการนั้น ยังเป็นสิ่งสำคัญ

เพราะต้องไม่ลืมว่า การออกมาตรการทางเศรษฐกิจที่ถือว่ามีขนาดสูงถึง 10-14% ของจีดีพีของประเทศ ถือว่ามีจำนวนมากมหาศาลเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ

หากทำในสถานการณ์ปกติ จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้งบประมาณสูงขนาดนี้ ตามอำนาจของ ครม. โดยที่รัฐสภามีหน้าที่แค่ยกมืออนุมัติให้ตามที่รัฐบาลเสนอ

นี่ยังไม่นับรวมร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่หน่วยงานราชการตัดออกมาไว้สำหรับสถานการณ์นี้ ที่มีกรอบวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ที่เตรียมเข้าสู่สภา 3 วาระรวดในวันเดียวด้วย

ดังนั้น แม้การออก 3 พ.ร.ก.กู้เงินจะมีสภาพรวมศูนย์ ไร้บทบาทของพรรคร่วมรัฐบาล แต้หากมองด้วยมุมที่เปิดกว้าง ไม่ดัดจริตคิดแต่เรื่องการเมือง การกระตือรือร้นออกมาของ 15 ส.ส.ซีกรัฐบาลจาก 3 พรรคนั้น ถือว่าสร้างสรรค์ตามบทบาทของตนเองในสถานการณ์วิกฤต แบ่งบทบาทหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารให้ชัด ไม่ใช่เพียงการแย่งซีนรัฐบาล อย่างที่พรรคแกนนำรัฐบาลตั้งข้อสังเกต

ดังนั้น จึงน่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสถานการณ์วิกฤตเสียมากกว่าการทำตัวเป็นองครักษ์คอยปกป้องในสภา

เหมือนกับ 250 ส.ว.ลากตั้งที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก

เพราะมีประวัติเป็นฝักถั่ว ยกมือตามความต้องการของผู้นำรัฐบาลอย่างที่ผ่านมา